ปวช. 10 สาขารับงบอุปกรณ์เพิ่ม สูงสุด 2 พัน/คน/ปี ใน 874 อาชีวะรัฐ-เอกชน

ปวช. 10 สาขารับงบอุปกรณ์เพิ่ม สูงสุด 2 พัน/คน/ปี ใน 874 อาชีวะรัฐ-เอกชน สอศ.เร่งจัดสรรเงินค่าจ้าง-อุดหนุนรายหัว

นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบปรับเพิ่มอัตราค่าอุปกรณ์การเรียนของนักเรียน ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปี 1 ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในสถานศึกษาของรัฐ 429 แห่ง และสถานศึกษาอาชีวะของเอกชน 445 แห่ง ครอบคลุมนักเรียนระดับ ปวช.ชั้นปี 1 กว่า 1 แสนคน ทั้งนี้ ตามมติ ครม.นั้น สอศ.จะต้องเริ่มจัดสรรงบประมาณให้สถานศึกษาทั้งรัฐ และเอกชน ในปีงบ 2565-2568 โดยในปี 2565 ให้ สอศ.ปรับจากแผนการปฏิบัติงาน และแผนการใช้จ่ายงบของหน่วยงาน แล้วทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณ

“ส่วนค่าใช้จ่ายในปีการศึกษาต่อๆ ไป ให้เสนอขอตั้งงบรายจ่ายประจำปีของส่วนราชการตามความจำเป็นนั้น สอศ.จะปรับงบจากโครงการต่างๆ ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 อาทิ งบเดินทางไปต่างประเทศ งบค่าอบรม สัมมนา และงบค่าจัดประชุมต่างๆ มาปรับเป็นงบค่าอุปกรณ์การเรียน แต่ขณะนี้สำนักงบประมาณยังไม่จัดสรรงบในส่วนดังกล่าวมาให้ ดังนั้น จึงยังไม่สามารถจัดสรรงบค่าอุปกรณ์การเรียนให้สถานศึกษาได้ หากสำนักงบประมาณจัดสรรงบดังกล่าวมาให้ สอศ.จะเร่งดำเนินการส่งเงินไปยังสถานศึกษาทันที” นายสุเทพกล่าว

นายสุเทพกล่าวต่อว่า ล่าสุด สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบในส่วนของค่าบุคลากร ค่าจ้าง มาให้ สอศ.แล้ว ดังนั้น จะเร่งเบิกจ่ายงบในส่วนนี้ให้บุคลากรก่อน เพราะเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในส่วนของงบค่าอุปกรณ์การเรียนของนักเรียน ปวช.ชั้นปี 1 นั้น หากได้รับการจัดสรรงบจากโครงการที่ไม่สามารถดำเนินการภายในเดือนพฤษภาคม จะเร่งส่งให้สถานศึกษาทันที เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์การเรียนให้กับนักเรียนต่อไป หากไม่ทันในเดือนพฤษภาคม คิดว่าไม่มีปัญหา เพราะสำนักงบประมาณจะมีกำหนดเวลาในการเบิกจ่ายงบในส่วนต่างๆ อยู่แล้ว

“สำหรับ สอศ.จะจัดสรรงบโดยเรียงลำดับความสำคัญก่อน คือ งบบุคลากร ค่าจ้าง งบอุดหนุนรายหัว จากนั้นจะจัดสรรงบค่าอุปกรณ์ โดยขณะนี้ได้จัดสรรงบค่าบุคลากร ค่าจ้างลงไปยังสถานศึกษาแล้ว หากสำนักงบประมาณจัดสรรงบจากโครงการต่างๆ ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ในช่วงการแพร่ระบาดมาให้ ก็จะเร่งจัดสรรงบให้สถานศึกษาเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ทันที ส่วนค่าอุปกรณ์การเรียนของนักเรียนในปี 2566 จะเสนอตั้งเป็นงบประจำต่อไป” นายสุเทพกล่าว

Advertisement

นายสุเทพกล่าวอีกว่า สำหรับ 10 ประเภทวิชา ที่ได้รับงบค่าอุปกรณ์การเรียนต่อคนต่อปี ดังนี้ 1.อุตสาหกรรม 2,000 บาท 2.พาณิชยกรรม 1,000 บาท 3.ศิลปกรรม 1,000 บาท 4.คหกรรม 1,200 บาท 5.เกษตรกรรม 1,600 บาท 6.ประมง 1,200 บาท 7.อุตสาหกรรมสิ่งทอ 1,200 บาท 8.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 1,800 บาท 9.อุตสาหกรรมท่องเที่ยว 1,200 บาท และ 10.อุตสาหกรรมบันเทิงและดนตรี 1,000 บาท ทั้งนี้ เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะฝีมือให้เต็มศักยภาพ ฝึกประสบการณ์อาชีพได้อย่างเต็มที่ต่อเนื่องตลอดหลักสูตร แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง และสร้างแรงจูงใจให้เรียนต่อสายอาชีวศึกษาเพิ่มมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image