บิ๊กอุ้ม เดินหน้าการศึกษาไทยต้องเท่าเทียม-อยากเรียนต้องได้เรียน

บิ๊กอุ้ม เดินหน้าการศึกษาไทยต้องเท่าเทียม-อยากเรียนต้องได้เรียน

เมื่อวันที่ 24 มกราคม มติชนจัดงานสัมมนา Thailand 2024 The Great Challenges เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) และน.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสวนาในหัวข้อ เรียนดี มีความสุข ขยายโอกาสเพื่อคนไทย มีผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เป็นวิทยากร

พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า นโยบายของศธ. คือ เรียนดี มีความสุข ซึ่งคงต้องเริ่มจากทำให้เด็กนักเรียน และผู้ปกครองมีความสุขก่อน โดยจากการประเมินผลนักเรียนระหว่างประเทศ หรือPISA ล่าสุดที่ผลค่อนข้างตกต่ำ ส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป ความสนใจของเด็กเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ดังนั้นวิธีการเรียน การสอนก็ต้องปรับเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม คงเห็นแล้วว่า มาตรฐานการศึกษาของเราไม่เท่าเทียม ซึ่งตนได้มาเห็นปัญหา และเรียนรู้กับทีมบริหารการศึกษา ว่า ต้องทำการศึกษาให้เท่าเทียม แนวทางที่ทำคือการเฉลี่ยความสุข กระจายทรัพยากร ให้ทั่วถึง โดยเท่าที่ดูการเรียนการสอนอย่างเช่น โรงเรียนสายวิทย์ เด็กจะมีมาตรฐานทางเศรษฐกิจสูง ต่างจากโรงเรียนทั่วไปที่มีมาตรฐานทางเศรษฐกิจไม่เท่าเทียมกัน

Advertisement

ดังนั้น ที่ผ่านมาจึงจัดให้มีการเรียนในระบบคู่ขนาน ยกตัวอย่าง เช่น กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เป็นโรงเรียนพี่เลี้ยง ให้กับโรงเรียนอื่น ๆ ในพื้นที่ ครูมาช่วยกันสอน นักเรียนก็เป็นเพื่อนกัน ตรงนี้เป็นมิติหนึ่งในการทำงาน และจากนโยบายเรียนดีมีความสุข จะจัดทำแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างมาตรฐานการเรียนรู้ให้เด็กได้เรียนจากสื่อ และครูคนเดียวกัน เช่นเดียวกับ การเจริญภาวนาสมาธิ ก็มีตรรกะในการสอนเหมือนกัน แต่มีวิธีการที่หลากหลาย ตั้งสมมติฐานว่า ถ้าเด็กสนใจเรียนกับอาจารย์คนใด จะทำให้การเรียนดีขึ้น แต่การสอบPISA เป็นการทดสอบเรื่องการคิด วิเคราะห์ ก็ต้องมาฝึกให้เด็ก เรียนแบบรู้จักคิดวิเคราะห์ เชื่อว่า ผลคะแนนPISA รอบต่อไปน่าจะดีขึ้นแน่นอน

จริงๆ ผลประเมินPISA สูงกว่า ประเทศสิงคโปร์ แต่ของไทยประเมินแบบกระจาย ขณะที่ประเทศที่ได้คะแนนดี ประเมินแบบกลุ่ม ดังนั้นในการสอบปี 2025 ก็อาจจะเลือกประเมินเฉพาะกลุ่มที่มีความพร้อม ส่วนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ซึ่งเด็กไม่ค่อยสนใจ เพราะผลคะแนนไม่มีส่วนต่อการเข้าเรียนต่อ และไม่ได้นำคะแนนไปใช้ประโยชน์ ดังนั้นอาจจะต้องมีการปรับกระบวนในการทดสอบให้สามารถวัดประเมินได้รอบด้าน และสามารถนำคะแนนไปใช้ประโยชน์ได้ เพื่อให้เด็กให้ความสำคัญกับการสอบมากขึ้น

