จริงหรือมั่ว ชัวร์หรือจ้อจี้? 5 เรื่อง ‘สุนทรภู่’ ที่เคยรู้อาจไม่จริง!

จริงหรือมั่ว ชัวร์หรือจ้อจี้? 5 เรื่อง ‘สุนทรภู่’ ที่เคยรู้อาจไม่จริง!

จริงหรือมั่ว ชัวร์หรือจ้อจี้ ?

ข้อมูลคุ้นชินหูที่ได้รับรู้ตั้งแต่เยาว์วัยเกี่ยวกับสุนทรภู่ มหากวีเอกของโลก แท้จริงแล้ว อาจไม่ใช่เช่นนั้นเสมอไป

ว่าแล้ว มาลิสต์รายการระดับพื้นฐาน 5 ข้อ ว่าสิ่งที่เคยรู้ กับข้อเท้จจริงทางประวัติศาสตร์นั้นเป็นอย่างไร

Advertisement
  • 1.สุนทรภู่ไม่ได้มี “อาชีพ” กวี

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นกวีเอก ถึงขนาดได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อ พ.ศ.2529 แต่แท้จริงแล้ว สุนทรภู่ไม่ได้มี “อาชีพ” เป็นกวีอย่างที่เข้าใจกันว่าท่านแต่งกลอนขายเลี้ยงชีพ เพราะในยุคต้นรัตนโกสินทร์ยังไม่มีเทคโนโลยีการพิมพ์ ที่ผลิตหนังสือได้คราวละมากๆ หากแต่ต้องนั่งหลังขดหลังแข็งคัดลอกด้วยมือลงในสมุดข่อยกันแรมเดือน มิหนำซ้ำ คน “รู้หนังสือ” ก็มีแต่พระสงฆ์กับชนชั้นสูงเท่านั้น ส่วนชาวบ้านร้านตลาดยังส่ายหน้าว่า “อ่านไม่ออก” แล้วจะแต่งกลอนไปขายใคร?
นิธิ เอียวศรีวงศ์ เจ้าของผลงานอมตะนิรันดร์กาลอย่าง “ปากไก่และใบเรือ” ที่ว่าด้วยวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (การค้าสำเภา) ยุคต้นรัตนโกสินทร์ ยกย่องสุนทรภู่เป็น “มหากวีกระฎุมพี” เป็น “อาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว” และนักปราชญ์ในราชสำนักฝ่ายก้าวหน้า ที่ฝักใฝ่อยู่กับเจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กับเจ้าฟ้าน้อย (พระนามเดิมของพระปิ่นเกล้าฯ) ซึ่งทั้ง 2 พระองค์ ทรงเป็นพระโอรสของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

สรุปง่ายๆ คือ สุนทรภู่มีอาชีพรับราชการ ในตำแหน่ง “อาลักษณ์” เป็นผู้ร่างเอกสารสำคัญของราชสำนัก ถือเป็นขุนนางผู้ใหญ่ในราชสำนักรัชกาลที่ 2 ส่วนงานกวีนิพนธ์เป็นความสามารถส่วนตัว ไม่ใช่อาชีพ

  • 2. สุนทรภู่ คนฝั่งธนฯ เกิดย่านวังหลัง ไม่ใช่ระยอง

ท่องกันมาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาว่าสุนทรภู่ครูกวีนั้น เป็นชาว “เมืองแกลง” จังหวัดระยอง โดยอ้าง “นิราศเมืองแกลง” ซึ่งระบุว่าท่านเดินทางไปเยี่ยมบิดาที่นั่น เลยถูกอนุมานว่าเป็นการ “กลับบ้านเกิด” แต่จริงๆ แล้ว ท่านถูกใช้ให้ไปหาบิดาซึ่งไปเมืองแกลงด้วยธุระราชการ ดังความตอนหนึ่งในนิราศเรื่องเดียวกันว่า “ถ้าเจ้านายไม่ใช้แล้วไม่มา”

Advertisement

ส่วนบ้านเกิดที่แท้จริง สุนทรภู่ “ปักหมุด” บอกโลเกชั่นไว้อย่างชัดแจ้งว่า “วังหลัง” (ต่างหาก) คือ “บ้านเก่า เหย้าเรือนแพ” ปรากฏใน “โคลงนิราศสุพรรณ” ความตอนนั้น มีอยู่ว่า

