‘ศรีศักร’ ค้านกรมศิลป์จ่อเก็บ 2 ทับหลังไว้ พช.พระนคร ย้ำความหมายต่อท้องถิ่นต้องมาก่อน

‘ศรีศักร’ ค้านกรมศิลป์จ่อเก็บ 2 ทับหลังไว้ พช.พระนคร แนะเลิกนิทรรศการเน้นรูปแบบศิลปะ ย้ำความหมายต่อท้องถิ่นต้องมาก่อน

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม สืบเนื่องกรณีทับหลังปราสาทหนองหงส์ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ที่สหรัฐอเมริกาส่งคืนให้ไทย ได้เดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิแล้วเมื่อเย็นวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเบื้องต้นกรมศิลปากรมีแนวคิดว่าหลังการบวงสรวง และจัดแสดงให้ประชาชนเข้าชมที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) พระนคร จะเก็บรักษาไว้ใน พช.พระนครต่อไป โดยทำแบบจำลองเพื่อให้ท้องถิ่นนำไปจัดแสดง ด้วยเหตุผลด้านการเก็บรักษาโบราณวัตถุที่ดีกว่านั้น

ศาสตราจารย์พิเศษศรีศักร วัลลิโภดม นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง เจ้าของรางวัลวัฒนธรรมเอเชียฟูกูโอกะ กล่าวว่า ขณะนี้ท้องถิ่นตื่นตัวเรื่องความรักในมรดกวัฒนธรรมอย่างมาก ทับหลังที่ได้คืนมาทั้ง 2 ชิ้น เป็นมรดกวัฒนธรรมของท้องถิ่นเป็นอันดับแรก อันดับสองคือของชาติ ทั้งชาติ ทั้งรัฐ ทั้งท้องถิ่นมีสิทธิที่จะรักษาไว้ได้ อย่างไรก็ตาม ในแง่ที่ท้องถิ่นดูแลไม่ได้ รัฐต้องเข้ามาเกี่ยวข้องโดยการเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แล้วจำลองทับหลังไปไว้ที่ปราสาททั้ง 2 หลัง แต่ถ้าท้องถิ่นมีกำลัง ยืนยันว่าสามารถดูแลได้ ก็ต้องคืนให้ท้องถิ่น ซึ่งก็ต้องมีการตกลงกันระหว่างราชการกับท้องถิ่น แต่ไม่แน่ใจว่ากรมศิลปากรจะสามารถพูดให้ท้องถิ่นเข้าใจได้หรือไม่ หากไปพูดในลักษณะแสดงอำนาจ ก็จะเกิดปัญหา ในขณะเดียวกัน ถ้าท้องถิ่นทำเพื่อการท่องเที่ยวอย่างเดียวก็ไม่มีประโยชน์

“ทับหลัง 2 ชิ้นนี้เป็นทั้งสมบัติชาติ และสมบัติท้องถิ่น อย่างน้อยกรมศิลปากรต้องรู้ว่าความรู้สึกหวงแหนของคนท้องถิ่นเขามีแค่ไหน ถ้าเขาคิดว่าดูแลได้ ก็ต้องคุย ต้องตกลงกันว่าจะดูแลรักษาด้วยวิธีไหน กรมศิลป์ก็ต้องเป็นผู้ช่วยให้คำแนะนำวิธีการ เทคนิคทางวิชาการ ว่าต้องทำอย่างไร ต้องให้ความรู้ที่เชื่อมโยงกับสังคม วัฒนธรรมของเขา อยู่ที่ศักยภาพของกรมศิลปากรว่าเข้าใจสิ่งนี้หรือเปล่า” ศาสตราจารย์พิเศษศรีศักรกล่าว

Advertisement

ศาสตราจารย์พิเศษศรีศักรกล่าวว่า ส่วนกรณีที่อธิบดีกรมศิลปากรมีแนวคิดที่ว่าจะเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) พระนคร โดยทำแบบจำลองเพื่อให้ท้องถิ่นนำไปจัดแสดง ส่วนตัวมองว่า ถ้าจะเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจริงๆ ควรส่งไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ใกล้กับปราสาททั้ง 2 หลัง คือ พช.ปราจีนบุรี และ พช.พิมาย ไม่จำเป็นต้องเก็บไว้ที่ส่วนกลางในกรุงเทพฯ อย่าง พช.พระนคร ซึ่งมีทับหลังมากมายอยู่แล้ว

“ทับหลังมาจากจังหวัดไหน ก็ควรส่งคืนไปจังหวัดนั้น ถ้าจะเก็บในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ก็ควรเป็น พช. ในท้องถิ่น ไม่ใช่เก็บไว้ส่วนกลางในกรุงเทพฯ ถ้าเอามาเก็บที่ พช.พระนคร ก็ไม่มีความหมาย ทับหลังอย่างนี้มีทั่วราชอาณาจักร (หัวเราะ) จะเอามาเก็บไว้ที่นั่นทำไมเยอะแยะ

“การจัดนิทรรศการก็เหมือนกัน อย่าจัดแต่ในกรุงเทพฯ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในท้องถิ่นก็ต้องจัดด้วย โดยค้นคว้าและนำเสนอความหมายของทับหลังทั้ง 2 ชิ้นมาเผยแพร่ ทำงานวิชาการออกมาให้เห็น ไม่ใช่จัดแสดงแต่รูปแบบศิลปะ น่าเบื่อ ความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ในการให้ความรู้ชาวบ้าน ความหมายในการเป็นสิ่งสำคัญในศาสนสถานสำคัญกว่าสำหรับท้องถิ่น เลิกเสียทีสำหรับการจัดนิทรรศการที่เน้นประวัติศาสตร์ศิลป์ รูปแบบนั้น รูปแบบนี้ ศิลปะบาปวนอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ต้องทำให้เห็นว่ามีความเป็นมา และความสัมพันธ์กับสังคมวัฒนธรรมในท้องถิ่นอย่างไร ไม่ใช่เน้นศิลปะ แต่ต้องเน้นที่ความหมาย” ศาสตราจารย์พิเศษศรีศักรกล่าว

Advertisement

เมื่อสอบถามว่า จะเดินทางไปชมนิทรรศการเกี่ยวกับทับหลังปราสาทหนองหงส์และปราสาทเขาโล้นที่ พช.พระนครหรือไม่ ศาสตราจารย์พิเศษศรีศักรกล่าวว่า ตนคงไม่ไป ถ้าจัดแสดงแบบประวัติศาสตร์ศิลปะ เพราะดูแล้วเบื่อ จัดแบบซ้ำๆ ถ้ามีอย่างอื่นค่อยไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image