ข้อควรระวังสำคัญสองประการ สำหรับผู้บังคับบัญชาทหารและกำลังพลทหาร ในช่วงจะมีการเลือกตั้งทั่วไป

ข้อควรระวังสำคัญสองประการ สำหรับผู้บังคับบัญชาทหารและกำลังพลทหาร

ตามที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้ ซึ่งจะมีกิจกรรมต่างๆ ของนักการเมืองและพรรคการเมืองเกิดขึ้นมากมาย และนักการเมืองกับพรรคการเมืองก็สนใจในการที่จะมาหาเสียงกับกำลังพลทหาร ซึ่งปฏิบัติงานและมีที่พักในเขตสถานที่ราชการทหาร ซึ่งมีข้อควรคำนึง หรือระมัดระวังยิ่งของผู้บังคับบัญชาทหารและกำลังพลทหารทุกระดับในการวางตัวเป็นกลางทางการเมือง ปฏิบัติตามกฎหมายการเลือกตั้ง มติคณะรัฐมนตรี มติสภากลาโหม และคำสั่งหรือนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแล้ว ยังต้องปฏิบัติตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยข้าราชการกลาโหมกับการเมือง พ.ศ.2499 ซึ่งปัจจุบันยังมีผลใช้บังคับต่อทหารทุกนาย มีการกำหนดให้กระทำการ เช่น การวางตนเป็นกลางทางการเมือง หรือห้ามกระทำการ เช่น ไม่บังคับผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ไม่โฆษณาหาเสียงเพื่อประโยชน์แก่พรรคการเมืองหรือแสดงการสนับสนุนพรรคการเมืองใดๆ ปรากฏแก่ประชาชน ไม่ช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้ง ไม่กีดกันตำหนิ ติเตียนทับถม หรือให้ร้ายผู้สมัครรับเลือกตั้ง

แต่ผู้บังคับบัญชาทหารหรือกำลังพลทหารบางนายอาจละเลย หลงลืม หรือไม่ใส่ใจในข้อห้ามสองเรื่องที่สำคัญและน่าสนใจภายใต้ข้อบังคับนี้ คือ

1) การจะให้นักการเมืองหรือพรรคการเมืองจะมาหาเสียงกับกำลังพลในหน่วยทหารหรือกำลังพลกับครอบครัวซึ่งมีที่พักอยู่ในเขตหน่วยทหารนั้น จะสามารถมาหาเสียงได้เฉพาะที่สโมสรหรือแหล่งสมาคมซึ่งมีระเบียบการให้ใช้ได้เป็นครั้งคราวโดยเสียค่าบริการ สถานที่อื่นในหน่วยทหารไม่ว่าที่ทำงาน บ้านพัก สนามกีฬา ลานออกกำลังกาย ร้านค้าไม่อาจไปหาเสียงได้เลย ตามที่กำหนดในข้อ 8 (1) แห่งข้อบังคับดังกล่าว สรุปได้ว่า ห้ามมิให้ผู้บังคับบัญชาทหารใช้หรือยอมให้ผู้อื่นใช้เขตสถานที่ราชการในกิจการทางการเมืองไม่ว่าด้วยการกระทำหรือด้วยวาจา ยกเว้นสโมสรซึ่งมีระเบียบการให้ใช้ในกิจการต่างๆ ได้เป็นครั้งคราวโดยเสียค่าบริการ ซึ่งบ้านพักของกำลังพลทหาร สนามกีฬา ลานออกกำลังกาย และร้านค้าที่ตั้งในหน่วยทหารถือว่าอยู่ในเขตสถานที่ราชการทหาร ผู้เขียนเห็นว่า ข้อห้ามนี้แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นใน พ.ศ. 2512 เคร่งครัดเกินไปสมควรมีการพิจารณาทบทวนถึงความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งในระหว่างรับราชการได้เสนอให้มีการพิจารณาทบทวน แต่ไม่ได้รับความสนใจ

2) ไม่วิพากษ์วิจารณ์การกระทำของรัฐบาลให้ปรากฏแก่ประชาชน ตามที่กำหนดในข้อ 8 (2) ซึ่งส่วนใหญ่เข้าใจว่าต้องไม่พูดในเชิงลบ ตำหนิ ติเตียนรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี เป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน การวิพากษ์วิจารณ์นั้นตามหลักภาษาไทยรวมถึงการชมด้วย ซึ่งสามารถสรุปความเห็นของสำนักงานราชบัณฑิตสภาในเรื่องนี้ได้ว่า คำว่า “วิจารณ์” หมายถึงการแสดงความคิดติหรือชม แสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หรือแสดงความยกย่องชื่นชม บางครั้งใช้ร่วมกับคำว่า “วิพากษ์” เป็น “วิพากษ์วิจารณ์” คำว่า “วิจารณ์” ใช้ได้ทั้งทางติและชม แต่โดยทั่วไปคนมักจะเข้าใจว่าวิจารณ์ใช้หมายถึงติมากกว่าชม ดังนั้น การที่กำลังพลทหารไปกล่าวชมรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีในที่สาธารณะหรือผ่านสื่อมวลชนตลอดจนสื่อออนไลน์ไปปรากฏต่อประชาชนเข้าข่ายฝ่าฝืนข้อห้ามกระทำนี้

