สอศ.เร่งยกเครื่อง ‘หลักสูตร-ครู’ รับ 10 อุตสาหกรรมตอบโจทย์ ปท.-พื้นที่อีอีซี ชงรัฐบาลใหม่พัฒนาแม่พิมพ์

สอศ.เร่งยกเครื่อง ‘หลักสูตร-ครู’ รับ 10 อุตสาหกรรมตอบโจทย์ ปท.-พื้นที่อีอีซี ชงรัฐบาลใหม่พัฒนาแม่พิมพ์รับโลกอนาคต

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการปรับปรุงหลักสูตร โดยเฉพาะในสาขาที่มีความทันสมัย ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ตาม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ซึ่งจะต้องขยายตัวไปในพื้นที่อื่นๆ ในอนาคต ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ทันสมัย อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมยานยนต์และโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

ว่าที่ ร.ต.ธนุกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เมื่อมีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมไปในพื้นที่อื่นๆ สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ คือการเตรียมคนให้พร้อมรองรับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาประเทศ ซึ่ง สอศ.ได้เตรียมพร้อมผลิตกำลังคนในหลายสาขา ทั้งระบบไฟฟ้า ระบบราง หุ่นยนต์เอไอ ยานยนต์สมัยใหม่ ดิจิทัล เป็นต้น ที่จะเข้ามามีความสำคัญในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น ขณะเดียวกันจะเน้นผลิตกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านอุตสาหกรรมอาหาร การท่องเที่ยว เป็นซอฟเพาเวอร์ ดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนช่วยในการพัฒนาการเรียนการสอนด้านการเกษตร ให้มีความมันสมัยมากขึ้น ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องที่ สอศ.กำลังเร่งออกแบบหลักสูตร เพื่อให้ผลิตกำลังคนได้ตรงกับความต้องการของประเทศ

“การรับนักเรียน นักศึกษาอาชีวะ ปีการศึกษา 2566 ที่ผ่านมา กลุ่มอุตสาหกรรมตามเป้าหมายพัฒนาประเทศ มีนักเรียนสมัครเข้าเรียนเพิ่มขึ้น โดย สอศ.พยายามสื่อสารให้เห็นถึงทิศทางการพัฒนาประเทศ ว่าในอีก 5 ปี หรือ 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยต้องการแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านใด ส่งผลให้มีผู้เรียนเพิ่มขึ้น ในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ ทั้งนี้ นอกจากปรับหลักสูตรให้มีความทันสมัย ตรงตามเป้าหมายการพัมนาประเทศแล้ว การพัฒนาครูก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ เพราะเมื่อจะเปิดสอนสาขาใหม่ ก็ต้องพัฒนาครูให้มีความทันสมัยตามไปด้วย เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนเป็นไปตามเป้าหมาย ผลิตกำลังคนได้ตรงตามความต้องการของประเทศอย่างแท้จริง” ว่าที่ ร.ต.ธนุ กล่าว

Advertisement

ว่าที่ ร.ต.ธนุกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ จะเสนอให้เร่งพัฒนาครูให้มีศักยภาพ ปรับการสอนให้ทันสมัยได้อย่างเหมาะสม เพราะแม้เราจะมีหลักสูตรที่ดี มีคุณภาพมากแค่ไหน แต่ถ้าครูผู้สอนไม่มีความเข้าใจในการนำหลักสูตรไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทในแต่ละพื้นที่ ก็ไม่มีทางที่จะปฏิรูป หรือเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ดังนั้น สิ่งแรกที่อยากให้เร่งดำเนินการคือ พัฒนาครูให้ทันสมัย สอดคล้องกับหลักสูตร และมีความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image