ศธ. จัดการศึกษาตั้งแต่ก่อนปฐมวัย จนถึงการศึกษาตลอดชีวิต ใน 2 สาขา การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต โดยมีนโยบายลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง โดยในส่วนของนโยบายลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้มีการจัดให้มี นโยบายครูคืนถิ่น แก้ไขปัญหาหนี้สินครู จัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอน

Advertisement

ส่วนลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง จัดทำแพลตฟอร์ม Anywhere Anytime เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา เตรียมจัดระบบสอบเทียบ เพราะเด็กเก่ง ซึ่งมีความเป็นเลิศอยู่แล้ว ก็อาจไม่จำเป็นต้องอยู่ในระบบการศึกษา ซึ่งหากสอบเทียบได้ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีนโยบาย มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn) ขณะที่กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.)จะเข้ามาช่วยเสริมในส่วนการศึกษานอกระบบ เป็นการเรียนรู้ทุกช่วงวัย ซึ่งไม่ถือว่าซ้ำซ้อน เป็นการซ่อมเสริมในส่วนที่ขาดสำหรับกลุ่มที่ไม่สามารถเรียนในระบบการศึกษาได้ตามปกติ โดยผู้ที่เรียน กับสกร. สามารถไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ ทั้งนี้โชคดีที่ อว. ศธ. กระทรวงแรงงาน และกระทรวงมหาดไทย มีรัฐมนตรี มาจากพรรคภูมิใจไทยเช่นเดียวกัน จึงส่งผลให้การทำงานมีความเชื่อมโยง ซึ่งหัวใจหลักของนโยบายคือ ทำอย่างไรให้เด็กรักชาติ เน้นให้สอนให้เด็กเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ให้เด็กเป็นคนดีมีคุณธรรม โดยปัจจุบัน การเรียนประวัติศาสตร์ เน้นสอนคิดวิเคราะห์มากขึ้น ทั้งประวัติศาสตร์ในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์ของประเทศที่มีความมั่นคง เพราะคนในประเทศนั้น ๆ มีความสามัคคีกัน ทั้งหมดนี้จะต้องมีการอบรมครู เพื่อให้สามารถปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงด้วย

ส่วนนโยบายการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กนั้น ให้เป็นไปตามความต้องการของชุมชน โดยพยายามทำโรงเรียนคุณภาพ ให้เป็น 1 อําเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ เพื่อส่งเสริมให้โรงเรียนใกล้เคียง มาเรียนในโรงเรียนคุณภาพ เป็นการใช้ทรัพยากรร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ศธ. ให้ความสำคัญกับการศึกษา และจริง ๆ แล้วถ้าเด็กต้องการจะเรียนที่บ้าน ก็พร้อมสนับสนุนตามนโยบายเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำแพลตฟอร์ม การเรียนรู้

ส่วนนโยบายทั้งหมดนี้ จะสำเร็จเมื่อไรนั้น ตนเชื่อมั่นในทีมงาน และมีหลายเรื่องที่เห็นผลแล้ว อย่างเช่น ยกเลิกการเข้าเวรของครู ก็ถือว่า เห็นผลแล้ว โดยล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติยกเลิกการอยู่เวรของครู ซึ่งจะช่วยลดการสูญเสียในสิ่งที่ไม่จำเป็น นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการลดภาระครู ลดงานเอกสาร และพยายามรวมบางเรื่องให้เป็นเรื่องเดียวกัน อย่างเช่น งานธุรการ โดยที่ผ่านมาสาเหตุที่ครูต้องทำงานต่าง ๆ เพิ่ม มีปัจจัยหลักมาจาก จำนวนที่เด็กลดลง ส่งผลให้งบประมาณ และบุคลากรลดลงตามไปด้วย และขณะนี้ศธ. ก็อยู่ระหว่างดำเนินการของบประมาณจัดจ้างนักการ ภารโรงเพิ่มเติม เพื่อมาช่วยครูทำงานเหล่านี้”

