วันแรกเปิดเรียนออนไซต์ “สธ.”ยันไม่ต้องตรวจ ATK ก่อนเข้าเรียน

วันแรกเปิดเรียนออนไซต์ “สธ.” ยันไม่ต้องตรวจ ATK ก่อนเข้าเรียน

วันที่ 17 พฤษภาคม ทั่วประเทศเปิดเรียนออนไซต์วันแรก หลังจากโรงเรียนหลายแห่งต้องปรับไปเรียนออนไลน์มานานกว่า 2 ปี จากการระบาดของโควิด-19

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า แม้สถานการณ์โควิด-19 มีทิศทางลดลง แต่ยังมีความเสี่ยงเกิดการติดเชื้อจำนวนมากได้ โดยเฉพาะช่วงก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2565 วันที่ 17 พฤษภาคม แต่ด้วยช่วงก่อนเปิดเทอมมีวันหยุดติดต่อกัน 4 วัน ทำให้มีการเดินทางท่องเที่ยว รวมถึงมีกิจกรรมการรวมตัวทั้งผู้ปกครองและนักเรียน หากไม่มีการป้องกันตนเองอย่างเต็มที่ตามมาตรการ อาจทำให้มีการติดเชื้อและแพร่เชื้อระหว่างกันได้โดยไม่รู้ตัว เนื่องจากสายพันธุ์โอมิครอนส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อมักไม่มีอาการ และเมื่อเปิดภาคเรียนแบบออนไซต์อาจเกิดการแพร่เชื้อภายในโรงเรียนจำนวนมากได้

“ดังนั้น ก่อนกลับเข้าสู่ระบบการเรียนการสอนตามปกติ ขอให้ผู้ปกครอง นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ประเมินความเสี่ยงของตนเองก่อน กรณีมีความเสี่ยงหรือมีอาการป่วยให้ตรวจ ATK ทันที หากผลตรวจเป็นบวกหรือติดเชื้อจะได้เข้ารับการรักษาต่อไป แต่ขอย้ำว่า ไม่มีมาตรการบังคับตรวจ ATK ก่อนเข้าเรียน ไม่ได้กำหนดให้ต้องตรวจเป็นประจำทุก 3-5 วัน หรือทุกสัปดาห์ แต่ขอให้ตรวจเมื่อมีความเสี่ยงหรือเมื่อมีอาการ” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า มาตรการป้องกันการติดเชื้อให้ยึดตามมาตรการ 6-6-7 คือ 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม และ 7 มาตรการเข้มของกรมอนามัย เบื้องต้นแนะนำให้ป้องกันตนเองตลอดเวลา โดยสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ ตรวจคัดกรอง ลดความแออัด และทำความสะอาด รวมถึงเข้ารับวัคซีนให้ครบ กลุ่มเด็กมัธยมศึกษา อายุ 12-17 ปี ควรรับเข็มกระตุ้น กลุ่มเด็กประถมศึกษา อายุ 5-11 ปี ควรรับวัคซีนเข็มปกติให้ครบ จะช่วยลดความเสี่ยงอาการรุนแรงและการเสียชีวิต หากพบผู้ติดเชื้อในโรงเรียนให้ปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ ไม่จำเป็นต้องปิดทั้งโรงเรียนเหมือนที่ผ่านมา

Advertisement

นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานศึกษาทั่วประเทศจะเปิดเทอมออนไซต์ ภาคเรียนที่ 1/2565 วันที่ 17 พฤษภาคม กรมอนามัยขอเน้นย้ำสถานศึกษาปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ กรณีพบผู้ติดเชื้อหรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ไม่ปิดชั้นเรียนหรือโรงเรียน มาตรการสำหรับโรงเรียนไป-กลับ กรณีพบผู้ติดเชื้อให้ปฏิบัติดังนี้ 1.แยกกักกันที่บ้าน (Home Isolation) หรือปฏิบัติตามคำแนะนำของสถานบริการสาธารณสุข 2.พิจารณาจัดทำแยกกักที่โรงเรียน (School Isolation) โดยคณะกรรมการสถานศึกษา หน่วยงานสาธารณสุข และคณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัด

นพ.สราวุฒิกล่าวว่า 3.จัดรูปแบบการเรียนการสอนอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะกลุ่มไม่มีอาการ และ 4.ทำความสะอาดห้องเรียน ชั้นเรียน สถานศึกษา และเปิดเรียนตามปกติ เน้นย้ำสถานศึกษาจัดการเรียนการสอนอย่างเหมาะสม ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และผู้ติดเชื้อเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร

นพ.สราวุฒิกล่าวว่า สำหรับโรงเรียนประจำ เน้นมาตรการ Sandbox Safety Zone in School (SSS) กรณีผู้ติดเชื้อ 1.พิจารณาร่วมกับหน่วยบริการสาธารณสุข ทำ School Isolation และพิจารณาร่วมกับหน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ หรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กรณีไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย จัดการเรียนการสอนได้ตามความเหมาะสม เว้นระยะห่าง ไม่น้อยกว่า 2 เมตร งดกิจกรรมรวมกลุ่ม เน้นการระบายอากาศ ปฏิบัติตาม UP-DMHTA อย่างเคร่งครัด 2.ติดต่อหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ตามระบบงานอนามัยโรงเรียน และ 3.ทำความสะอาดห้องเรียน ชั้นเรียน สถานศึกษาตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข และเรียนได้ตามปกติ

Advertisement

นพ.สราวุฒิกล่าวว่า กรณีผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ เปิดเรียนในพื้นที่สถานศึกษาออนไซต์ตามปกติ ปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention ประเมิน Thai Save Thai (TSC) และเว้นระยะห่างของนักเรียนในห้องเรียนอย่างน้อย 1 เมตร กรณีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงไม่ได้รับวัคซีนโควิด ตามแนวทางปัจจุบัน ทั้งมีอาการ และไม่มีอาการ แนะนำให้กักตัว 5 วัน และติดตามเฝ้าระวังอีก 5 วัน ส่วนที่ได้รับวัคซีนโควิด ครบตามคำแนะนำปัจจุบัน ไม่มีอาการ ไม่แนะนำให้กักกัน พิจารณาให้ไปเรียนได้ ถ้ามีอาการให้ตรวจ ATK ทันที ถ้าไม่มีอาการ ให้ตรวจคัดกรองครั้งแรกในวันที่ 5 และตรวจครั้งสุดท้ายในวันที่ 10 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image