ผู้เชี่ยวชาญศิลปะอินเดียฟันธง ‘จักรสัมฤทธิ์’ ทำในท้องถิ่น แจงรายละเอียดลึกซึ้ง แนะศึกษาปมไวษณพนิกาย

สืบเนื่องกรณีการขุดค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมากที่เขาพระรายณ์ หรือเขาศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งสันนิษฐานว่าคือรัฐโบราณ ‘พันพัน’ ในเอกสารจีนร่วมสมัยยุคศรีวิชัยเมื่อราว 1,300 ปีก่อน โดยโบราณวัตถุสำคัญคือ ‘จักรสัมฤทธิ์’ ซึ่งพบเป็นครั้งแรกของประทศไทย โดยนักโบราณคดีสันนิษฐานว่า อาจเป็นจักรของพระวิษณุ หรือพระโพธิสัตว์ในลัทธิมหายาน กระทั่งมีการเรียกร้องให้ศึกษาอย่างละเอียดพร้อมจัดแสดงให้ชาวบ้านในท้องถิ่นได้ชมนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ รศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะอินเดีย กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากรูปแบบลวดลายของจักร เชื่อว่าไม่ใช่โบราณวัตถุที่นำเข้ามาจากอินเดีย แต่ถูกทำขึ้นในท้องถิ่นอย่างแน่นอน เนื่องจากบริเวณซี่จักรปรากฏสิ่งที่เรียกว่า ‘อามลกะ’ หรือรูปจำลองของมะขามป้อม มีลักษณะเป็นกลีบ คล้ายกลีบมะเฟือง ถัดลงไปคือรูปใบไม้แผ่ออกเป็นรูปร่างคล้ายสามเหลี่ยม ซึ่งเป็นรูปแบบศิลปะ “ทวารวดี-ศรีวิชัย” ไม่ใช่ลวดลายของจักรในอินเดีย ส่วนที่มีผู้สันนิษฐานว่า นอกจากเป็นจักรของพระวิษณุแล้วอาจเป็นจักรของโพธิสัตว์ฝ่ายมหายานก็ได้นั้น ตนไม่เห็นด้วย เพราะเขาศรีวิชัยนับถือไวษณพนิกายเป็นหลัก ไม่ใช่พุทธมหายาน มองว่าสิ่งที่ควรดำเนินการต่อไปคือการศึกษาแหล่งโบราณคดีที่เขาศรีวิชัยในฐานะศูนย์กลางใหญ่ของไวษณพนิกาย

“จักรสัมฤทธิ์ชิ้นนี้ นี้มีซี่จักรและอามลกะ ถัดมาเป็นรูปใบใม้ที่แผ่ออกเป็นสามเหลี่ยม ซึ่งเป็นศิลปะทวารวรดี-ศรีวิชัย ในขณะที่ในศิลปะอินเดียโบราณ ถึงศิลปะอมราวดี ไม่มีลวดลายแบบนี้ ส่วนในศิลปะอินเดียแบบปาละก็เป็นรูปกลีบบัว เพราะฉะนั้นนี่คือของท้องถิ่นอย่างแน่นอน ไม่ได้มาจากอินเดีย ลวดลายแบบนี้ลงมาทางไชยา สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นศรีวิชัยที่ได้รับอิทธิพลทวารวดี ไชยากับพุนพินก็ตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน ส่วนที่มีผู้สันนิษฐานว่านอกจากเป็นจักรของพระวิษณุ ก็อาจเป็นของโพธิสัตว์มหายานนั้น ผมไม่เห็นด้วย เพราะเขาศรีวิชัยเคยพระประติมากรรมพระวิษณุ แสดงถึงการนับถือไวษณพนิกายเป็นหลัก

นอกจากนี้ พระโพธิสัตว์ที่ถือจักรในฝ่ายมหายานมีน้อยมาก หากจะมีก็คือโพธิสัตว์สถิรจักร ซึ่งไม่ได้นิยมนับถือกันทั่วไป ในขณะที่วัฒนธรรมทวารวดี-ศรีวิชัย มักนับถือโพธิสัตว์องค์สำคัญๆ อย่าง อวโลกิเตศวร สำหรับสิ่งที่ควรทำต่อไปมี 2 อย่างคือ 1. ศึกษาแหล่งโบราณคดีนี้ในฐานะศูนย์กลางใหญ่ของไวษณพนิกายซึ่งมีตั้งแต่เมืองไชยา ลงมาถึงเขาศรีวิชัย ลงไปถึงนครศรีธรรมราช ว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างไรบ้าง 2. ศึกษารูปแบบจักรโดยเปรียบเทียบกับอินเดียทั้งรูปแบบ ลวดลายรวมถึงกระบวนการหล่อด้วย” รศ.ดร.เชษฐ์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image