วังหลัง ครั้งหนุ่มเหน้า เจ้าเอย
เคยอยู่ชูชื่นเชย ค่ำเช้า
ยามนี้ที่เคยเลย ลืมพักตร์ พี่แฮ
ต่างชื่นอื่นแอบเคล้า คลาดแคล้วแล้วหนอ
เลี้ยวทางบางกอกน้อย ลอยแล
บ้านเก่าเหย้าเรือนแพ พวกพ้อง
เงียบเหงาเปล่าอกแด ดูแปลก แรกเอย
รำลึกนึกรักร้อง เรียกน้องในใจ

วังหลัง อยู่แถวปากคลองบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี ทุกวันนี้คือที่ตั้งของโรงพยาบาลศิริราช บริเวณอาคารปิยมหาราชการุณย์ แถบสถานีรถไฟธนบุรีหลังเก่า เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ

  • 3. สุนทรภู่ ไม่ใช่ขี้เมา คนเมาไม่มีทางเขียนได้ 60,000 คำกลอน

“ไม่เมาเหล้าแต่เรายังเมารัก สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน”

บทกลอนสุดฮอตจาก “นิราศภูเขาทอง” ของสุนทรภู่ที่ชวนให้ “มโน” ไปเองว่ากวีเอกผู้นี้ก็คงตั้งวงเป็นประจำทุกค่ำคืน แต่จริงๆ แล้ว ยังไม่มีหลักฐานมัดตัวสุนทรภู่ในข้อกล่าวหานี้เลย

จุดเริ่มต้นของความเชื่อที่ว่าท่านเป็นกวีขี้เมานั้นสาเหตุหลักไม่ได้มาจากเนื้อหาในบทกลอนหากแต่มาจากข้อเขียนของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง “ประวัติสุนทรภู่”

เรื่องสุนทรภู่เป็นคนขี้เมา ไม่มีการจดบันทึกเป็นกิจจะลักษณะ หรือแม้แต่คำบอกเล่าก็ไม่เคยพบ นอกจากที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอ้างว่าสุนทรภู่เป็นอาลักษณ์ขี้เมาเท่านั้น และแม้ว่าในนิราศภูเขาทองจะกล่าวถึงเหล้า แต่ก็ไม่ได้พิสูจน์ว่าท่านเป็นคนขี้เมา อีกทั้งผลงานของสุนทรภู่เฉพาะที่พบแล้วในปัจจุบันก็มีจำนวนมาก หากขี้เมาจะเอาเวลาที่ไหนไปเขียน

ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว ปราชญ์เมืองเพชร รวบรวมผลงานของสุนทรภู่ พบว่า สร้างไว้ไม่น้อยกว่า 60,000 คํากลอน ทั้งยังคํานวณว่า คนเราใช้เวลานอนในวันหนึ่ง ๆ ประมาณ 1 ใน 3 ทํากิจอื่น ๆ อีกประมาณเท่ากัน มีเวลาทํางานอย่างจริงจังประมาณไม่เกิน 8 ชั่วโมง หรือ 1 ใน 3 เช่นเดียวกัน

สุนทรภู่ถึงแก่กรรมเมื่ออายุประมาณ 70 ปี ประมาณว่าผลงานทั้งหมดผลิตขึ้นในช่วงอายุ 20-70 ปี
เวลาเขียนกลอนซึ่งประมาณสูงสุด 1 ใน 3 ก็เท่ากับประมาณ 16 ปี ในช่วง 16 ปี สุนทรภู่มีผลงานเป็นกลอนประมาณ 60,000 คำกลอน เฉลี่ยปีละประมาณ 3,600 คำกลอน เดือนละ 300 คำกลอน และวันละ 10 คำกลอน

คนขี้เมา ทำไม่ได้แน่นอน

ครั้นจะเทียบกับ ‘โกวเล้ง’ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ ม.รามคำแหง มองว่า ไม่ควรเทียบกัน เนื่องจากบริบทต่าง ห่างกันด้วยเงื่อนไขของเวลาถึง 150 ปี เทคโนโลยีการเขียน การพิมพ์คนละเรื่อง คนละชั้น ไม่อาจเทียบเคียงกันได้

  • 4. พระอภัยมณี เป่าปี่อยู่อันดามัน ไม่ใช่อ่าวไทย

สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ระบุว่า ฉากพระอภัยมณี ไม่ใช่อ่าวไทย หรือ “ทะเลหน้าใน” ฝั่งทะเลตะวันออกแถบ จ. ระยอง ตามที่เคยเชื่อถือกันมานาน สุนทรภู่เขียนบอกไว้ในพระอภัยมณีว่าศูนย์กลางของเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นบริเวณชื่อ “นาควารินทร์” ในทะเลอันดามัน และตอนต้นเรื่องสุนทรภู่ก็บอกเบาะแสซ่อนไว้ด้วย

