ยูทูบเบอร์ดัง ตื่นเต้น! ‘NKC’ แหล่งเรียนรู้แบบจอยๆ ตอบโจทย์นิวเจน ซัพพอร์ตทุกความสนใจ

วิว Point of View ตื่นเต้น! อยากเห็น ‘NKC’ แหล่งเรียนรู้แบบจอยๆ ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ มีคำตอบ ทุกความสนใจ

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ที่ TK Park ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์กรมหาชน) หรือ OKMD จัดงาน 20 years of Thailand Knowledge Creation: Past and Future

บรรยากาศเวลา 13.30 น. ที่ห้องออดิทอเรียม มีพิธีเปิดงาน OKMD : 20 years of Thailand Knowledge Creation

ต่อมาเวลา 15.15 น. มีการเปิดตัว NKC OKMD National Knowledge Center หรือศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ แห่งใหม่ ที่จะสร้างขึ้นบริเวณถนนราชดำเนิน ภายในปี 2570 ก่อนเข้าสู่การเสวนาในหัวข้อ 20 years of Thailand Knowledge Creation : Future

Advertisement

โดยมี ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ OKMD คนปัจจุบัน ผู้มีภารกิจสำคัญในการปลุกปั้นสังคมแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย, นายอดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า เอ เอฟ เอส ประเทศไทย (TRAFS) ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ และการพัฒนากระบวนการเรียนรู้แบบ Board-based Simulation ผู้ก่อตั้งบริษัท ENPO Consulting จำกัด และ น.ส.ชนัญญา เตชจักรเสมา หรือ น้องวิว ยูทูบเบอร์ชื่อดังจากช่อง Point of View เจ้าของรางวัล Popular Vote จากเวที Thailand Best Blog Awards 2018 ผู้มีเอกลักษณ์ในการเล่าเรื่องสาระความรู้อย่างสนุกสนานเข้าใจง่ายไม่น่าเบื่อ ทั้งวรรณกรรม วรรณคดี นิทานพื้นบ้าน ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมนานาชาติ ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดย นายศัลย์ อิทธิสุขนันท์

น.ส.ชนัญญา หรือ น้องวิว ยูทูบเบอร์ชื่อดัง กล่าวถึงความรู้สึกที่จะมีการเปิดศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ ที่ถนนราชดำเนิน บนพื้นที่ 200,000 ตรม. ในเกาะรัตนโกสินทร์ว่า ตนรู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะตอนเด็กๆ รู้สึกว่า เวลาที่จะเรียนรู้อะไรบางอย่าง สถานที่ที่ไปได้ก็จะเป็นห้องสมุดของโรงเรียน หรือห้องสมุดตามมหาวิทยาลัย

Advertisement

“บรรยากาศจะเคร่งเครียดมาก มันอาจจะมีหนังสือที่สนุกอยู่บ้าง แต่ต้องมีความรู้พอที่จะไปหยิบได้ว่าหนังสือซ่อนตรงที่ใด หรืออีกสถานที่หนึ่งก็คือพิพิธภัณฑ์ที่ต้องมีวิทยากรที่มีความรู้มาบรรยายให้ฟัง”

น.ส.ชนัญญา กล่าวต่อว่า การได้มีศูนย์การเรียนรู้แบบนี้เกิดขึ้นทำให้รู้สึกเลยว่า นี่คือพื้นที่แห่งใหม่ ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่เข้าไปใช้สิ่งต่างๆ ในนั้น ได้ตามลักษณะการเรียนรู้ของพวกเขา

“เราคิดว่า ในปัจจุบันคนเราเรียนรู้ไม่เหมือนแต่ก่อน ซึ่งแหล่งเรียนรู้เมื่อก่อนเข้าถึงยาก เราอาจจะรู้สึกว่าใครป้อนอะไรมาให้เราก็เรียนรู้ตามนั้น แต่ว่าในยุคปัจจุบันนี้มีแหล่งความรู้เต็มไปหมดตามที่ต่าง ๆ จนกลายเป็นว่าเราเรียนรู้มากเกินไป โดยที่เราไม่ทราบว่าอะไรเชื่อถือได้ อะไรเชื่อถือไม่ได้ หรือตรงไหนคือแหล่งความรู้หลัก การที่มีศูนย์กลางการเรียนรู้ ทำให้สำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐานเลย ที่เกิดความสนใจในหัวข้อนั้น สามารถเข้าไปตรงนั้น และนำไปค้นคว้าเพื่อต่อยอด หรือสำหรับคนที่มีความรู้อยู่แล้ว อยากทราบข้อมูลนั้น ๆ ว่าจริง หรือไม่จริง ก็สามารถคอนเฟิร์มกับสิ่งที่ได้เรียนรู้มา” น.ส.ชนัญญากล่าว

เมื่อถามว่า ก่อนที่จะมาเป็นคนที่บอกผ่านข้อมูลเรื่องราว แบ่งปันองค์ความรู้ เรามีการกรองข้อมูลก่อนหรือไม่ อย่างไร?

