วงเสวนาเชื่อ ‘พระเจ้าอุทุมพร’ ขึ้นครองราชย์เกิน 10 วันแน่นอน

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ห้องโถงมติชนอคาเดมี สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา ร่วมกับ มติชน จัดงานเสวนาเรื่อง “จากศรีอยุธยาสู่อมรปุระ ตามรอย ‘ขุนหลวงหาวัด’ กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์” นำเสวนาโดย รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ และนายเอกภัทร เชิดธรรมธรณ์ ดำเนินรายการ

รศ.ดร.ศานติกล่าวว่า “พระเจ้าอุทุมพร” เป็นพระมหากษัตริย์ในสมัยราชวงศ์อยุธยาตอนปลายที่มีการขานพระนามที่หลากหลายและแตกต่างกันออกไป แต่ที่ได้รับการขานพระนามอย่างแพร่หลาย คือ “พระเจ้าอุทุมพร” และ “เจ้าฟ้าดอกเดื่อ” ซึ่งปรากฏในราชพงศาวดารของพม่าด้วย

จุดเปลี่ยนที่ทำให้พระเจ้าอุทุมพรได้ขึ้นเป็นกษัตริย์นั้น เริ่มจาก “เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ” พระเชษฐาซึ่งมีตำแหน่งเป็นเจ้านายวังหน้าในขณะนั้น ต้องโทษเป็นชู้กับพระสนมของพระราชบิดา หรือพระเจ้าอยู่หัวพระบรมโกศ จึงโดนเฆี่ยนจนทนพิษบาดแผลไม่ไหว ก่อนเสด็จสวรรคตลง ประกอบกับในขณะนั้น พระเจ้าอุทุมพรมีความใกล้ชิดกับพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศอย่างมาก เป็นดั่งคนโปรด ทำให้พระเจ้าเอกทัศ ผู้เป็นพระเชษฐาถูกลดความสำคัญลง พระเจ้าอุทุมพรก็คงมองเห็นได้ จึงคิดอยู่ในใจว่าหากได้รับตำแหน่งไปอาจจะทำให้เกิดปัญหา

ในพงศาวดารระบุว่า พระเจ้าอุทุมพรได้ทูลพระเจ้าอยู่หัวพระบรมโกศว่าให้ยกพระเจ้าเอกทัศเป็นวังหน้า แต่พระเจ้าอยู่หัวพระบรมโกศดันสถาปนาให้พระเจ้าอุทุมพรเป็นวังหน้า และให้พระเจ้าเอกทัศเดินทางออกผนวช และในขณะที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงพระประชวร พระเจ้าเอกทัศได้ลาผนวช และเดินทางมาประทับที่วัง หลังจากนั้นพระเจ้าอุทุมพรและพระเจ้าเอกทัศร่วมมือกันคลี่คลายสถานการณ์ทางการเมือง จากกลุ่มเจ้ากรมทั้ง 3 ที่มีการซ่องสุมอาวุธเอาไว้ ซึ่งผู้ที่วางแผนจัดการกบฏทั้ง 3 คือ พระเจ้าอุทุมพร ที่ในเวลานั้นกล่าวได้ว่า พระองค์ได้เริ่มเป็นกษัติย์แล้ว แต่ยังไม่ได้รับการพระบรมราชาภิเษก โดยใช้ราโชบายในการส่งพระราชาคณะไปเจรจากับเจ้ากรมทั้ง 3 จนยินยอมเข้าไปถวายคำสัตย์ปฏิญาณ จุดนี้แสดงให้เห็นว่าพระเจ้าอุทุมพรเป็นกษัตริย์ที่มีชั้นเชิงอย่างมาก เพราะหลังจากนั้นมีการจัดงานพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อผ่านพ้นไป พระองค์ได้วางแผนจับเจ้ากรมทั้ง 3 ตัดสินโทษ แล้วจึงทำการ “ปราบดาภิเษก” ขึ้นครองราชย์

Advertisement

รศ.ดร.ศานติมีข้อสันนิษฐานว่า ในช่วงที่พระเจ้าอุทุมพรขึ้นครองราชย์ พระองค์มีช่วงเวลาครองราชย์อยู่ช่วงหนึ่งก่อนสละราชสมบัติ จากเดิมที่กล่าวกันว่าพระองค์ขึ้นครองราชย์ได้เพียง 10 วัน เมื่อเจ้าฟ้าเอกทัศ ซึ่งเป็นพระบรมเชษฐาเสด็จขึ้นไปประทับที่นั่งว่าราชการ ไม่ยอมออกไปประทับที่อื่น ฝั่งพระเจ้าอุทุมพรเองก็ไม่รู้จะทำอย่างไร จึงครองราชย์ 10 วัน ก่อนสละราชสมบัติให้กับพระเจ้าเอกทัศ และออกไปทรงผนวชที่วัดอโยธยา ก่อนเสด็จไปจำพรรษาที่วัดประดู่ทรงธรรม นี่เป็นเรื่องที่พงศาวดารทั่วๆ ไประบุไว้ แต่ในบันทึกของบริติช มิวเซียม ระบุไว้สอดคล้องกับคำให้การขุนหลวงหาวัด เกี่ยวกับการโปรดให้สร้างวัด ซึ่งไม่น่าจะดำเนินการสำเร็จภายใน 10 วัน อันนี้เป็นการสันนิษฐานเบื้องต้นของผม

“ตลอดพระชนม์ชีพของพระเจ้าอุทุมพร คือช่วงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของอยุธยา และเป็นที่มาของพระนาม ‘ขุนหลวงหาวัด’ ซึ่งในพงศาวดารของพม่าระบุไว้ว่า พระองค์เป็นกษัติย์ที่ออกผนวช ส่วนในเรื่องระยะเวลาครองราชย์ คงครองราชย์ได้ไม่นาน แต่จะครองราชย์นานเท่าไหร่นั้น ต้องหาหลักฐานจากหลายๆ ทางมาประกอบการตัดสินใจ แต่หากนับตามช่วงเวลาแล้วคิดว่าไม่น่าจะใช่ 10 วันแน่นอน” รศ.ดร.ศานติกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image