วอน ‘บิ๊กอุ้ม’ แก้ปัญหา ร.ร.เอกชน สวัสดิการครู-ดึงต่างชาติสอน หลังปี’66 ทยอยปิดเกือบ 20 แห่ง

วอน ‘บิ๊กอุ้ม’ แก้ปัญหาโรงเรียนเอกชน สวัสดิการครู-ค่ารักษา-ดึงต่างชาติสอน หลังปี’66 ร.ร.ทยอยปิดตัวเกือบ 20 แห่ง

ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ส.ปส.กช.ได้เสนอปัญหาของโรงเรียนเอกชนต่อ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ได้ย้ำให้โรงเรียนเอกชนนำนโยบายเรียนดี มีความสุข มาใช้ เน้นความปลอดภัยของเด็ก ซึ่งต่อไปโรงเรียนเอกชนจะประชุมร่วมกัน เพื่อหาทางยกระดับความปลอดภัยให้มากขึ้นกว่าเดิม เช่น การรณรงค์ขับขี่ปลอดภัย สวมหมวกกันน็อก การจัดการเรียนการสอนที่จะพยายามยกระดับ เปิดทางเลือกให้ตรงกับความต้องการของผู้ปกครองมากขึ้น เป็นต้น

“อย่างไรก็ตาม ผมได้สะท้อนปัญหาการปรับตัวของโรงเรียนเอกชนให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.รับทราบ เพราะแม้โรงเรียนจะปรับตัวแล้ว มีบางส่วนได้ไปต่อ แต่มีบางส่วนที่ไปต่อไม่ไหว เพราะมีนักเรียนน้อยบ้าง หรือโรงเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ดำเนินกิจการต่อไปแล้วไม่คุ้มบ้าง ซึ่งมีโรงเรียนที่ปิดตัวในปีการศึกษา 2566 ประมาณ 10-20 แห่ง โดยรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เน้นย้ำให้ยกระดับคุณภาพ และเน้นความปลอดภัย” ดร.ศุภเสฏฐ์ กล่าว

ดร.ศุภเสฏฐ์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ได้สะท้อนว่าอยากให้แก้ปัญหาสวัสดิการโรงเรียนเอกชน เพราะเมื่อมองภาพรวม จะเห็นว่าสวัสดิการครูโรงเรียนเอกชนที่ผ่านมา เหมือนครูชั้นสอง ซึ่งขณะนี้คณะอนุกรรมาธิการการศึกษาเอกชนของวุฒิสภา อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการจัดทำสวัสดิการครูโรงเรียนเอกชนที่พอเหมาะ เช่น การรักษาพยาบาล ที่แม้จะเพิ่มเป็น 1.5 แสนบาท ในสมัยที่นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.แต่พบปัญหาว่าครูที่รักษาตัวเกิน 1.5 แสนบาท ต้องลาออกจากการเป็นครู เพื่อไปใช้สิทธิบัตรทอง เป็นต้น ดังนั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาเดดล็อกที่ต้องเร่งแก้ไขใน พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนด้วย

Advertisement

“สิ่งที่เราได้สะท้อนปัญหา รัฐมนตรีว่าการ ศธ.รับฟัง ถือเป็นทิศทางที่ดี เพราะผมมองว่าปีนี้เป็นยุคทองของโรงเรียนนานาชาติ และโรงเรียนที่สอนหลายภาษา ซึ่งขณะนี้โรงเรียนเอกชนพยายามเปิดสอนส่วนนี้อยู่ แต่อาจจะต้องพูดคุยกับหลายๆ หน่วยงานในการดึงครูต่างชาติเข้ามา เพราะปัจจุบันครูต่างชาติเป็นที่ต้องการมาก จึงมองว่า ศธ.ต้องเดินหน้าในการทำ MOU ร่วมดึงครูต่างชาติเข้ามาสอนในประเทศไทย” ดร.ศุภเสฏฐ์ กล่าว

ดร.ศุภเสฏฐ์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ทางโรงเรียนเอกชนรู้สึกพึงพอใจปฏิทินกำหนดการสอบและบรรจุครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่กำหนดระยะเวลาสอบปลายเดือนเมษายน ถึงต้นเดือนพฤษภาคม เพื่อให้ได้ครูทันก่อนเปิดภาคเรียน ทำให้ครูใหม่เตรียมการสอนได้ทัน และทำให้โรงเรียนเอกชนที่ขาดแคลนครู เพราะได้รับการบรรจุเป็นครูผู้ช่วย สามารถหาครูได้ทันเปิดภาคเรียนด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image