‘บิ๊กป้อม’หัวหน้า-‘พัชรวาท’กุนซือ ‘พปชร.’ปรับทัพ-รับสูตรตั้งรบ.

มติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 3/2566 ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา นอกจากเป็นการเตรียมความพร้อม ส.ส.ของพรรค ในการประชุมรัฐสภา วันที่ 4 สิงหาคม เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 3

ในการประชุมสามัญพรรค ยังมีวาระการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดใหม่เพื่อปรับโครงสร้างทดแทน กก.บห.บางคนที่ลาออกไปอยู่พรรคการเมืองอื่น ในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา

ที่ฮือฮา คือ เกมการลาออกจากหัวหน้าพรรค พปชร. ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เพื่อให้ กก.บห.ชุดปัจจุบัน พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ประกอบด้วย 1.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค 2.นายสันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรค 3.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค 4.นายวิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหน้าพรรค 5.นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค 6.นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรค 7.นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ กรรมการบริหาร 8.น.ส.ประภาพร อัศวเหม กรรมการบริหาร 9.นายอภิชัย เตชะอุบล กรรมการบริหารพรรค

10.นายสกลธี ภัททิยกุล กรรมการบริหารพรรค 11.นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ กรรมการบริหารพรรค 12.พล.อ.ธัญญา เกียรติสาร กรรมการบริหาร 13.นายยงยุทธ สุวรรณบุตร กรรมการบริหาร 14.นายรงค์ บุญสวยขวัญ กรรมการบริหาร 15.นายอรรถกร ศิริลัทธยากร กรรมการบริหาร 16.พล.อ.กฤษณ์โยธิน ศศิพัฒนวงษ์ นายทะเบียนสมาชิกพรรค

Advertisement

ขณะเดียวกันที่ประชุมพรรค มีมติเลือก กก.บห.ชุดใหม่ โดยที่ประชุมเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค พปชร.อีกครั้ง เพียงชื่อเดียว พร้อมกับเสนอชื่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา

เป็นเลขาธิการพรรค เพียงชื่อเดียวเช่นกัน ซึ่งที่ประชุมให้การรับรองผลการเลือก กก.บห.ชุดใหม่ ทั้ง 21 คน ดังนี้

1.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค 2.นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง 3.นายวิรัช รัตนเศรษฐ 4.นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 5.นายไพบูลย์ นิติตะวัน 6.น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองหัวหน้าพรรค

Advertisement

7.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา เป็นเลขาธิการพรรค 8.นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็นเหรัญญิกพรรค 9.พล.อ.กฤษณ์โยธิน ศศิพัฒนวงษ์ เป็นนายทะเบียนพรรค

10.นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ ส.ส.นราธิวาส 11.นายยงยุทธ สุวรรณบุตร 12.นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.ฉะเชิงเทรา 13.นายสกลธี ภัททิยกุล 14.นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ 15.นายอภิชัย เตชะอุบล 16.นายอัครวัฒน์ อัศวเหม 17.นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา ส.ส.ราชบุรี 18.นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร 19.นายสุธรรม จริตงาม ส.ส. นครศรีธรรมราช 20.นายกระแสร์ ตระกูลพรพงศ์ ส.ส.หนองคาย และ 21.น.ส.กาญจนา จังหวะ ส.ส.ชัยภูมิ เป็นกรรมการบริหารพรรค

อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญ คือ พล.อ.ประวิตร ในฐานะหัวหน้าพรรค ลงนามคำสั่งพรรค พปชร. ที่ 113/2566 แต่งตั้ง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชาย เป็นประธานที่ปรึกษาพรรค

นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งที่ 114/2566 แต่งตั้ง นายวราเทพ รัตนากร เป็นผู้อำนวยการสำนักงานพรรค โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคมเป็นต้นไป

ที่ต้องโฟกัส คือ ตำแหน่งเลขาธิการพรรค พปชร.ที่ ร.อ.ธรรมนัส หวนคืนกลับมาทำหน้าที่แม่บ้านพรรคอีกครั้ง โดยมีการเชื่อมโยงว่า การเข้ามาทำหน้าที่เลขาธิการพรรคในช่วงเวลานี้ สอดคล้องกับการทำหน้าที่ คณะเจรจาของพรรค พปชร. กับแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) เพื่อร่วมกันหาทางออกให้ประเทศ ผ่านโมเดลการจัดตั้งรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า โดยมีสูตรที่ว่าพรรค พปชร.จะเป็นหนึ่งในพรรคที่ร่วมฟอร์มคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้พรรค พท.เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่

ขณะที่อีกหนึ่งตำแหน่งที่ต้องจับตา คือ ประธานที่ปรึกษาพรรค ที่ พล.อ.ประวิตร แต่งตั้ง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชาย ซึ่งมีการวิเคราะห์กันต่อว่า การเปิดชื่อ พล.ต.อ.พัชรวาท มาอยู่เบื้องหน้า มีความเชื่อมโยงกับสูตรการจัดตั้งรัฐบาล หากพรรค พปชร.ได้เข้าร่วมด้วย และดีลลงตัว อาจได้เป็นส่วนหนึ่งใน ครม.ชุดดังกล่าว

สำหรับ พล.ต.อ.พัชรวาท ชื่อเล่น “ป๊อด” อายุ 74 ปี เป็นน้องชาย ของ พล.อ.ประวิตร และ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ ส.ว. ผ่านตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนที่ 35 ในรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช รัฐบาล สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ช่วงปี 2551-2552

ประวัติรับราชการตำรวจ ผ่านตำแหน่ง รอง สว. กองบังคับการการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สว.ธุรการ กองกำกับการกำลังพล กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการสอบสวนกลาง ผกก.5 และ ผกก.3 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ผู้บังคับการกองพลาธิการ กรมตำรวจ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ผู้บัญชาการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในปี 2551 ต่อมาในปี 2549 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และปี 2557 ได้รับแต่งตั้งเป็น สนช.อีกครั้ง

ส่วนโครงสร้างใหม่ของ พรรค พปชร.จะตอบโจทย์ทางการเมือง บรรลุเป้าหมายร่วมเป็นหนึ่งในสูตรการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ หลังการโหวตเลือกนายกฯ วันที่ 4 สิงหาคมนี้ คงได้เห็นความชัดเจน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image