ผอ.สาธิต มธ.มอง ‘หยก’ อารยะขัดขืนกติกาไม่เป็นธรรม สู้เพื่อ น.ร.ทุกคน ไม่ใช่หวังย้ายโรงเรียน

ผอ.สาธิตธรรมศาสตร์ มอง ‘หยก’ อารยะขัดขืนกติกาไม่เป็นธรรม ขอให้เห็นความผิดปกติใน ‘กฎระเบียบ’ ไม่ใช่อยากย้ายโรงเรียน หวังสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงให้ ‘นักเรียนทุกคน’ งงคนกดดันให้รับมาเรียน ไหนบอกตัวเองเคารพกฎกติกาโรงเรียน?

จากกรณีที่ น.ส.ธนลภย์ หรือ หยก เยาวชนนักเคลื่อนไหวทางการเมือง อายุ 15 ปี แต่งกายด้วยชุดไปรเวต ยืนยันจะเข้าเรียน ซึ่งหยกเดินเข้าประตูโรงเรียนโดยไม่ถูกขัดขวาง ทว่ามีตำรวจหญิงสังกัดอารักขาควบคุมฝูงชน หรือกองร้อยน้ำหวาน จำนวนมากเข้าไปในพื้นที่โรงเรียนด้วย

อย่างไรก็ดี ยังมีคนจำนวนหนึ่งเข้าใจการสื่อสารและตีความการแสดงออกของ “หยก” ผิดประเด็น โดยผลักไสให้ไปเรียน กศน.ที่ไม่ติดขัดเรื่องเครื่องแบบ รวมถึงชื่อของ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ถูกพาดพิง ด้วยเข้าใจว่า “ไม่มีเครื่องแบบ” ให้เสรีภาพแก่นักเรียน กระทั่งผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนสาธิต มธ.ออกมายืนยันว่า โรงเรียนนี้มีเครื่องแบบ

ล่าสุด อธิษฐาน์ คงทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุทางเฟซบุ๊กถึงการแสดงออกของ “หยก” เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา ความว่า เราคิดว่าประเด็นของ น้องหยก เขาไม่ได้อยากย้ายโรงเรียนนะ การย้ายโรงเรียนไม่ว่าจะไปที่ไหนๆ ไม่ได้จบปัญหานี้ เพราะกฎเดิมในระบบกระแสหลักไม่เปลี่ยนแปลง (จะยังคงมีนักเรียนอีกหลายคนที่ถูกทำโทษเรื่องการแต่งกาย ถูกทำให้อับอายหรือกดดัน) และประเด็นจริงๆ มันไม่ใช่เรื่องการแต่งกาย หรือทรงผมด้วย (อย่าหลงประเด็นกันนะพวกเรา)

Advertisement

มันคือเรื่องของ การต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อเรียกร้องกติกาที่เป็นธรรมกับนักเรียนทุกคน (ถ้าเขาแค่อยากแต่งไปรเวตไปเรียนเพื่อตัวเองมันมีทางเลือกอื่นๆ ให้เขาทำได้โดยไม่ต้องเปลืองตัว ไม่ต้องถูกสังคมรุมประณามตัดสินได้อีกมากมาย)

เราคิดว่าน้องเขากำลังใช้การฝ่าฝืนกฎการแต่งกายเป็นเครื่องมือการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ในทางสันติวิธีเรียกว่า “อารยะขัดขืน” คือต่อสู้แบบดื้อเพ่งเพื่อต่อต้านกฎหมาย หรือกติกาที่ไม่เป็นธรรม เพื่อให้สังคมและผู้มีอำนาจหันมาฟัง หันมารับรู้และถกเถียงกันถึงความผิดปกติที่ซ่อนอยู่ภายใต้กติกากฎระเบียบที่คนส่วนใหญ่คิดว่ามันปกติ และเกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อร่วมกันสร้างกติกาใหม่ที่เป็นธรรมยิ่งกว่าเดิม (มีคนบอกว่าหนึ่งในเหตุการณ์ที่ทำให้หยกตัดสินใจออกมาเรียกร้อง คือข่าวที่น้องนักเรียนคนหนึ่งฆ่าตัวตายเพราะถูกบังคับให้ตัดผม)

แทนที่จะชี้นิ้วโทษเด็กอายุ 15 แล้วไล่เขาไปโรงเรียนอื่น หรือมาสั่ง มากดดันให้โรงเรียนอื่นรับน้องเข้ามา (เรายังงงๆ ว่าคนพวกนี้เขามีอำนาจอะไรที่มาสั่งให้โรงเรียนอื่นรับ หรือไม่รับใคร ไหนบอกตัวเองเคารพกฎกติกาโรงเรียน??)

