สุจิตต์ ทวง เอกสารทิพย์ ปม ‘ร้อยเอ็ด-สิบเอ็ดประตู’ เถียงกันมา 30 ปี ถ้ามีขอดูหน่อย

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม สืบเนื่องกรณี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปริญ รสจันทร์ อาจารย์คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด เผยแพร่แถลงการณ์ ในฐานะผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองร้อยเอ็ด เรียกร้องให้หน่วยงานราชการยุติการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของจังหวัดร้อยเอ็ด กรณี ‘เมืองสิบเอ็ดประตู’ ซึ่งถูกหักล้างไปนานกว่า 10 ปีด้วยข้อมูลทางวิชาการของนักภาษาโบราณ กรมศิลปากร แต่กลับยังคงมีการใช้ข้อมูลดังกล่าวอยู่ในปัจจุบัน (อ่านข่าว อ.ราชภัฏร้อยเอ็ด จี้หน่วยงานรัฐเลิกยัดเยียด-ผลิตซ้้ำ ‘เมืองสิบเอ็ดประตู’ ใช้ภาษีเผยแพร่ข้อมูลไร้หลักฐานรองรับ)

ต่อมา ดร. สาธิต กฤตลักษณ์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด ให้สัมภาษณ์ ‘มติชน’ ต่อกรณีดังกล่าว โดยย้อนเล่าถุึงความเชื่อของ 2 ฝ่ายที่มีการโต้แย้งกันว่า ฝ่ายที่มีความเชื่อว่าร้อยเอ็ดน่าจะมี 101 ประตู อ้างว่าศึกษาจากคำจารึก และเอกสารใบลานดั้งเดิมของพระครูโพนเสม็ดหรือยาคูขี้หอม โดยเรียกร้องให้แก้ไขคำขวัญจังหวัดที่ไม่ถูกต้อง

ในขณะที่อีกฝ่ายที่เชื่อว่าร้อยเอ็ด มี 11 ประตู อ้างว่าพิจารณาจากแผนที่เมืองร้อยเอ็ดที่เป็นหัวเมืองใหญ่ มีแผนที่เส้นทางออกจากใจกลางเมืองร้อยเอ็ด 11 เส้นทางอย่างชัดเจน รวมถึงอ้างเอกสารโบราณที่ว่า ปรากฏการเขียนชื่อเมืองร้อยเอ็ดเป็นตัวเลข 101 ซึ่งอ้างกันว่า ในอักขรวิธีโบราณ ต้องอ่านเป็น สิบเอ็ด ไม่ใช่ ร้อยเอ็ด (อ่านข่าว ปธ.สภาวัฒนธรรมร้อยเอ็ดเบรกวิวาทะ ย้อนที่มาคำขวัญจว. ชี้ บ้านเมืองไม่อาเพศ 101 หรือ 11 ประตูก็ไม่สำคัญ)

‘มติชนออนไลน์’ สอบถามไปยัง นายสุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเล่าถึงประเด็นดังกล่าวว่า จริงๆแล้ว เป็นที่รับรู้กันมานานเป็นร้อยปี ตั้งแต่ยุคสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ว่าชื่อ ร้อยเอ็ดกับสาเกตนคร มีต้นตอมาจากตำนานอุรังคธาตุ หรือ ตำนานพระธาตุพนม ซึ่งเขียนเป็น’ตัวอักษร’ ว่า ‘ร้อยเอ็ด’ ไม่ได้เขียนเป็น ‘ตัวเลข’  ตำนานนี้คือเอกสารลายลักษณ์ที่เก่าที่สุด ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกไม่ใช่เฉพาะในไทย

Advertisement

ต่อมา มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง เสนอว่าจังหวัดร้อยเอ็ด เขียนด้วยตัวเลขว่า 101 ต้องอ่านว่า สิบเอ็ด ไม่ทราบว่าเบื้องหลังมีอะไร แต่เขาเสนอมาอย่างนี้ กระทั่ง นายพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี กรมศิลปากร เขียนลงตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ตั้งแต่ปี 2537 อธิบายว่าหลักฐานต้นฉบับเป็นตัวอักษร ไม่ใช่ตัวเลข

สุจิตต์ กล่าวด้วยว่า  ใน ‘ชื่อบ้านนามเมือง….ร้อยเอ็ด ร้อยเรียงประวัติศาสตร์ผ่านสถานที่สำคัญ’  เอกสารประกอบนิทรรศการพิเศษ เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช 2552 ซึ่งเรียบเรียงและจัดพิมพ์โดย กรมศิลปากร  ก็อธิบายตามที่นายพิเศษ เจียจันทร์พงษ์เคยอธิบายไว้

