ย้อนดู “ประวัติศาสตร์แห่งชาติ” ในมุม “นิธิ เอียวศรีวงศ์” ชี้ ไม่เชื่อมโยงกลุ่มชาติพันธุ์ กีดกันความทรงจำร่วม

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์

สืบเนื่องโอกาสครบรอบ 40 ปี อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และข้อเขียนของนายเอนก สีหามาตย์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากรซึ่งเปิดเผยหลักฐานว่าเมืองศรีสัชนาลัย เก่ากว่าสุโขทัย (อ่านข่าว อดีตอธิบดีกรมศิลป์ชี้ “ศรีสัชนาลัย” เก่ากว่า “สุโขทัย” แจงหลักฐานโบราณคดีอื้อ) ต่อมา ศาสตราจารย์พิเศษศรีศักร วัลลิโภดม นักประวัติศาสตร์ ได้ชี้แจงว่า รธานีเพิ่งเกิดขึ้นสมัยอยุธยา ยุคพระบาทสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ไม่ใช้สมัยสุโขทัย ซึ่งปรากฏวาทกรรม สุโขทัย ราชธานีแห่งแรกของไทย ซึ่งไม่เป็นความจริงนั้น (อ่านข่าว “ศรีศักร” ชี้ “ราชธานีไทย” เพิ่งมีสมัย “อยุธยา” ยุคบรมไตรโลกนาถ แจง ก่อนหน้านั้นยังไม่มีการ “รวมศูนย์”)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการชื่อดัง ได้เคยกล่าวถึงประเด็น “ประวัติศาสตร์แห่งชาติ” ของไทย ไว้ในเอกสารที่ตีพิมพ์โดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ตั้งแต่ พ.ศ.2549 ความตอนหนึ่งว่า

ประวัติศาสตร์แห่งชาติสำนวนที่ไทยมีอยู่ในปัจจุบัน มีลักษณะกีดกันคนกลุ่มต่างๆออกไปจากความทรงจำร่วมกันของคนในชาติ ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่มีที่ยืนในประวัติศาสตร์ ซ้ำยังอาจทำลายหรือเหยียดอัตลักษณ์ของคนบางกลุ่มให้ด้อยเกียรติภูมิด้วย กล่าวคือ ประวัติศาสตร์แห่งชาติเป็นประวัติศาสตร์ของราชอาณาจักรภาคกลาง ที่มีศูนย์อำนาจอยู่ในภาคกลาง ไม่เชื่อมโยงกับคนในภาคเหนือ , อีสาน และภาคใต้ โดยเฉพาะรัฐมลายู รวมถึงคนบนที่สูงในหุบเขาทุ่งราบห่างไกล เช่น กระเหรี่ยง อีกทั้งคนต่างชาติพันธุ์จำนวนไม่น้อยที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งในไทย ทั้งโดยอพยพโยกย้ายและถูกกวาดต้อน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจตลาดหนังสือ พบว่ายังมีข้อมูลว่าสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย บางส่วนใช้ประโยคดังกล่าวเป็นชื่อหนังสือ มีจำหน่ายในร้านหนังสือชั้นนำ นอกจากนี้เวปไซต์จังหวัดสุโขทัยยังระบุข้อความดังกล่าวเช่นกัน โดยอ้างอิงจาก “ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดสุโขทัย” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2541

Advertisement

ทั้งนี้ ในวันอังคาร 16 –พุธที่ 17 ส.ค.นี้ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง จ.สุโขทัยจะมีเสวนาเรื่อง “4 ทศวรรษแห่งการอนุรักษ์ และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย” มีหัวข้ออาทิ “บทบาทของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยต่อการพัฒนาประเทศ”, “แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย” และ “การพัฒนาแผนแม่บทอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย” เป็นต้น ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image