นักวิชาการศาสนาไขปมลึก วิวาทะ ‘ไพรวัลย์’ ชี้บทบาทเซเลบ-ผู้นำความคิด ทำคนคาดหวัง

เมื่อวันที่ 30 มกราคม สืบเนื่องกระแสวิพากษ์วิจารณ์อดีตพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ในประเด็นต่างๆ ในโลกออนไลน์ ผศ.ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน อาจารย์ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้สัมภาษณ์ ‘มติชน’ ต่อกรณีดังกล่าวว่า เมื่อครั้งยังเป็นพระภิกษุ พระมหาไพรวัลย์มีความสามารถในการพูดในการเจรจาในการแสดงธรรมด้วยภาษาที่ทำให้คนเข้าถึงได้ง่าย คนในสังคมเกิดความคาดหวัง โดยเฉพาะเมื่อเป็นผู้ที่แสดงโปรไฟล์ว่าตนมีบทบาทในระดับเซเลบ อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานะเปลี่ยนคนก็จะมองในอีกมุม

“ถ้าพูดแบบชัดๆ คือเมื่อตอนเป็นพระ เป็นผู้ที่มีความรู้ คนก็คาดหวังเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว โดยเฉพาะผู้ที่แสดงโปรไฟล์ หรือบทบาทในฐานะผู้นำทางความคิดมาก่อน ตอนสึกออกไป เหมือนคนจะคาดหวังว่าการเปลี่ยนสถานะจะเป็นแค่การเปลี่ยนจากเพศสมณะเป็นเพศฆราวาส แต่แนวทางซึ่งการแสดงความรู้ความสามารถบทบาทต่างๆ จะยังดำรงอยู่ อย่างไรก็ตาม พอมาอยู่ในอีกโลกหนึ่ง พอเป็นฆราวาส ก็มีปัจจัยหลายอย่างเท่ากับชีวิตคนคนหนึ่ง เมื่อบทบาทไม่เหมือนเดิม ในขณะที่คนยังมองในจุดที่เคยเชื่อ เคยเห็น จึงเกิดความรู้สึกว่าไม่เป็นตามที่คาดหวัง การถูกวิจารณ์เป็นเรื่องธรรมดา” ผศ.ดร.ชาญณรงค์กล่าว

ผศ.ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน

ผศ.ดร.ชาญณรงค์กล่าวต่อไป ส่วนกรณี นายสมปอง นครไธสง เมื่อครั้งเป็นพระภิกษุซึ่งก็มีคนนับถือจำนวนมาก และสึกในเวลาใกล้เคียงกัน ถามว่าทำไมคนจึงไม่คาดหวังมากเท่าอดีตพระมหาไพรวัลย์ นั่นเพราะขณะยังเป็นพระมหาสมปอง ไม่ได้แสดงบทบาทที่โดดเด่นในการเป็นผู้นำทางสังคม เป็นเพียงการเทศนาตลกเฮฮาสำหรับคนอีกระดับหนึ่ง และไม่ได้นำเสนอตนเองในการชนกับอำนาจรัฐหรืออำนาจพระผู้ใหญ่

“เขาก็มีคนลักษณะพิเศษอยู่ คือเป็นคนดังทั้งคู่ มีคนติดตามเยอะ แต่เป็นคนละแนว คนคาดหวังกับทิดสมปองมากน้อยแค่ไหนผมก็ไม่รู้ แต่ผมรู้สึกว่าคนในสังคมที่ติดตามสมปอง เป็นคนอีกแนวหนึ่งที่ไม่ได้คาดหวังเรื่องสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่มากเท่าไหร่ แต่เป็นลักษณะวัฒนธรรม การช่วยเหลือ สังคมสงเคราะห์ พอสึกไปก็ไปทำในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ตัวเองคุ้นเคย ในเชิงวัฒนธรรมในทางภาคอีสาน ไปเกี่ยวข้องกับหมอลำ ตลกบันเทิงอะไรก็ว่ากันไป ไม่ได้พรีเซ็นต์ตัวเองในการวิพากษ์วิจารณ์สังคม แต่ภาพของทิดไพรวัลย์เป็นคนละภาพ คนที่ติดตามก็จะเป็นคนละแนว คนที่ติดตามอดีตพระมหาไพรวัลย์น่าจะเป็นคนชั้นกลางค่อนข้างเยอะ และเป็นคนชั้นกลางที่คาดหวังเรื่องของสังคมที่จะพัฒนาก้าวหน้า คนเหล่านี้มีความคิด ไม่ยึดติดตัวบุคคลมาก หมายความว่า ถ้าไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เขาก็เปลี่ยนใจได้เสมอ” ผศ.ดร.ชาญณรงค์กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวสอบถามว่า ในอดีตเคยมีเหตุการณ์เช่นนี้ในวงการศาสนามาก่อนหรือไม่ ผศ.ดร.ชาญณรงค์กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าภิกษุที่ประกาศว่าเมื่อสึกแล้วจะทำอะไร และเข้าสู่วงการบันเทิง ไม่เคยมีพระรูปไหนพาตัวเองไปในระดับนั้น