“ประเด็นอยู่ที่ว่า ที่บอกว่า มีการเขียนด้วยตัวเลข 101 อ่านว่า สิบเอ็ด หลักฐานอยู่ที่ไหน มันไม่มี มันเป็นเอกสารทิพย์ ตำนานทิพย์ เอกสารที่กล่าวอ้างกันนี้ เขาหากันมาเป็นสิบปีแล้ว ไม่เห็นเคยเจอ ไม่เคยมีการนำมาแสดง ถ้ามี ช่วยเอามาให้ดูหน่อย ถ้ามันมีจริงๆ เราจะได้นำมาพิจารณาศึกษากันต่อไป เรื่องนี้ สร้างความเสียหาย ไม่ใช่ไม่สร้าง เพราะสร้างความเข้าใจผิด เหมือนประเด็นคนไทยมาจากภูเขาอัลไต”  นายสุจิตต์กล่าว

Advertisement
ชาวบ้านในทุ่งนาป่าดงขอบทุ่งกุลาร้องไห้นอกเมืองร้อยเอ็ด คราวสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการเมืองร้อยเอ็ด 29 มกราคม พ.ศ.2449 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ อ้างอิงจาก สมุดภาพกรมการปกครอง)

ทั้งนี้ เนื้อหาตอนหนึ่งจาก บทความ เมืองร้อยเอ็ด (ประตู) หรือ -ทวารวดี แปลภาษาแขกเป็นลาว โดย พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 15 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม 2537

มีดังนี้

‘….ชื่อของจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเคยมีคนสงสัยและให้ความเห็นไปต่างๆ นานา โดยทั่วไปเข้าใจกันตามเรื่องที่เป็นตำนานพื้นบ้านว่า ชื่อร้อยเอ็ดนั้นเป็นชื่อโบราณของเมืองเก่าที่ตั้งตัวจังหวัด โดยมีชื่อเต็มว่าเมืองร้อยเอ็ดประตู เพราะเมืองโบราณที่มีร่องรอยให้เห็นอยู่บ้างนั้นมีประตูเมืองจำนวน 101 ประตู

ความสงสัยจึงได้มีขึ้นเกี่ยวกับชื่อเมืองร้อยเอ็ดประตูอีกต่อไปว่า เมืองอะไรจึงจะมีประตูมากมายเช่นนี้ถึง 101 ประตู ซึ่งเป็นไปไม่ได้ จึงได้มีการอธิบายจากผู้รู้บางท่านว่า ความจริงเมืองนี้มีเพียง 11 ประตูเท่านั้น แต่เนื่องจากการเขียนตัวเลขของคนอีสานและคนลาวแต่ก่อนที่เขียนว่า 101 นั้น ต้องอ่านว่า 10,1 คือสิบหนึ่งหรือสิบเอ็ด หาใช่อ่านว่าหนึ่งร้อยหนึ่งหรือหนึ่งร้อยเอ็ดไม่ แต่ต่อมาภายหลังคนไม่เข้าใจการเขียนการอ่านของคนในสมัยโบราณ จึงอ่านผิดไปเป็นหนึ่งร้อยเอ็ดหรือร้อยเอ็ด ด้วยเหตุนี้เมืองที่ควรจะชื่อว่าเมืองสิบเอ็ดประตู จึงกลายเป็น เมืองร้อยเอ็ดประตู ไป

อันที่จริง คูกำแพงเมืองร้อยเอ็ดโบราณที่เห็นอยู่นี้ ก็ไม่เคยมีใครไปนับเป็นหลักฐานว่ามี 11 ประตู หรือ 101 ประตูกันแน่ เนื่องจากความเก่าแก่ของคูเมืองกำแพงเมืองย่อมลบเลือนหายไปบ้าง จนหาประตูไม่เจอว่ามีช่องอยู่ตรงที่ใดกันแน่ และชื่อเมืองร้อยเอ็ดประตู เท่าที่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเอกสารโบราณ ก็ไม่เคยที่จะเขียนเป็นตัวเลขว่า “เมือง 101 ประตู” แต่จะเขียนเป็นตัวอักษรว่า “เมืองร้อยเอ็ดประตู หรือเมืองร้อยเอ็จประตู ทั้งสิ้น

และเมื่อพิจารณาในเรื่องของหลักเหตุผลว่าคำเรียกหรือชื่อเรียกย่อมมีขึ้นก่อนแล้ว จึงจะเขียนลายลักษณ์อักษรให้อ่านออกเสียงเหมือนคำหรือชื่อที่เรียกนั้นภายหลัง ดังนั้นจึง เป็นไปไม่ได้ว่าชื่อเมืองร้อยเอ็ดเป็นการเรียกผิด เนื่องจากการอ่านที่ผิดไปจากสิบเอ็ดมาเป็นร้อยเอ็ด

ดังนั้น เมืองนี้แต่เดิมนั้นจึงมีชื่อว่า เมืองร้อยเอ็ดประตูจริงๆ….

