‘ขุนพันธ์’ ตัวจริง เล่านาที ‘ยิงกันจนลูกปืนหมด’ โจรกัด กัดตอบ ควักตา-หนีบใต้โสร่งจนอึแตก!

ขวา-ขุนพันธ์ หรือ ขุนพันธรักษ์ราชเดช (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, 2526)

กลายเป็นกระแสร้อนแรงอย่างยิ่ง สำหรับภาพยนตร์ ขุนพันธ์ 3 ทั้งตัวหนังที่ได้รับคำชื่นชมล้นหลาม ไปจนถึงประเด็นวิพากษ์อย่างหนักกรณีถูกลดรอบฉายจนสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยต้องออกแถลงการณ์ (อ่านข่าว สมาคมผู้กำกับ ภ.ไทย ยกกรณี ‘ขุนพันธ์ 3’ ร้องจัดโรง-รอบฉายไม่เป็นธรรม ตัดโอกาสทำผู้สร้างไม่กล้าลงทุน)

ขุนพันธ์ เวอร์ชั่นจอเงิน รับบทโดย อนันดา เอเวอริ่งแฮม พระเอกหนุ่มที่เพิ่งเข้าสู่ประตูวิวาห์อย่างหวานซึ้งไปหมาดๆ ขณะที่ขุนพันธ์ตัวจริง คือ พลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช มีชีวิตอยู่ระหว่าง ปี 2446-2549

นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ระบุข้อมูลของขุนพันธ์ไว้ว่า มีนามเดิมคือ บุตร พันธรักษ์ (18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446 – 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2549) ดำรงตำแหน่งอดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 8 นับเป็นมือปราบระดับพระกาฬในตำนาน บ้านเดิมอยู่บ้านอ้ายเขียว ท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช มีประวัติการปราบเสืออย่างโชกโชน นับแต่จบหลักสูตรนายร้อยใน พ.ศ. 2472

ในปี 2474 ขุนพันธ์รับตำแหน่งผู้บังคับหมวดกองเมืองพัทลุง ปราบเสือสังหรือเสือพุ่ม เสือร้ายแหกคุกมาจากเมืองตรัง ในปีถัดมาสำเร็จโทษเสือร้ายในพื้นที่อีก 16 ราย ถึงปี 2479 ลงไปปราบ “อะแวสะดอตาเละ” โจรร้ายแห่งนราธิวาส

Advertisement

“ตอนย้ายไปอยู่สงขลา ไปปราบโจรการเมืองอะแวสะดอตาเละ พ่อมันเป็นโต๊ะใหญ่ เป็นมุสลิมอยู่บ้านตะโล๊ะบากู นราธิวาส พวกมุสลิมเขามีคล้ายคนไทยเป็นไสยศาสตร์ เขาเนื้อหนังดี” ขุนพันธ์กล่าวถึงจอมโจรชาวมุสลิม

โจรคนนี้ร้าย มันจะเอาเมืองคืน ปล้นฆ่าแต่คนไทย จีนไม่ทำ ฝรั่ง แขกก็ไม่ทำ วิธีฆ่าก็ทารุณ จับมาได้จิกผม งัดปาก เอากริชหยอดคอ แล้วชักไส้ออกมา ปราบหลายครั้งปราบมันไม่ลง จนมันดูถูกเอา มันชักธงรบบนเขาแกและ เขาลูกนี้ขึ้นลงได้สามจังหวัด มันว่ามันยึดแล้ว สุดท้ายจับได้ ได้เครื่องรางของมันหลายชิ้น”

ขุนพันธ์ในวัยหนุ่ม

สำหรับสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้น สยามเพิ่งยกเลิกการปกครองแบบมณฑลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยามพุทธศักราช 2476 ทำให้มณฑลปัตตานีถูกแบ่งเป็น 3 จังหวัดคือ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส แต่ความพยายามในการครอบงำรัฐปัตตานีเดิมมีมานานตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มตั้งแต่การแบ่งแยกปัตตานีออกเป็นเจ็ดหัวเมือง แล้วให้อยู่ใต้การดูแลของนครศรีธรรมราชเพื่อลดอำนาจของเจ้าเมืองมลายูเดิม ในสมัยรัชกาลที่ 1

