อดีตผอ.OKMD หวัง TCDC คัมแบ๊ก เชื่อจะครบเครื่อง เป็น ‘ศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ’ ที่สุดปัง!

อดีตผอ.OKMD หวัง TCDC คัมแบ๊ก เชื่อจะครบเครื่อง เป็น ‘ศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ’ ที่สุดปัง!

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ที่ TK Park ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์กรมหาชน) หรือ OKMD จัดงาน 20 years of Thailand Knowledge Creation: Past and Future

เวลา 13.00 น. น.ส.ปานบัว บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), นายมณฑล ประภากรเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักพิมพ์มติชน เดินทางมาร่วมแสดงความยินดี ในโอกาสครบรอบ 20 ปีของ OKMD โดยมี ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ OKMD พร้อมด้วย นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) ร่วมให้การต้อนรับ ท่ามกลางแขกผู้มีเกียรติคับคั่ง

ต่อมาเวลา 14.10 น. มีการเสวนาในหัวข้อ “20 years of Thailand knowledge creation: Past” โดย พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และอดีตรองนายกรัฐมนตรี, พลเรือเอกฐนิธ กิตติอำพน อดีตผู้อำนวยการ OKMD, คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ อดีตประธานกรรมการ OKMD ร่วมเสวนา

Advertisement

ในตอนหนึ่ง เมื่อถามว่าในฐานะที่เป็นคนแรกๆ ที่ใช้เรื่องความคิดสร้างสรรค์มาผสมผสานกับเรื่องเศรษฐกิจ ที่น่าจะไปคนละทาง เหตุใดจึงเล็งเห็นว่าสามารถมาผนวกกัน และสร้างมูลค่าได้ พล.ร.อ.ฐนิธ กิตติอำพน สมาชิกวุฒิสภา อดีตผู้อำนวยการ OKMD และ Museum Siam นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้วางรากฐานงานพัฒนาองค์ความรู้ (Knowledge Society) และพยายามริเริ่มการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ รวมทั้งผลักดันต้นแบบการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) กล่าวว่า ขอย้อนไปตอนแรก ความจริงแล้วตนเข้ามาด้วยความมุ่งมั่นที่จะมาเป็น ผู้อำนวยการมิวเซียมสยาม เพราะมองว่าเป็นองค์กรที่จะช่วยต่อยอดให้คน โดยเฉพาะในระดับเด็ก ได้มีความรู้ความเข้าใจ

“ตอนที่ผมเข้ามา เราพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ในลักษณะ Discovery Museum ที่ไม่ได้มีของเก่า แต่เป็นพิพิธภัณฑ์เล่าเรื่อง ซึ่งยังใหม่มาก สมัยนั้นยังไม่มีพิพิธภัณฑ์ในลักษณะนี้ เราใช้ชื่อนิทรรศการว่า ‘เรียงความประเทศไทย’ ผมใช้เวลาไม่นานก็เปิดพิพิธภัณฑ์ในวันที่ 2 เมษายน และอยู่ที่นั่นมาปีเศษๆ”

Advertisement

“ตอนอยู่ที่นั่น ผมต้องการให้เป็นศูนย์กลาง ในการสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้ทั่วประเทศ อยากให้พิพิธภัณฑ์ชาวบ้าน มีระบบการเรียนการสอน นำเสนอประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ให้คนที่ไปเมืองนั้นเมืองนี้ ได้ดูแล้วเข้าใจ แต่ว่าความหวังผมก็ไม่สำเร็จ เพราะว่าเมื่อเสนอให้แยกมิวเซียมสยาม ออกเป็นองค์การมหาชน แยกออกจาก OKMD ก็ไม่ได้รับการอนุมัติ ให้แยกตัวออกมา” พล.ร.อ.ฐนิธเผย