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ (แฟ้มภาพ)

บทความดังกล่าว ระบุต่อไปว่า

….มีสำนวนคำไทยอยู่หลายคำที่จะขอยกเป็นตัวอย่าง ที่มีการกล่าวถึงจำนวน แต่พอนับเข้าจริงๆ ก็ไม่ได้จำนวนอย่างที่กล่าว เช่น

ช่างสิบหมู่ นับจริงๆ ก็มิได้มีจำนวนช่างเพียง 10 ประเภท แต่มีมากกว่านั้น

เพลงไทยสิบสองภาษา ก็มิได้หมายความว่า จะมีคนต่างภาษาในสมัยโบราณที่เข้ามาเป็นที่รู้จักของคนไทย จำนวน 12 ภาษา เพราะนับจริงๆ แล้วมีมากกว่านั้น

พระเจ้าห้าร้อยชาติ ก็มิได้หมายความว่า จำนวนพระชาติที่พระพุทธองค์ทรงถือกำเนิดมาก่อนจะสำเร็จพระสมโพธิญาณจะมี 500 พระชาติจริงๆ ฯลฯ

….เช่นเดียวกับชื่อเมืองร้อยเอ็ดประตู ตำนานของเมืองร้อยเอ็ดได้ให้ความหมายอย่างชัดเจนในเรื่องราวว่า เมืองร้อยเอ็ดประตูนั้นเป็นเมืองที่มีอำนาจเจริญรุ่งเรืองมาก มีเมืองขึ้นถึงร้อยเอ็ดหัวเมือง ประตูเมืองทั้งร้อยเอ็ดช่องนั้น คือทางคมนาคมเชื่อมต่อระหว่างเมืองร้อยเอ็ดกับเมืองบริวารทั้งร้อยเอ็ดหัวเมืองนั้น

ลองนึกให้เป็นภาพแผนที่ ก็จะมีเมืองร้อยเอ็ดอยู่ตรงกลาง มีประตูโดยรอบร้อยเอ็ดช่อง มีเส้นทางออกจากประตูทั้งร้อยเอ็ดไปสู่เมืองบริวารที่อยู่โดยรอบทั้งร้อยเอ็ดหัวเมือง ภาพนี้ก็จะให้ความหมายของอำนาจที่แผ่ขยายออกไปจากศูนย์กลาง หรือเข้ามาสู่ความเจริญรุ่งเรืองที่ศูนย์กลางจากบริวารที่อยู่โดยรอบทั้งร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ

…..ตำนานเมืองร้อยเอ็ดประตูอยู่ในหนังสืออุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) รวบรวมจารไว้ในคัมภีร์ใบลานโดยพระยาศรีไชยชมพู ในโอกาสเฉลิมฉลองการได้ราชสมบัติอาณาจักรลาวล้านช้างของพระเจ้าสุริยวงศา เมื่อ จ.ศ. 1000 หรือ พ.ศ. 2181 (ที่จริงได้ราชสมบัติก่อนหน้านี้ 5 ปีแล้ว)

เรื่องเมืองร้อยเอ็ดประตูจะมีเนื้อหาที่เป็นปรัมปราคติกล่าวถึงการสร้างเมือง และเรื่องราวของกรุงศรีอยุธยากับเมืองร้อยเอ็ดประตูคู่กันโดยตลอด อย่างน้อยพระยาศรีไชยชมพูผู้เรียบเรียงหนังสือเล่มนี้จะต้องคุ้นเคยกับชื่อเต็มของกรุงศรีอยุธยา จึงได้นำความหมายของชื่อตอนหน้ากรุงศรีอยุธยา คือ ทวารวดี มาดัดแปลงให้เป็นภาษาพื้นเมืองว่า ร้อยเอ็ดประตู

ดังนั้น ชื่อเมืองทวารวดีกับเมืองร้อยเอ็ดประตู จึงมีความหมายอย่างดียวกัน ที่เหมือนกับจะบอกชาวโลกว่า ศูนย์กลางของจักรวาลอยู่ที่นี่

และมีความหมายบางส่วนคล้ายกับสำนวนฝรั่งที่ว่า “ถนนทุกสายมุ่งสู่กรุงโรม” ฉะนั้น….’

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image