สำหรับประเด็นเรื่องการสื่อสารนั้น โดยทั่วไปภิกษุที่ลาสิกขาบทออกมามักหางานทำเพื่อตั้งหลัก เพราะไม่มีใครขึ้นไปอยู่ในสถานะเซเลบในลักษณะเดียวกับทิดไพรวัลย์และทิดสมปอง

“โดยทั่วไปผู้ที่สึกใหม่ๆ จะไม่ใช้ภาษาแบบนี้ ไม่มีลักษณะการตอบโต้แบบนี้ แต่จะรู้สึกว่าตัวเองค่อยไม่รู้อะไรมากนัก ไม่ดึงดันขนาดนี้ ไม่เคยมีคนที่ดังตอนเป็นพระที่เมื่อสึกออกมาแล้วเกาะอยู่กับกระแส คนที่สึกออกมาส่วนใหญ่เขาก็หางานหาการธรรมดาทั่วไป ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินเพื่อตั้งหลักของตัวเองให้ได้ เพราะไม่มีใครที่ขึ้นไปอยู่บนสถานะเซเลบแล้วก็ยังกระโดดข้ามต่อไปอยู่บนยอดคลื่นของความดังของสังคม

Advertisement

ส่วนใหญ่คนที่สึกมาแล้ว จากที่อยู่เหนือคน เขาก็จะตกลงตกลงไปที่ศูนย์ จึงค่อนข้างระมัดระวังตัวเอง ส่วนความประพฤติปฏิบัติส่วนตัว ในวงการพระมีเยอะเหมือนกันที่สึกออกมาแล้วคิดว่าตัวเองมีความรู้มีความสามารถ เมื่อไปทำงานแล้วไม่ฟังใคร ดื้อรั้น ไม่เป็นที่ยอมรับ คิดว่าตัวเองมีความรู้กว่าคนอื่น ที่เป็นนักวิชาการก็มีเยอะ ที่ไม่สามารถเป็นที่ยอมรับในกลุ่มคนข้างนอกได้” ผศ.ดร.ชาญณรงค์กล่าว

ผศ.ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน

ผศ.ดร.ชาญณรงค์กล่าวว่า ถ้าคิดตามประเด็นที่สังคมตั้งขึ้นมา ขณะนี้คนเริ่มรู้สึกว่าพระพุทธศาสนาโดยภาพรวมมีปัญหาอยู่แล้ว บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายทั้งปวง ก็เหมือนเมินเฉยต่อโลก นอกจากนี้ คนมักคาดหวังว่าผู้ที่ได้บวชเรียนจะได้เรียนรู้และมีคุณลักษณะ 2 อย่างเป็นตราประทับคือการมีความรู้และการมีพฤติกรรมที่เหมาะสม

“พฤติกรรมที่เหมาะสมหมายถึง ความเป็นคนที่อ่อนน้อมถ่อมตน พูดจารู้จักกาละเทศะ รู้จักการวางตัวเอง รู้จักประเมินตัวเองว่าเป็นอย่างไร ในขณะที่ไพรวัลย์ไม่ยอมใคร พอฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์แล้วก็โต้กลับด้วยประเด็นต่างๆที่ตัวเองเชื่อว่าถูกต้องซึ่งเป็นวิถีชีวิตของเด็กรุ่นใหม่ที่เชื่อว่าตัวเองมีสิทธิบางอย่าง ไพรวัลย์ก็นำเสนอตัวเองในลักษณะอย่างนั้น คือพูดในสิ่งที่เชื่อว่าไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน และเป็นสิทธิที่จะประพฤติอย่างไรก็ได้ตราบเท่าที่ไม่ล่วงละเมิดใคร  เป็นแนวคิดของเสรีประชาธิปไตยที่เข้ามามีบทบาทต่อคนรุ่นนี้ จึงตัดสินพฤติกรรมของตัวเอง ตัดสินข้อพิพาทของคนอื่นบนฐานคิดแบบนี้ จึงดูเหมือนเป็นคนไม่ฟังใคร เพราะมั่นใจว่าสิ่งที่ทำอยู่บนพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพ ถ้ามองแบบเป็นธรรมที่สุดก็คือ ไพรวัลย์คิดบนหลักการแบบนี้” ผศ.ดร.ชาญณรงค์กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image