Advertisement

แต่หากกำลังพลทหารไปกล่าวชมรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีในที่ประชุมส่วนราชการหรือกับกลุ่มเพื่อนไม่เข้าข่ายฝ่าฝืนข้อห้ามนี้แต่อย่างใด เพราะไม่ได้ปรากฏต่อประชาชนหรือสาธารณชน การห้ามวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลตามข้อบังคับนี้ห้ามแม้นอกเวลาราชการ หรือแม้ไม่สวมเครื่องแบบทหาร อนึ่ง แนวทางปฏิบัติในห้วงที่มีการเลือกตั้งของกระทรวงกลาโหม ซึ่งปลัดกระทรวงกลาโหมซึ่งได้รับมอบอำนาจให้ทำการแทนและสั่งการในนามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้อนุมัติเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ให้หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพถือปฏิบัตินั้น ในข้อ 2.2.1 กำหนดสรุปได้ว่า ห้ามกำลังพลของกระทรวงกลาโหมวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของรัฐบาลหรือกลุ่มการเมืองให้ปรากฏแก่ประชาชนในทางเสียหาย ซึ่งหมายความให้เข้าใจได้ว่ากำลังพลของกระทรวงกลาโหมสามารถชมการกระทำของรัฐบาลหรือกลุ่มการเมืองได้ แต่ห้ามกล่าวติเตียนหรือกล่าวในเชิงลบ ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการกล่าวชมให้ปรากฏแก่ประชาชนนั้นไม่เป็นกลางทางการเมือง ทั้งนี้ การที่แนวทางปฏิบัติดังกล่าวไปเพิ่มข้อความ “ในทางเสียหาย” ขึ้น ซึ่งไม่มีในข้อบังคับกระทรวงกลาโหมข้างต้นที่มีศักดิ์ทางกฎหมายสูงกว่าที่ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากสภากลาโหมมาแล้ว และมีที่มาจากมติคณะรัฐมนตรี ย่อมไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่จะให้ข้าราชการกลาโหมเป็นกลางทางการเมือง ส่วนการไปเพิ่มข้อความห้ามวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มการเมืองนอกเหนือจากรัฐบาลนั้นเป็นเรื่องที่ดี ไม่มีปัญหาหรือส่งผลไม่เป็นกลางทางการเมืองแต่อย่างใด เป็นแนวทางทำให้ข้าราชการกลาโหมเป็นกลางทางการเมืองที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การฝ่าฝืนข้อห้ามข้างต้นนั้นมีโทษของการละเมิดฝ่าฝืนอย่างไร นอกเหนือจากความรับผิดทางวินัยทหารตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช 2476 แล้ว อาจต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา 32 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดเป็นทหาร และมันขัดขืนหรือละเลยมิกระทำตามข้อบังคับอย่างใดๆ ท่านว่ามันมีความผิด ต้องระวางโทษตามสมควรแก่เหตุดังจะว่าต่อไปนี้ คือ 1) ถ้ามันได้กระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชศัตรู ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันตั้งแต่ปีหนึ่งขึ้นไปจนถึงสิบปี 2) ถ้ามันมิได้กระทำความผิดนั้นต่อหน้าราชศัตรู แต่ได้กระทำในเวลาสงคราม หรือในเขตซึ่งอยู่ในอำนาจกฎอัยการศึกไซร้ ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันตั้งแต่สามเดือนขึ้นไปจนถึงห้าปี 3) ถ้ามันได้กระทำความผิดนั้นในเวลาหรือที่อื่นนอกจากที่ว่ามาแล้ว ท่านให้ลงอาญาจำคุกมันไม่เกินกว่าสามปี”

สรุป ใกล้เข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปแล้วผู้บังคับบัญชาทหารและกำลังพลทหารนอกจากต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง ปฏิบัติตามกฎหมายการเลือกตั้ง มติคณะรัฐมนตรี มติสภากลาโหม และคำสั่งหรือนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแล้ว ยังต้องปฏิบัติตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมข้างต้น ซึ่งมีข้อควรระวังสองประการที่อาจผิดพลาดได้ง่าย แล้วอาจต้องรับผิดทั้งทางวินัยและอาญาทหาร ซึ่งสมควรมีการเผยแพร่ข้อควรระวังสองประการนี้ให้กับผู้บังคับบัญชาทหารและกำลังพลทหารได้ทราบและเข้าใจ เพื่อปฏิบัติได้ถูกต้อง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสมควรพิจารณาทบทวนข้อบังคับทั้งฉบับที่ใช้บังคับมาตั้งแต่ พ.ศ.2499 ว่าเหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบันหรือไม่ เพียงใด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image