พล.ร.อ.ฐนิธ กล่าวต่อว่า หลังจากนั้น ตนก็ถูกเปลี่ยนแปลง ตอนนั้นรัฐบาลจดทะเบียนเป็นองค์การมหาชนแบบกลุ่ม 7 หน่วยงาน ต่อมาก็มีการปรับให้ทุกหน่วยเป็นดีพาร์ทเม้นท์ โดยให้ OKMD เป็นพระเอกที่บริหารทุกองค์กร ตนจึงลงสมัครสรรหา จนได้รับเลือกให้เป็นผู้อำนวยการ OKMD คุมทั้ง 7 หน่วยงาน สุดท้ายตนเห็นว่า 3 หน่วยงานที่ควรจะต้องมีอยู่ คือ มิวเซียมสยาม ทีเคพาร์ค และ TCDC ที่เหลือตนจึงเสนอให้แยกออกไปขึ้นกับหน่วยงาน เช่น กระทรวง

ช่วงนั้นได้รับคำแนะนำ เป็นช่วงที่รัฐบาลต้องการทำเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เราก็จับเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ขึ้นมา ทำอย่างไรที่จะส่งต่อความรู้เหล่านี้ให้คนไทยทั้งประเทศได้ เราก็ทำเว็บไซต์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ต่อมาก็ทำหลักสูตรสอนผู้บริหารระดับสูงทั้งจากภาครัฐและเอกชน ปรากฏผลสำเร็จ ทำให้ครเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ซึ่งตอนนั้นไม่มีใครเข้าใจ ว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์คืออะไร ก็เปิดอบรมให้คนเข้าใจ เพื่อนำไปสู่กิจกรรมต่อมา คือ ‘รางวัลไทยสร้างสรรค์’ โดยเข้าขอรับพระราชทานรางวัล จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

“คำว่าสร้างสรรค์ คือการที่เราเอาของปกติ ที่สมมติขายได้ 10 บาท ทำให้ขายได้ 100 บาท โดยการใส่ความคิดลงไปในสิ่งของเหล่านั้น ไม่ว่าจะด้วยประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และแพคเกจจิ้ง มาหลอมรวกัน ทำให้สินค้าเพิ่มมูลค่า” พล.ร.อ.ฐนิธ ชี้

พล.ร.อ.ฐนิธ ยกตัวอย่างว่า มีรายหนึ่งใช้ไม้ไผ่ มาดัดเป็นรูปต่างๆ ใช้แรงงานหมู่บ้าน จนกระทั่งนำไปสู่ระดับนานาชาติ ใช้ในโรงแรม อีกชิ้นคือ ‘แซกโซโฟน’ จากพลาสติก ที่ทำจากวัสดุสังเคราะห์ ใช้ดี เสียงดี น้ำหนักเบา ราคาถูก เป็นความคิดสร้างสรรค์ ที่เอาของมาทำเพิ่มมูลค่าได้

“ต่อมาผมคิดว่า เมื่อมีรางวัล เว็บไซต์ และการสอนแล้ว ก็เริ่มเอาสินค้าพวกนี้ออกไปโชว์ในต่างจังหวัด ให้คนได้เข้าใจและเรียนรู้ จึงไปทำงานร่วมกับกรมทรัพสินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ทำรางวัล Creative City สรรหาเมืองสร้างสรรค์ ตามหลักนูเนสโก้ ที่นำมาดัดแปลง จัดอยู่ 2 ปี

“ที่คาดหวังแต่ไม่ได้เป็นเมืองสร้างสรรค์ คือ กทม. ถ้าดูให้ดี เรามีย่าน มีแหล่งผลิตอาหารมากมาย แต่สุดท้าย รางวัลเมืองสร้างสรรค์ ตกไปอยู่ที่ภูเก็ต เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็น” พล.ร.อ.ฐนิธเผย

พล.ร.อ.ฐนิธกล่าวว่า ส่วน ‘ศูนย์การเรียนรู้กินได้’ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เอาห้องสมุด มาพัฒนา แลกเปลี่ยนความรู้ส่วนหนึ่ง ซึ่งมีน้องๆ เป็นผู้ทำโปรเจ็กต์นี้โดยตรง”

