กรมศิลป์ชี้ ‘พระปรางค์-มณฑป’ วัดอรุณเอียง แต่ไม่กระทบฐานราก เล็งสแกน 3 มิติ

กรมศิลป์ชี้ ‘พระปรางค์-มณฑป’ วัดอรุณเอียง แต่ไม่กระทบฐานราก เล็งสแกน 3 มิติ ดูแนวโน้มการเอียง

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า กรณีมีข่าวว่าพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโบราณสถานที่สำคัญ จากผลการสแกนพระปรางค์วัดอรุณ พบว่าบริเวณองค์พระปรางค์ประธานทรุดตัวลงเล็กน้อย ทำให้พระปรางค์ทั้ง 4 ทิศ รวมทั้ง มณฑปทั้ง 4 ทิศ เริ่มเอียงเข้าหาพระปรางค์ประธานเล็กน้อยนั้น เป็นโครงการสำรวจโบราณสถาน โดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ มรดกศิลปวัฒนธรรม กรมศิลปากร ซึ่งทำหน้าที่เก็บข้อมูล มรดกศิลปวัฒนธรรมในระบบดิจิทัล วัดอรุณเป็นหนึ่งในวัดที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว จากการตรวจสอบพบว่าตัวมณฑปมีลักษณะเอียงจริง แต่เป็นการเอียงที่ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าจะเกิดอันตรายกับตัวโบราณสถาน อีกทั้ง ยังไม่ชัดเจนว่าเกิดการเอียงตั้งแต่เมื่อใด ตรงนี้เป็นจุดน่าสนใจที่จะต้องติดตามผล และเก็บข้อมูลเป็นระยะ

ด้านนายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะที่ปรึกษางานอนุรักษ์โบราณสถาน กรมศิลปากร กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่า ปลายมณฑปทิศเอียงตัวเล็กน้อย แต่ไม่ใช่องค์พระปรางวัดอรุณ ตรงนี้ยังต้องวิเคราะห์สาเหตุว่าการเอียงดังกล่าว เกิดขึ้นเพราะเหตุใด ซึ่งเป็นไปได้ว่าเอียงตั้งแต่การก่อสร้าง เอียงในช่วงการบูรณะ หรือเอียงตามลักษณะสถาปัตยกรรม แต่ส่วนฐานพระปรางค์ ไม่พบว่ามีปัญหาเรื่องโครงสร้าง จนถึงขั้นจะทำให้เกิดการพังทลายลงมา เท่าที่สังเกตด้วยสายตา และจากการเดินสำรวจโดยรอบ ยังไม่พบมุมใดมุมหนึ่งเกิดการทรุดตัว หรือเป็นหลุม ดังนั้น จึงยืนยันได้ว่าโครงสร้างตัวพระปรางค์ยังไม่มีปัญหาใดๆ อย่างแน่นอน

“จากจุดนี้ กรมศิลปากรจะตรวจสอบติดตาม โดยใช้เทคโนโลยีสแกนสามมิติ และเก็บข้อมูลภาพถ่าย เพื่อจะดูแนวโน้มการเอียง โดยจะมีกรอบเวลา 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง แสดงว่าการทรุดตัวมีแต่เดิม หรือหยุดนิ่งแล้ว ถ้าเก็บข้อมูลแล้วมีแนวโน้มขยับมากขึ้น จะไปสู่การวางแนวทางบูรณะ หรือซ่อมแซม ขณะนี้ยังไม่มีลางบอกเหตุจะนำไปสู่อันตราย แต่จำเป็นต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง เพราะเดิมเป็นการเก็บข้อมูลเพียงภาพถ่าย แต่ไม่มีการเปรียบเทียบภาพถ่ายในมุมซ้ำมุมเดิม จึงไม่เห็นภาพชัดเจน แต่การเก็บข้อมูลด้วยเทคโนโลยีสแกนครั้งนี้ จะทำให้เห็นรายละเอียด แนวโน้มอนาคตข้างหน้า อัตราการโน้มเอียง หรือการขยับตัวของพระปรางค์ได้ชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ ถ้าสำรวจทุก 3 เดือน หรือ 6 เดือนแล้ว พบมีการเอียงในอัตราที่รวดเร็ว จะส่งผลอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น แนวทางบูรณะโบราณสถานเบื้องต้น จะใช้วิธีการเสริมฐานราก หรือปรับปรุงคุณภาพฐานราก เพื่อหยุดการทรุดตัว” นายกิตติพันธ์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image