‘อจ.พิพัฒน์’ แนะวิธี TOA แก้ไขวิหารทอง จี้กลุ่ม ‘คนร่วมทาง’ ร่วมรับผิดชอบ อย่าอ้างบุญ

กรณีมีผู้แชร์ภาพการบูรณะวัดต่างๆ โดยใช้สีทาทับโบราณสถาน เช่น วัดโพธารามและวัดลาวทอง จังหวัดสุพรรณบุรี วัดศรีสโมสร จังหวัดชัยนาท โดยมีกลุ่มบุคคลอ้างว่าได้บริจาคให้วัดด้วยความศรัทธา โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 กรมศิลปากรออกข่าวประชาสัมพันธ์ระบุว่าขอให้ยุติการกระทำดังกล่าว เนื่องจากผิดหลักการอนุรักษ์และเป็นการทำลายความเป็นของแท้ดั้งเดิมของโบราณสถาน อีกทั้งยังไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากร ตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2535 พร้อมกันนั้นได้สั่งการให้สำนักศิลปากรทั่วประเทศ ตรวจสอบข้อมูลโบราณสถานที่มีการกระทำลักษณะดังกล่าวและประสานกับวัดต่างๆ โดยเร่งด่วน ขอให้ยุติการดำเนินการทั้งหมดและหากเป็นการกระทำที่ผิดต่อ พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2535 ผู้ดำเนินการจะต้องรับผิดชอบและเข้าหารือกรมศิลปากรเพื่อดำเนินการแก้ไขทันที ส่วนวัดโพธาราม ได้โพสต์ชี้แจงว่าวัดไม่ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานและผู้บูรณะวิหารดังกล่าวคือผู้มีจิตศรัทธาขอทำการบูรณะ ไม่ใช่บริษัท TOA เพียงแต่ใช้สี TOA นั้น

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แชร์ภาพจากเว็บไซต์ TOA มายังเฟซบุ๊กส่วนตัว “Pipad Krajaejun” ซึ่งเป็นภาพที่ TOA ขึ้นข้อความว่า “จากกรณีการเผยแพร่ภาพการใช้สีทอง ณ วัดโพธาราม ต.จรเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี บนเพจ TOA Panit บริษัททีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ต้องขออภัยกับผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบและขอน้อมรับทุกข้อแสดงความคิดเห็น พร้อมเข้าร่วมหารือแก้ไข เพื่อให้เกิดความเข้าใจเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้อง และพร้อมช่วยเหลือ สนับสนุน ป้องกัน มิให้เิดเหตุการณ์ขึ้นอีกในอนาคต”

โดยนายพิพัฒน์แชร์ภาพดังกล่าวพร้อมได้โพสต์ข้อความว่า เรื่องนี้ต้องแยก เป็น 2 กรณี กรณีแรก TOA ที่เป็นสปอนเซอร์ ต้องศึกษาเรื่องสีก่อนที่จะนำไปใช้ในการบูรณะโบราณสถาน และกรณีที่ 2 วัดที่กลุ่มคนร่วมงานไปทาสี กลุ่มคนร่วมทางควรต้องรับผิดชอบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทั้งนี้โดยมีรายละเอียด ดังนี้

“เป็นเรื่องดีที่บริษัท TOA ออกมาขอโทษและรับผิดชอบ คราวนี้จะแก้ไขปัญหาอย่างไร ผมคิดว่าต้องแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ

Advertisement

ส่วนแรก กรณีวัดที่ TOA ไปเป็นสปอนเซอร์นั้น ถ้าเป็นวัดเก่าหรือโบราณสถานควรต้องลอกสีทองออก แล้วบูรณะรับผิดชอบ จริงๆ มันเป็นเรื่องที่ดีที่บริษัทสีได้เข้ามาช่วยสนับสนุนการบูรณะโบราณสถานหรือวัดที่ยังใช้งาน แต่การจะช่วยคงต้องศึกษาให้มากขึ้นว่า สีที่จะไปทานั้นไปทาที่ไหน ที่อะไร

ส่วนที่สอง กรณีวัดที่กลุ่มคนร่วมทางไปทาสี กลุ่ม ‘คนร่วมทาง’ ควรต้องรับผิดชอบเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เรื่องนี้เราไม่อาจอ้างเรื่องบุญได้นะครับ มันเป็นเรื่องของหลักการบูรณะ เพื่อความยั่งยืนของศาสนสถานครับ

อย่างไรก็ดี ผมคิดว่า การที่คนร่วมทางก็ดี หรือชาวบ้านที่บูรณปฏิสังขรณ์วัดก็ดี และมักจะมีเหตุผลเสมอว่า เมื่อแจ้งกรมศิลปากรไปแล้วแต่ไม่มีการเข้ามาบูรณะนั้น (แน่นอนว่ามีเหตุผลหลายอย่าง) กรมศิลป์ก็อาจจะต้องมีอีกขาหนึ่งที่ทำความเข้าใจกับประชาชนให้เข้าใจปัญหาของกรมศิลป์เองและให้ชาวบ้านเข้าใจหลักการของการบูรณะเพิ่มมากขึ้นอีกครับ ทุกฝ่ายต่างหวังดีด้วยกันทั้งสิ้นแหละครับ

Advertisement

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผญบ.วัดโบสถ์สีทองชัยนาทเผยเป็นมติชาวบ้าน วอนเข้าใจบริบทชุมชน
ชาวบ้านจรเข้สามพัน ค้านเปลี่ยนสีวิหารทองวัดโพธาราม ลั่นกรมศิลป์ไม่เคยเหลียวแล
TOA แจงพร้อมแก้ปัญหา น้อมรับคำแนะนำ จะรอบคอบมากขึ้น
‘วัดโพธาราม’ โต้เปล่าขึ้น ‘โบราณสถาน’ แจง ‘วิหารทอง’ ฝีมือผู้มีจิตศรัทธา หลัง TOA ขึ้นโฆษณาหราหน้าเว็บ
กรมศิลปากรให้หยุดทาสีทับวัดเก่าทันที ชี้ผิดกฎหมาย-ทำลายโบราณสถาน
กรมศิลป์จ่อเอาผิดคนทาสีทองวัดเก่า หลังโซเชียลเดือด นักวิชาการโวยทำมา2ปีทำไมเพิ่งขยับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image