อดีตอาจารย์เล็งฟ้องแพ่ง-อาญา หลังศาลสูงสุดสั่ง มร.ชม.จ่าย งด. 1.7 เท่าตามมติ ครม.

อดีตอาจารย์เล็งฟ้องแพ่ง-อาญา หลังศาลสูงสุดสั่ง มร.ชม.จ่าย งด. 1.7เท่า มหา’ลัยอ่วมพนักงานเตรียมร้องสอดอีก

พนักงานมหาวิทยาลัย – จ.ส.ต.จอห์นนพดล วศินสุนทร อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ (มร.ชม.) เปิดเผยว่า ตามที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ มร.ชม.จ่ายเงินเดือนให้ตนในอัตรา 1.7 เท่าของเงินเดือน ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2542 นั้น คำสั่งศาลปกครองสูงสุดถือเป็นบรรทัดฐาน ที่มหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องจ่ายค่าตอบแทนให้เป็นไปตามมติ ครม.ปี 2542 เพราะเป็นเงินที่สำนักงบประมาณได้จ่ายให้มหาวิทยาลัยมาโดยตลอด เพียงแต่บางแห่งนำเงินไปใช้ผิดประเภท อาทิ นำเงินไปจ่ายค่าตำแหน่งทางวิชาการ ทั้งที่เป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่สามารถทำได้ ทั้งนี้ กรณีมหาวิทยาลัยหักเงินส่วนหนึ่งไปจัดสวัสดิการให้พนักงานมหาวิทยาลัย ศาลอธิบายว่าสามารถทำได้ แต่ต้องเป็นสวัสดิการในลักษณะเกื้อกูลเหมาะสม หรือเท่าเทียมกับสวัสดิการของข้าราชการ และเมื่อรวมแล้วพนักงามหาวิทยาลัยจะต้องได้รับสิทธิประโยชน์ได้กับ 1.7 เท่าของเงินเดือนตามมติ ครม.

“ที่ผ่านมา พบว่ามหาวิทยาลัยหลายแห่งหักเงินไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง เช่น นำไปจ่ายค่าตำแหน่งวิชาการ หรือนำไปจ่ายค่าประกันสังคม ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะเป็นส่วนที่นายจ้างต้องจ่ายให้ เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเช่นนี้แล้ว ขั้นต่อไปผมจะฟ้องแพ่ง และฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เพราะจากคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ชัดเจนแล้วว่ามหาวิทยาลัยไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.ถือเป็นความผิดทางอาญา คาดว่าจะมีพนักงานส่วนหนึ่งใน มร.ชม.ร้องสอดตามมา เพราะเป็นกรณีเดียวกัน ส่วนพนักงานมหาวิทยาลัยอื่นๆ นั้น ได้มีผู้โทรมาสอบถามแนวทางการดำเนินการ ซึ่งกรณีนี้ขึ้นอยู่กับการดำเนินการของแต่ละแห่ง เพราะบางแห่งอาจจัดสวัสดิการที่เหมาะสม และเทียบเท่าตามมติ ครม.แล้ว ก็ไม่มีปัญหา ส่วนมหาวิทยาลัยใดที่ยังจัดสวัสดิการไม่เทียบเท่า และยังหักเงินเดือนอยู่ ก็อาจต้องปรับให้เป็นไปตามมติ ครม.” จ.ส.ต.จอห์นนพดล กล่าว

จ.ส.ต.จอห์นนพดลกล่าวต่อว่า ส่วนที่มีข้อเสนอให้ออกเป็นมติ ครม.อีกครั้ง เพื่อให้เกิดความชัดเจน กรณีมหาวิทยาลัยนำเงินไปจัดสวัสดิการให้พนักงานมหาวิทยาลัยนั้น สามารถนำไปจัดสวัสดิการประเภทใดได้บ้าง เพื่อเป็นกรอบที่ชัดเจน และให้มหาวิทยาลัยปฏิบัติตามนั้น ส่วนตัวมองว่าทำได้ อาจเป็นเรื่องดี เพราะจะได้หยิบยกเรื่องของมหาวิทยาลัยมาพูดคุยในที่ประชุม ครม.อีกครั้ง ทั้งนี้ ส่วนตัวมีข้อกังวล ถ้ามติออกมาดี ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าออกมาแล้ว ให้สิทธิไม่เท่ากับมติ ครม.เดิม จะไปล้มล้างสิทธิที่มีตามมติ ครม.เมื่อปี 2542 ไม่ได้ เพราะถือว่ามติดังกล่าวยังมีผลบังคับใช้อยู่ ไม่เช่นนั้นจะเกิดการฟ้องร้องต่อไปได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image