น.ส.ชนัญญากล่าวว่า ในเรื่องของการกรองข้อมูล ส่วนตัวตนรู้สึกว่า ในยุคแรกๆ ที่ทำ จะมองว่าตนเป็นคนหนึ่งที่ชอบเรียนรู้อะไรบางอย่าง และพอตนได้เรียนรู้ ตนก็รู้สึกชอบและสนุก แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมคนอื่นถึงไม่เข้าใจว่ามันสนุกแบบที่ตนคิด

“ในสมัยเด็กๆ เราเป็นคนชอบอ่าน วรรณกรรมคดี ประวัติศาสตร์ จากห้องสมุด แต่บางคนมีรูปแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน บางคนอ่านหนังสือแล้วสนุก ซึ่งบางคนอ่านไม่ได้ ต้องฟังเท่านั้น บางคนต้องดู หรือบางคนต้องไปเที่ยว” น.ส.ชนัญญากล่าว

น.ส.ชนัญญากล่าวต่อไปว่า เมื่อสมัยก่อนเป็นเช่นนี้ ตนก็ได้เรียนรู้ว่าพอได้เปลี่ยนวิธีการถ่ายทอด คนอื่นก็จะสนุกไปด้วย

“เราถ่ายทอดด้วยการเล่าให้เพื่อนฟัง แต่ในยุคแรกๆ เราอาจจะไม่ได้มีการกรองขนาดนั้น แต่จะเป็นเหมือนกับการที่เราดูละครหลังข่าว อ่านข่าวอะไรสักอย่างที่เป็นกระแสชั่วข้ามคืน และเรารู้สึกว่าอยากเล่าให้เพื่อนฟังต่อ แต่พอมีคนติดตามมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้รู้สึกว่าไม่ใช่แค่เพื่อนทุกคนแล้ว แต่ว่าเป็นทั้งเพื่อนและเป็นทั้งสื่อด้วย

พอมีน้อง ๆ มาติดตามเราก็ได้ค้นพบว่า หลายคนเขาไม่ได้เข้ามาฟังเพื่อความสนุกอย่างเดียวอย่างที่เราตั้งใจ แต่มีการนำมาใช้ในการสอบ และนำไปพัฒนาต่อในหลายๆ อย่างมากมาย โดยที่ตัวเองนึกไม่ถึงเสียด้วยซ้ำว่าจะมีการนำไปพัฒนาถึงสิ่งนั้น เราจึงรู้สึกว่าต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม เลยได้มีการกรอง และการอ้างอิงเป็นอย่างดี” น.ส.ชนัญญากล่าว

น.ส.ชนัญญากล่าวอีกว่า เมื่อมีการอ้างอิงต้องเริ่มมาจากว่า เราจะหาแหล่งอ้างอิงจากที่ใด อย่างที่บอกว่าปัจจุบันนี้แหล่งเรียนรู้หลากหลายและหลายรูปแบบ มีตั้งแต่รูปแบบที่คล้ายสมัยก่อนไปจนถึงความรู้จากบอร์ดเกม

“ถ้าในมุมการทำงาน มองว่า เราต้องเป็นคนหนึ่งที่มีความรู้เท่าทันสื่อ และมีการพยายามกรอง นำแหล่งความรู้ที่น่าเชื่อถือมา ก่อนที่จะมาสรุป และนำส่งออกไปให้คนดูอีกต่อๆ ไป แต่ถ้าในมุมของการมองออกไปทางสังคม เรามองว่า เนื่องจากสมัยก่อน ที่เราเรียนรู้ เขาจะสอนว่าเราจะต้องได้ข้อมูลตรงนี้ เวลาสอนประวัติศาสตร์ คุณครูจะมาเล่าให้ฟัง แต่สำหรับในปัจจุบันความสนใจของคนหลากหลายขึ้น อาทิ บางคนสนใจประวัติศาสตร์การเมือง บางคนสนใจประวัติศาสตร์การสงคราม เป็นต้น

ดังนั้น เชื่อว่าคนที่เป็นแหล่งความรู้ หรือว่าคุณครูไม่สามารถที่จะบอกทุกคนได้แล้วว่า แหล่งนี้เชื่อถือได้ แหล่งนี้ไม่น่าเชื่อถือ เพราะแม้แต่คนที่สอนเองก็ไม่ได้ทราบทุกเรื่องเช่นเดียวกัน จึงกลายเป็นว่าเราต้องปูพื้นฐานเด็กๆ มากขึ้นว่าวิธีการรู้เท่าทันสื่อเป็นอย่างไร วิธีการเลือกคืออะไร พอเขามีวิธีการรู้แล้ว ว่าจะเลือกแหล่งอ้างอิงอย่างไร แล้วก็ให้เขาไปศึกษาเองตามแหล่งความรู้ต่างๆ ที่เขาสามารถหาได้เอง” น.ส.ชนัญญากล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image