4วันเฉียดหมื่น! ผอ.ร.ร.ปลื้ม ‘โกลเด้นบอย’ มรดกของชาติ-น.ศ.เห็นด้วย จัดแสดงที่บ้านเกิด

ผอ.โรงเรียน ปลื้ม ‘โกลเด้นบอย’ มรดกของชาติ บ่งบอกรากเหง้า – น.ศ.เห็นด้วย จัดแสดงที่บ้านเกิด

สืบเนื่องรัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) รับมอบมอบโบราณวัตถุ จำนวน 2 รายการ ได้แก่ 1.ประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ (The Standing Shiva) หรือ Golden Boy และ 2.ประติมากรรมรูปสตรีพนมมือ (The Kneeling Female) จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน หรือ เดอะ เมท (The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET) นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กลับคืนสู่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยกรมศิลปากร ได้เชิญชวนประชาชน ร่วมชมความงามของ ‘โกลเด้นบอย’ และประติมากรรมรูปสตรีพนมมือ ได้ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม เป็นต้นไปนั้น

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ที่ชั้น 2 ห้องศิลปะลพบุรี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการเข้าชมงานวันที่ 4 ซึ่งเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ หลังมีการเคลื่อนย้ายประติมากรรมทั้ง 2 รายการ จากพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย มาจัดแสดงที่ห้องศิลปะลพบุรี มีประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เดินทางมารับชมอย่างหนาแน่น เต็มห้องจัดแสดง

โดยประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ (The Standing Shiva) หรือ Golden Boy จัดแสดงอยู่บริเวณกลางห้อง และประติมากรรมรูปสตรีพนมมือ (The Kneeling Female) จัดแสดงอยู่บริเวณขวามือของห้อง ซึ่งทั้ง 2 ประติมากรรมยังคงได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังพิพิธภัณฑ์ โดยทางผู้เข้าชมสามารถถ่ายภาพนิ่งของประติมากรรมทั้ง 2 แต่ขอความร่วมมือจากผู้เข้าชมงดถ่ายภาพเคลื่อนไหว หรือถ่ายคลิปวิดีโอของประติมากรรมทั้ง 2

Advertisement

นายเฉลิมพล พันธ์บัว ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดใหม่ผดุงเขต จ.นนทบุรี ให้สัมภาษณ์ ‘มติชน’ ว่า สนใจโกลเด้นบอย เพราะว่าเป็นศิลปะ และเป็นมรดกของชาติ เป็นสิ่งที่บ่งบอกรากเหง้า วัฒนธรรมของชาติ ในฐานะที่เป็นครูสังคมมาก่อนจึงมีความสนใจและยินดีที่ทางเดอะเมทส่งมอบมรดกของชาติชิ้นนี้ให้กับประชาชนชาวไทย

เฉลิมพล พันธ์บัว

หลังจากได้มารับชมองค์จริงรู้สึกปลื้มใจ และตัวโกลเด้นบอยเองมีความงดงามในศิลปกรรม ประติมากรรมชิ้นนี้คือสิ่งที่มีค่ามาก แสดงถึงความละเอียดอ่อนในจิตวิญญาณของผู้ที่สร้าง บ่งบอกถึงเอกลักษณ์หลายๆ อย่าง ทั้งวัฒนธรรมและความสวยงาม

“การจะส่งกลับไปที่ถิ่นฐานเดิม เป็นเรื่องที่แล้วแต่กรมศิลปากรจะพิจารณา จริงๆ แล้วสิ่งที่สำคัญคือการให้ โกลเด้นบอย ได้อยู่ในประเทศไทย ไม่สำคัญว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ไหน ขอให้อยู่ในประเทศเพื่อให้คนไทยได้ศึกษา เพราะนี่คือสมบัติของชาติของเรา

Advertisement

และสำหรับชิ้นอื่นๆ ถ้าได้กลับคืนมาจะส่งผลดีอย่างมาก จะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ในแง่ของวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวในอนาคตด้วย ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยสู่สายตาชาวโลก” นายเฉลิมพลกล่าว

ขณะที่ นายเจตพร ค้าทวี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า ตอนนี้ตนอยู่ในช่วงปิดเทอม และมีโอกาสกลับมาที่กรุงเทพฯ จึงตัดสินใจมาที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยปกติแล้วหากมีเวลาว่างจะเดินทางมาเยี่ยมชมที่นี่อยู่เป็นประจำ แต่ในวันนี้ตั้งใจมาดู ‘โกลเด้นบอย’ เนื่องจากทราบข่าวที่เดอะเมทประกาศว่าจะส่งคืนให้กับประเทศไทยและทางกรมศิลปากร และนำมาจัดแสดงที่นี่ ซึ่งในฐานะคนไทยหลังจากได้รับรู้สึกดีใจที่ได้รับสมบัติของชาติคืน

เจตพร ค้าทวี

“ในส่วนของการนำกลับไปจัดแสดงที่ถิ่นฐานเดิม คงจะแล้วแต่ทางภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาแต่จะเป็นเรื่องที่ดีหากนำกลับไปที่จังหวัดบุรีรัมย์ เพราะคนในพื้นที่จะได้รับชมได้ง่าย ไม่ต้องเดินทางมาไกลถึงกรุงเทพฯ และจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด

แต่ถ้าหากมีการส่งกลับคืนจริงๆ อยากให้ดูเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ทางพิพิธภัณฑ์ที่รับกลับไปจะสามารถดูแลได้ไหม ทั้งในเรื่องของความปลอดภัย และการรักษาสภาพของรูปหล่อสำริด” นายเจตพรกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับยอดผู้เข้าชมประติมากรรม ‘โกลเด้นบอย’ และประติมากรรมรูปสตรีนั่งชันเข่าพนมมือ มีสถิติผู้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ราว 2,000 ราย ขณะที่สถิติในช่วงวันหยุดทั่วไป ยอดผู้เข้าชมเฉลี่ย 1,000 รายต่อวัน และวันแรกที่เปิดจัดแสดงโกลเด้นบอยมีผู้เข้าชมประมาณ 2,500 คน โดยนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ตลอด 4 วันที่ผ่านมา มีผู้เข้าชมประมาณ 8,000-9,000 คน ซึ่งวันนี้มียอดเข้าชมมากกว่าวันแรก ราว 500 คน หรือประมาณ 3,000 คน

สำหรับผู้ที่สนใจเข้ามารับชมประติมากรรมที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จะเปิดให้บริการเวลา 8.30 น.-16.00น. และมีค่าเข้าชมดังนี้

คนไทย 30 บาท, ชาวต่างประเทศ 200 บาท

ยกเว้นค่าเข้าชม : เด็ก / นักเรียน / นักศึกษา / ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป / พระสงฆ์ / สมาชิก ICOM ICOMOS (แสดงบัตร)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image