พล.ร.อ.ฐนิธกล่าวต่อว่า เรื่องการทำศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติที่ท่าน ผอ.OKMD คนปัจจุบันทำ เป็นสิ่งที่ตนคิดมาเมื่อ 14 ปีที่แล้ว เขียนโอกาสนี้ขึ้นมาที่จะเอา CEA, TK Park และมิวเซียมสยาม มารวมกันอยู่ที่สามย่าน ไปขอเซ้งที่ดิน 3 ไร่ 30 ล้าน ได้ที่ติดถนนใหญ่ ใกล้กับคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เป็นอะไรที่ดีมาก แล้วก็มาเขียนโปรเจ็กต์ แต่สุดท้ายทางรัฐบาลไม่เห็นด้วย จึงไม่สามารถทำได้

“จากนั้น ผมจึงไปขอที่ที่สภาพัฒน์ เมื่อเริ่มทำโปรเจ็กต์ ก็ไม่ผ่านความเห็นชอบ วันนี้ดีใจมากที่ ผอ.คนใหม่ กลับมาทำให้ใหม่ ที่ถนนราชดำเนิน ทำให้ความฝันของผมน่าจะเป็นจริงได้” พล.ร.อ.ฐนิธเผย

เมื่อถามว่า ส่วนตัวมองว่า จะทำอย่างไรให้ศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ เป็นจุดสำคัญในเกาะรัตนโกสินทร์?

พล.ร.อ.ฐนิธกล่าวว่า ความจริง ตนก็มีความคิดเกี่ยวกับรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ตอนที่เป็น ผอ.มิวเซียมสยาม

“ผมต้องการปิดเกาะนี้เลย ไม่ให้รถเข้าไป แล้วผมก็ไปขอที่ดินจากหลายแห่ง แต่เขาก็ไม่ให้ คิดจะทำพิพิธภัณฑ์ด้านต่างๆ แต่การที่ OKMD ไปตั้งที่ตอนปลายของรัตนโกสินทร์ ถือเป็นเรื่องดีมาก ในอนาคตจะมีรถไฟฟ้าและเชื่อมโยงกับมิวเซียมสยามได้ ไม่ห่างกัน”

“ผมยังพูดกัข ผอ.เลยว่า วันนึงที่ TCDC แยกออกไปเป็น CEA ทำให้คำว่า TCDC ถูกลดบทบาทลงไป จากการเป็นศูนย์สร้างสรรค์งานด้านการออกแบบ ที่อำนวยนักออกแบบ ทั้งสถานปนิก อินทีเรีย หรือแม้แต่ด้านอุตสาหกรรมก็ตาม ฯลฯ ค้นหาข้อมูลง่าย มีห้องให้อ่านหนังสือ ชมภาพยนตร์ได้ สมัยใหม่มาก เมื่อ 17 ปีที่แล้วถือว่าโมเดิร์นมาก

ผมมองว่าถ้าเอา TCDC กลับมาทำที่ถนนราชดำเนินได้ ก็น่าจะดี เป็นศูนย์ที่ดูเรื่องการออกแบบทั้งหมด อาจจะมีวิทยาการอื่นๆ เข้ามาใส่ในนี้ด้วย OKMD ก็จะกลายเป็นจุดศูนย์รวม ที่สร้างศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ ที่ดีที่สุด” พล.ร.อ.ฐนิธกล่าว และว่า

ตนขอให้กำลังใจเต็มร้อย ตนมีความคิดกระจาย TCDC และที่ TK Park ไปที่ต่างจังหวัด ไปตามมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ เคยไปดูที่ จ.เชียงใหม่ ตอนนั้นแต่หมดวาระเสียก่อน

“ส่วน TK PARK ผมพูดกับ ผอ.เลยว่า อยากให้มีทั่วประเทศ เพราะเป็นจุดกำเนิดให้เด็กรักการอ่าน การอ่านหนังสือเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ถ้ากระจายศูนย์พวกนี้ไปทั่วประเทศได้ จะได้เด็กที่มีความรู้มาก เหมือนเด็กญี่ปุ่น ที่สถิติอ่านมาก ประเทศก็พัฒนาได้เร็ว

“ดีใจ ที่จะมีการสร้างศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ และหวังว่า จะมีการเอา TCDC กลับมา กลับมาอยู่กับ OKMD อีกครั้ง เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่ง” พล.ร.อ.ฐนิธกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image