อาชีวะเอกชน 72% ลั่นไม่อยู่ สอศ.แจงถูกปฏิบัติ 2 มาตรฐาน โดนลดศักดิ์ศรี ตั้ง ผอ.รัฐนั่งคุม

อาชีวะเอกชน 72% ลั่นไม่อยู่ สอศ.แจงถูกปฏิบัติ 2 มาตรฐาน โดนลดศักดิ์ศรี ตั้ง ผอ.รัฐนั่งคุม จัดทวิภาคีต้องขออนุญาต

ดร.อดิศร สินประสงค์ ที่ปรึกษาสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สวทอ.) เปิดเผยกรณีที่ประชุม สวทอ.มีมติ 72% ขอย้ายสถานศึกษาอาชีวะเอกชน กลับไปสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) หลังย้ายมาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 8/2559 นาน 6 ปี แต่ได้รับการดูแลที่ไม่เท่าเทียมกับสถาบันอาชีวะรัฐ โดยได้เตรียมเข้าชี้แจงเรื่องดังกล่าวกับนายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) พร้อมทำหนังสือถึง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พิจารณา ว่า ตั้งแต่สถานศึกษาอาชีวะเอกชนย้ายมาสังกัด สอศ. 6 ปี ยังไม่เห็นว่า สอศ.ดูแลตามหน้าที่อย่างแท้จริง และอาชีวะเอกชนไม่ได้รับการสนับสนุนให้จัดการศึกษาเท่าเทียมกับอาชีวะรัฐ เช่น เดิมอาชีวะเอกชนจัดการเรียนการสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในรูปแบบทวิภาคีตามหลักสูตรได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ช่วงหลังต้องรายงานในลักษณะที่เหมือนขออนุญาตจัดการศึกษารูปแบบทวิภาคี ขณะที่อาชีวะรัฐสามารถจัดการศึกษารูปแบบทวีภาคีโดยไม่ขออนุญาตใดๆ เป็นต้น

ดร.อดิศรกล่าวต่อว่า ประเด็นสำคัญที่ทำให้อาชีวะเอกชน ต้องการกลับไปอยู่ในสังกัด สช.เพราะการดูแลระดับภูมิภาคที่มีความหลากหลาย และไม่เท่าเทียมกัน เนื่องจากผู้อำนวยการอาชีวศึกษารัฐในจังหวัดต่างๆ ถูกแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการอาชีวศึกษาจังหวัด มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของสถาศึกษาอาชีวะรัฐ และเอกชน แต่บางจังหวัดการตรวจสอบไม่เหมือนกัน อาชีวะเอกชนได้รับการปฏิบัติแบบ 2 มาตรฐาน คือได้รับการตรวจสอบที่เข้มงวดมากกว่ารัฐ เช่น เวลาตรวจสอบเงินอุดหนุน จะมีระเบียบ และวิธีการปฏิบัติที่แตกต่างกัน แต่อาชีวะรัฐไม่มีระเบียบ หรือแนวปฏิบัติเหมือนที่อาชีวะเอกชนต้องปฏิบัติ

“เหล่านี้ทำให้อาชีวะเอกชนเกิดคำถามว่าศักดิ์ศรีของอาชีวะเอกชนอยู่ตรงไหน ในเมื่อมีเอกสาร และรายละเอียดเหมือนกัน แต่เมื่อถึงเวลาตรวจสอบเงินอุดหนุนรายหัว ประธานอาชีวศึกษาจังหวัดกลับขนครูและบุคคลากรมาตรวจสอบอาชีวะเอกชนจำนวนมาก เมื่อเจอการปฏิบัติเช่นนี้ เป็นประเด็นที่ทำให้คิด ว่าแทนที่อาชีวะเอกชนมาอยู่ในสังกัด สอศ.แล้วจะได้รับการดูแลที่มีมาตรฐาน ได้รับการพัฒนาด้านวิชาการ และครูที่เท่าเทียมกัน แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ได้รับการดูแล และยังต้องถูกลดศักดิ์ศรีของตนไปด้วย มองว่าการกลับไปอยู่ สช.เหมือนเดิม อย่างน้อยอาชีวะเอกชนไม่ได้อยู่กับคู่แข่ง เราไม่ได้ให้คู่แข่งมาดูแลเรา เมื่อกลับมาอยู่ใน สช.จะไม่มีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และจะได้รับการดูแลที่เป็นกลางมากกว่า” ดร.อดิศร กล่าว

ด้าน ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) กล่าวว่า เห็นด้วยที่อาชีวะเอกชนจะกลับไปอยู่ในสังกัด สช.ที่ผ่านมาเมื่ออาชีวะเอกชนอยู่ในสังกัด สอศ.ก็หวังว่าจะร่วมกันพัฒนาเด็ก จึงพยายามปรับตัวเข้าหารัฐ แต่อาชีวะรัฐกลับมองอาชีวะเอกชนเป็นคู่แข่ง ครู และผู้เรียนไม่ได้รับการดูแลเท่าเทียมกัน ที่สำคัญ สอศ.ไม่มีหน่วยงานกลางเข้ามาดูแลอาชีวะรัฐ และอาชีวะเอกชน ประธานอาชีวศึกษาจังหวัดก็เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษารัฐ ทำให้การทำงาน การตรวจสอบเรื่องต่างๆ ไม่เป็นกลาง สองมาตรฐาน จึงทำให้อาชีวะเอกชนน้อยเนื้อต่ำใจ และอยากกลับมาอยู่ในสังกัด สช.เหมือนเดิม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image