หนุนให้อำนาจ ร.ร.ออกระเบียบทรงผม แต่ห่วงผู้บริหารส่วนใหญ่ยึดติดอำนาจนิยม เข้าใจสิทธิเด็กต่ำ

นายก ส.บ.ม.ท.หนุนให้อำนาจ ร.ร.แต่ต้องประกาศเกณฑ์ชัดเจน ให้เด็กใช้ตัดสินใจเข้าเรียน ด้านนักวิชาการห่วง ร.ร.ส่วนใหญ่ยึดติดอำนาจนิยม เข้าใจสิทธิเด็กต่ำ แนะต้องเฝ้าระวังเรื่องการลงโทษเด็กในเรื่องทรงผม ขณะเดียวกัน แนะเด็กต้องฟังความเห็นของผู้ใหญ่ด้วย เพราะ ร.ร.เป็นสังคมที่ต้องมีระเบียบ เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

เมื่อวันที่ 25 มกราคม ดร.วิสิทธิ์ ใจเถิง นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่า กรณี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงนามประกาศยกเลิกระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 และขณะนี้ ศธ.ได้ยกร่างแนวนโยบายเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนของสถานศึกษาไว้ เพื่อให้สถานศึกษากำหนดลักษณะทรงผม ความสั้น ยาว การดัด ย้อม ไว้หนวด ไว้เครา ได้ตามพันธกิจ บริบท และความเหมาะสมของแต่ละสถานศึกษานั้น การยกเลิกระเบียบทรงผม และมอบอำนาจให้สถานศึกษา ผู้ปกครอง และนักเรียน เข้ามามีส่วนตัดสินใจเรื่องนี้ ถือเป็นเรื่องดี เป็นการกระจายอำนาจไปยังสถานศึกษา เพื่อทำข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งในส่วนของโรงเรียน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เมื่อได้ข้อตกลงร่วมกันแล้ว ควรประกาศให้สาธารณชนรับทราบ เพื่อให้นักเรียนได้ตัดสินใจตั้งแต่เริ่มสมัครเรียน ว่าหากเลือกมาเรียนที่โรงเรียนนี้ จะต้องยอมรับกติกาส่วนรวม

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับแนวนโยบายการไว้ทรงผมของนักเรียน ที่ให้อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่สถานศึกษา นักเรียน และผู้ปกครอง ได้ตัดสินใจร่วมกัน ถือเป็นการพัฒนาไปอีกขั้น แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ โรงเรียนส่วนใหญ่ยังยึดติดกับระบบอำนาจนิยม และมีความเข้าใจเรื่องสิทธิเด็กค่อนข้างต่ำ ดังนั้น จึงต้องเฝ้าระวังเรื่องการลงโทษเด็กในเรื่องทรงผม ทั้งการกล้อนผม และการลงโทษอื่นๆ เพราะปัจจุบันโรงเรียนยังไม่ได้เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย 100% ทั้งนี้ การกำหนดทรงผม จะต้องผ่านการประชุม รับฟังความคิดเห็นจากครู ผู้ปกครอง และนักเรียน ก่อนตัดสินใจร่วมกัน แต่จะทำอย่างไรให้การประชุมดังกล่าว เป็นการรับฟังความคิดเห็นของเด็กอย่างแท้จริง ตรงนี้ต้องไปวางแนวทางเพื่อให้เด็กมีสิทธิตัดสินใจ และแสดงความคิดเห็นอย่างแท้จริง

“กรณีที่กลุ่มนักเรียนกังวลว่า โรงเรียนจะออกกฎเพื่อละเมิดสิทธิเด็กนั้น ส่วนตัวเห็นว่าเมื่อเด็กได้รับสิทธิ และมีโอกาสได้มีส่วนร่วมแล้ว ก็ควรรับฟังความคิดเห็นของผู้ใหญ่ด้วย เพราะโรงเรียนถือเป็นสังคมหนึ่ง ที่ต้องมีระเบียบ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image