ด้าน น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี กล่าวว่า  โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ความท้าทายของอว. หรือระบบอุดมศึกษาไทย คือทำอย่างไรจะปรับตัวปรับหลักสูตรให้ทันสมัยสามารถผลิตบัณฑิตให้มีพื้นความรู้ ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน นำมาสู่ การเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวเป็นมหาวิทยาลัยสำหรับการเรียนรู้ทุกช่วงวัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยที่ต้อง Upskill ReSkill ดังนั้น สิ่งที่อว.จะต้องเร่งดำเนินการคือ การจัดทำธนาคารหน่วยกิต หรือเครดิตแบงก์ เพื่อให้เด็กมัธยมศึกษาตอนปลายสามารถเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้เร็วขึ้น เป็นการลดภาระ และเปิดโอกาสให้เด็ก ได้เรียนข้ามมหาวิทยาลัย เด็กที่เรียนปริญญาตรี สามารถเรียนปริญญาโทควบคู่กันไปได้ เพื่อให้เด็กสามารถเรียนได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก

ระบบต่อมาที่ต้องเร่งดำเนินการคือ Skill Transcript ซึ่งจะช่วยให้ภาคเอกชนหรือผู้ใช้บัณฑิต ทราบว่าบัณฑิตที่จบการศึกษา มีทักษะความสามารถอะไรบ้าง ทำให้เด็กสามารถนำไปใช้สมัครงานได้โดยที่ยังไม่ต้องเรียนจบ และอีกส่วนที่ต้องช่วยคือ ให้เด็กมีโอกาสเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ โดยปีนี้ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)ได้งดเว้นค่าสมัครสอบคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ปีการศึกษา 2567 และมีเป้าหมายให้เด็กสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกัน จะก้าวไปสู่ เด็กอยากเรียนต้องได้เรียน เด็กอยากสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็สามารถสอบเข้าได้ โดยจะทำแพลตฟอร์มจับคู่ทุนการศึกษา ให้เด็กรู้ว่ามหาวิทยาลัยมีทุนอยู่บ้าง เพื่อให้เด็กที่ขาดแคลนสามารถเรียนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อนาคตจะได้ไม่มีดราม่า ว่าไม่มีเงินเรียน

ส่วนการพัฒนาอาจารย์มหาวิทยาลัยนั้น เมื่อมีการรวมเป็น อว. ก็มีการแบ่งมหาวิทยาลัยออกเป็น 5 กลุ่ม อย่างเช่น กลุ่ม9 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล( มทร.) เลือกที่จะอยู่ในกลุ่มผลิตอาชีพเฉพาะทางใช้เทคโนโลยีให้เท่าทันกับโลก เช่นเปลี่ยนจากช่างซ่อมรถธรรมดา เป็นช่างซ่อมรถไฟฟ้าหรือรถอีวี เป็นต้น ขณะที่กลุ่มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) เน้นพัฒนาท้องถิ่น โดยสถาบันเหล่านี้จะเป็นผู้เลือกกลุ่มด้วยตัวเอง ว่าจะอยู่กลุ่มไหน ส่งให้ทำให้มีการจัดสรรงบประมาณตามกลุ่ม หรือแม้แต่การขอตำแหน่งทางวิชาการก็มีช่องทางที่หลายหลาย ทั้งหมดนี้เป็นทางเลือกให้อาจารย์สามารถทำงานวิจัยได้ตรงกับสายงานของตัวเองมากขึ้น ขณะเดียวกันงานวิจัยจะต้องตรงกับความต้องการของภาคเอกชนด้วย โดยนโยบายทั้งหมดนี้ จากการพูดคุยกับข้าราชการที่ทำงาน เชื่อว่าจะทำได้สำเร็จภายใน 1 ปี

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image