‘ปลัดศธ.’ มึน! บอร์ดกพฐ.ไฟเขียวใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะปี’65 ห่วงความพร้อมครู หนังสือเรียน

นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)เมื่อเร็ว ๆ นี้เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะทำงานบรรณาธิการกิจ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. … ระดับประถมศึกษา และ (ร่าง) คู่มือการใช้กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. … ระดับประถมศึกษา ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือนโดยกำหนดชื่อหลักสูตรว่า “หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ….” หรือ“หลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะ” และได้เห็นชอบแผนการทดลองใช้ (ร่าง) หลักสูตรฯ ดังนี้ 1.ปีการศึกษา 2565 ทดลองใช้ในโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 2. ปีการศึกษา 2566 ทดลองใช้ในโรงเรียนทั่วไปที่พร้อมใช้ และ 3.ปีการศึกษา 2567 โรงเรียนทั่วประเทศใช้หลักสูตร ประถมศึกษาปีที่ 1 และ ประถมศึกษาปีที่ 4 นอกจากนี้ คณะกรรมการ กพฐ. ยังได้ขอปรับเวลาในการประกาศใช้หลักสูตรจากเดือนตุลาคม 2566 เป็นตุลาคม 2565 นี้นั้น ตนได้รับรายงานเบื้องต้นแล้ว แต่ยังไม่ทราบรายละเอียด ซึ่งจะต้องมีการสอบถามในการประชุมกพฐ. ครั้งหน้า เนื่องจากมติกพฐ.ก่อนหน้านี้ ให้นำร่องใช้หลักสูตรดังกล่าวในพื้นที่นวัตกรรมฯ ตามข้อสั่งการของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ให้นำร่องในพื้นที่นวัตกรรมไปก่อน ยังไม่ต้องขยายไปทั่วประเทศ เพราะยังเป็นเรื่องใหม่

“ตรงนี้ผมยังไม่ทราบรายละเอียด เพราะอยู่ ๆ กพฐ.ก็มีมติให้ประกาศใช้หลักสูตรดังกล่าวทั่วประเทศ ในปีการศึกษา 2565 ดังนั้น จึงต้องสอบถามให้ชัดเจน เพราะมติเดิมให้นำร่องใช้ในพื้นที่นวัตกรรม แต่หากโรงเรียนอื่นจะใช้ ให้ขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นรายโรงไป ตรงนี้ผมไม่แน่ใจว่า มติดังกล่าวจะใช้ช่องว่างตรงนี้ ในประกาศหรือไม่ ซึ่งการปรับหลักสูตรแต่ละครั้งควรจะต้องดู ทิศทางของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้วย ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ ของคณะกรรมการฯ มุ่งเน้นในเรื่องของการอบรมพัฒนาครูให้จัดการเรียนการในรูปแบบแอคทีฟเลินนิ่ง ” นายสุภัทรกล่าว

นายสุภัทร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้หากประกาศใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะทั่วประเทศในปีนี้ ส่วนตัวก็มีความกังวล ทั้งในเรื่องความพร้อมของครูผู้สอน เนื่องจากในการปรับหลักสูตรจะต้องมีการอบรมครู เพื่อเตรียมความพร้อม ซึ่งก็เกิดคำถามว่า ขณะนี้ได้มีการอบรมกันไปแล้วหรือยัง และทำไปแล้วเท่าไร ขณะเดียวกันยังมีเรื่องการเปลี่ยนหนังสือ ตำราเรียน รวมถึงวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอน ที่จะต้องสอดคล้องกับหลักสูตร ก็อาจจะมีปัญหา ตรงนี้เป็นปัญหาเท่าที่มองเห็น ยังไม่รวมการผลิตครูในสถาบันการศึกษาที่จะต้องปรับเปลี่ยน ตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม การปรับหลักสูตรแต่ละครั้ง ต้องเป็นไปตามขั้นตอน คือ มีการนำร่อง เพื่อดูข้อดี ข้อเสีย และนำมาปรับปรุงพัฒนาก่อนขยายผลใช้ไปทั่วประเทศ ขั้นตอนต้องใช้เวลา ไม่ใช่การปรับเปลี่ยนแบบทันที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image