Advertisement

ส่วน ขุนพันธ์ หลังปราบอะแวสะดอตาเละได้แล้วก็ถูกย้ายไปปราบเสือหลายแห่งในภาคกลาง มีเสือเลื่องชื่อหลายคนต้องสิ้นฤทธิ์ด้วยมือปราบ “ขุนพันดาบแดง” จนเสือบางกลุ่มนับถือเรียกขุนพันธ์ว่าเป็นอาจารย์ ทำให้ขุนพันธ์เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกเดียวกับเสือมาแล้ว

พ.ศ. 2486 ย้ายขึ้นพิจิตรปราบเสือโน้ม

พ.ศ. 2489 ย้ายลงมาเป็นผู้กํากับการตํารวจภูธรชัยนาท พร้อมทั้งได้รับการแต่งตั้งเป็นรองผู้อํานวยการกองปราบพิเศษของกรมตํารวจ ลุยปราบชุมโจรสุพรรณ อาทิ เสือฝ้าย เสือผ่อน เสือครึ้ม เสือปลั่ง เสือใบ เสืออ้วน เสือไหว เสือมเหศวร รวมถึงเสือไกรและเสือวันแห่งชุมโจรอําเภอพรานกระต่าย กระทั่งได้รับ ฉายาจากชุมเชื่อว่า “ขุนพันดาบแดง”

ปี 2491 ขุนพันธ์ถูกย้ายลงพัทลุงเพื่อกำราบชุมโจรเกิดใหม่อีกครั้ง กระทั่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บังคับการตำรวจเขต 8 ก่อนเกษียณ

ทั้งนี้ ขุนพันธ์เคยเล่าเรื่องจับโจรตอนหนึ่งที่ประทับใจว่า

“สนุกตอนไปจับโจรที่ห้วยกรวด มีนักเลงเก่าเป็นเพื่อนกับไอ้สังนำทาง แกบอกว่าเป็นนายร้อยเคยจับอะไรได้บ้าง อย่างนี้ต้องไปตามสิบตรีคลุ้ยเป็นหลานแกที่ควนขนุน แกว่าไอ้คลุ้ยมันแข็งแรงสู้ตัวต่อตัวได้ มันวิ่งเก่งขนาดไล่จับหมากลางทุ่งแกดูถูกมาไม่รู้ว่าเราแน่ ตัวเล็กก็จริงแต่จะจับให้ดู

ราวสามทุ่มกว่าก็ออกจากบ้านจะไปห้วยกรวด ไอ้เราไม่เคยไปกลัวเกิดเรื่องวิ่งหนีแล้วหลงทางได้ ตอนนั้นป่ามีเสือช้างต้องระวัง บอกพรรคพวกสัญญากันอย่าทิ้งกัน เดินตั้งสามทุ่มไปถึงบ้านห้วยกรวดตีห้า

ทีนี้ไล่ยิงกันจนลูกปืนหมด จะถอยหลัง แต่นึกขึ้นมาได้ ตอนเรียนนายร้อยเป็นครูมวย มันฟาดปืนมาปัดทีเดียวปืนก็หลุด ต่อยสวนตรงคางลงเลย เราเอาเข่าทับคร่อมมัน มันสู้กัดเราตรงหัวไหล่ ก็เอาบ้างซิ กัดมันบ้าง ฟันคมกว่าเลือดเต็มปากเลย กัดปล้ำกันไม่ปล่อย

ทีนี้มันมีมีดชักมาจะแทง มือหนึ่งก็จับแขนมัน อีกมือควักตามันก็ไม่ปล่อยมีด เลยเอาตีนสอดใต้โสร่งหนีบของมันกดกับดิน แพ้เรา พอพวกตามมาเอาท้ายปืนตีหน้าผากมันสลบ นอนหมดแรงนะตอนนั้นลุกไม่ไหวพอหายเหนื่อยเหม็นขี้ ไม่รู้ขี้ใคร เปื้อนเต็มตัว คงหนีบจนขี้แตก”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image