Advertisement

ทำไมเราไม่เอะใจกับปัญหา แล้วหันมามองว่ามันมีความเป็นไปได้อื่นๆ อะไรได้อีกบ้างที่จะช่วยให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาที่ดี มีส่วนร่วมในการทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนได้จริงๆ

ท่าทีของน้องอาจจะดูแข็งกร้าวจี๊ดดใจ ทำให้ผู้ใหญ่หลายคนปั่นป่วน เขย่าโลกแห่งความดีงามและความเชื่อว่าเด็กต้องเคารพและเชื่อฟังผู้ใหญ่ หลายคนมีความกลัวที่จินตนาการไปไกลว่าต่อไปเด็กๆ ทุกคนจะลุกขึ้นมาเรียกร้องทำตามใจตนเองไม่เคารพสิทธิคนอื่นไม่เคารพกติกาสังคม ฯลฯ มีความกลัว+ความโกรธอีกมายมายที่ถูกกระตุ้นขึ้นมาจากเหตุการณ์นี้ และหลายสิ่งที่เรากลัวก็เป็นสิ่งที่เราคิดอนุมานเอาเองโดยไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ดราม่าจึงบังเกิด

เราเคยคุยกับครูที่ตั้งใจทำงานในระบบโรงเรียนรัฐหลายคน ครูหลายคนก็อึดอัดใจและมีความอิหยังวะกับระเบียบราชการ หรือธรรมเนียมปฏิบัติหลายอย่างที่ไม่ make sense และไม่เป็นธรรมกับครู (คือมันอาจจะดีในยุค 30-50 ปีก่อน แต่ตอนนี้มันอาจจะไม่ใช่แล้ว) แต่เขาก็ไม่กล้าพูด เพราะมันมีความเสี่ยงต่อหน้าที่การงานความมั่นคงหลายอย่างของชีวิต

แต่สำหรับเด็กวัยรุ่นอย่างหยกเขากล้าที่จะแลกและไม่กลัวที่จะเสี่ยง (จำได้ว่าเราในวัยเท่าเขายังไม่กล้าขนาดนี้ ออกแนวเด็กดีเชื่องและเชื่อฟัง สมาทานกับสิ่งที่ผู้ใหญ่บอกว่าดีจงทำตาม คือวันๆ ในวัยนั้นคิดแต่จะไปถึงโรงเรียนทันไหม ส่งการบ้านทันไหม จะสอบผ่านไหม เพื่อนจะคิดยังไง ครูจะด่าไหม จะได้เกรดดีไหม ไม่เคยรู้เรื่องโครงสร้างสังคมเรื่องความเป็นธรรมอะไรเลย เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่เคยถูกพูดถึง หรือถูกตั้งคำถามในโรงเรียน)

ปล.นี่เพิ่งเรียนเรื่องทักษะวัฒนธรรมมา เขาชี้ให้เห็นอคติ/ความเชื่อของผู้คนว่ามันทำงานอัตโนมัติอย่างไร หลายครั้งคนคิดว่าสิ่งที่ตนคิดและอนุมานเอาคือ ความจริง+อคติที่มีอยู่เดิม (ทั้งด้านบวกด้านลบ) ทำให้ยิ่งปักใจเชื่อสุดๆ และตัวเราเองในฐานะคนทำงานต้องตระหนักรู้ตัว เราเองก็มีอคติไม่ต่างจากคนอื่นแต่ขอให้ทันตัวเอง อย่าปักใจเชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองคิดถูกต้องที่สุด ก็ถือว่าได้ฝึกจิตฝึกใจ ฝึกวิชากับดราม่าของสังคมของจริงอ่ะเนอะ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image