พระอภัยมณี เปิดเรื่องด้วยกล่าวถึงท้าวสุทัศน์ ครองกรุงรัตนา มีโอรส 2 องค์ คือ อภัยมณี กับ ศรีสุวรรณ (สุทัศน์ แปลว่า พระอินทร์, รัตนา แปลว่า แก้ว ล้วนเป็นสัญลักษณ์ของกรุงรัตนโกสินทร์ คือ กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ เป็นเมืองสวรรค์ของพระอินทร์ มีแก้วสีเขียว)

เมื่อท้าวสุทัศน์ขับไล่พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณออกจากเมือง เพราะโกรธที่ไปเรียนวิชาเป่าปี่และกระบี่กระบอง สองพี่น้องเลยพากันเดินทางจากกรุงรัตนานานราวเดือนเศษไปทางช่องสิงขร (จ. ประจวบคีรีขันธ์) ออกไปทางทะเลอันดามัน มีร่องรอยอยู่ในกลอน ดังนี้

แต่เดินทางกลางเถื่อนได้เดือนเศษ ออกพ้นเขตเขาไม้ไพรสิงขร
ถึงเนินทรายชายทะเลชโลทร ในสาครคลื่นลั่นสนั่นดัง

สิงขร หมายถึงช่องสิงขร เป็นช่องระหว่างขุนเขาตะนาวศรีที่ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมไปมาระหว่างเขตแดนไทยกับพม่า เขตไทย เป็น จ. ประจวบคีรีขันธ์ ริมฝั่งอ่าวไทย ทะเลจีนมหาสมุทรแปซิฟิก เขตพม่า เป็นเมืองมะริด (Mergui) อ่าวเบงกอล ทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย

ช่องสิงขร นอกจากเป็นเส้นทางพระอภัยมณีเดินดงแล้วยังพบนางผีเสื้อ (สมุทร) ที่ชายทะเล (เป็นเส้นทางม้าสีหมอกของขุนแผนด้วย ส่วนกลอนเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน แต่งให้ม้าสีหมอกเป็นม้าเทศ (อาหรับ) ลงเรือจากเมืองเทศมาขึ้นฝั่งที่เมืองมะริด แล้วต้อนฝูงม้าเทศผ่านช่องสิงขรไปกุย, ปราณ, ชะอำ เลี้ยงไว้ที่เมืองเพชรบุรี) นั่นเอง

  • 5. วันเกิดสุนทรภู่ อาจไม่ใช่ 26 มิถุนา

ท่องจำกันตลอดมา ซ้ำยังได้รับการสถาปนาเป็นวันสุนทรภู่ โดยระบุว่าคือวันคล้ายวันเกิด 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329

อย่างไรก็ตาม นั้นเป็นเพียง วันเดือนปี “สมมุติ” เพราะ

(1.) ไม่ได้รู้มาจากการจดบันทึกของบิดาและมารดาของสุนทรภู่ และ
(2.) ไม่ได้รู้มาจากปากคำ หรือจากวรรณกรรมที่สุนทรภู่เขียนบอกไว้

วันดือนปีเกิดของสุนทรภู่ที่รู้จักแพร่หลายทุกวันนี้ ได้จากกระบวนการทางโหราพยากรณ์ หรือการคาดคะเนเทียบเคียงดวงชาตาบุคคลมีชื่อเสียงอื่นๆ ของโหรสมัยเมื่อสุนทรภู่ถึงแก่กรรมไปนานแล้ว ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมีพระนิพนธ์บอกไว้ในประวัติสุนทรภู่ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2465)
ความตอนหนึ่งว่า

‘ที่ดวงชาตาของสุนทรภู่มีอยู่ในตำราดวงชาตานั้น คงเป็นเพราะผู้พยากรณ์แต่ก่อนเห็นว่าสุนทรภู่ทรงคุณสมบัติในกระบวนแต่งกลอนเป็นอย่างวิเศษ นับว่าเป็นวิสามัญบุรุษผู้หนึ่ง แต่จดจำคำอธิบายแถมไว้ข้างใต้ดวงชาตาว่า สุนทรภู่อาลักษณ์ขี้เมา ดังนี้ด้วย หมายความว่าเป็นผู้ทรงทั้งความดีและความชั่วระคนปนกัน อันเป็นความจริงตามเรื่องประวัติของสุนทรภู่’

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image