เปิดหลักฐาน ‘งานรวมญาติแฝดอิน-จัน’ จัดมาแล้ว 27 ปี ทายาทอัธยาศัยดี มีน้ำใจ คาด ผลจากการหล่อหลอมความเป็นไทย-อเมริกา

กลายเป็นข่าวโด่งดังอีกครั้ง สำหรับเรื่องราวของ “ฝาแฝดอิน-จัน” ที่ครั้งนี้ทายาท “อิน-จัน” นามสกุล “บังเกอร์ (Bunker)” กว่า 20 คน จะเดินทางมาประเทศไทยที่ จ.สมุทรสงคราม ระหว่างวันที่ 10-12 พฤษภาคมนี้ เพื่อเตรียมจัดงานคืนถิ่นแฝดสยามอิน-จัน ที่อนุสรณ์สถานแฝดสยามอิน-จัน ต.ลาดใหญ่ อ.เมืองสมุทรสงคราม อันเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมฉลองครบรอบ 185 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐ ในปี 2561 ตลอดจนมีการทำหนังสือผ่านกระทรวงการต่างประเทศของไทย เพื่อขอเป็น “เมืองพี่น้อง” กับ จ.สมุทรสงคราม โดยมี “บิ๊กแป๊ะ” พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผู้เขียน “กาลครั้งหนึ่ง…นานมาแล้ว แฝดสยาม” ในหนังสือพิมพ์มติชน เป็นที่ปรึกษาในคณะทำงาน ด้วย

อ่านข่าว : “สมุทรสงคราม”เตรียมจัด”คืนถิ่นแฝดสยาม อิน-จัน”กระชับสัมพันธ์ภาคประชาชนไทย-สหรัฐฯ

อ่านข่าว : แม่กลองร่วมมือ ‘ทายาท’ จัดงานคืนถิ่นแฝดสยามอิน-จัน พร้อมสร้างสัมพันธ์สมุทรสงคราม-เมาท์ แอรี่

อ่านข่าว : ‘บิ๊กแป๊ะ’ แฮปปี้ประสานทายาท ‘อิน-จัน’ คืนถิ่นบรรพบุรุษ เยื่ยนถิ่นเกิดแม่กลอง ปลุกกระแสท่องเที่ยววัฒนธรรมไทย

Advertisement

 

 

วิลาส นิรันดร์สุขศิริ ผู้เขียน “แฝดสยาม อิน-จัน ฅนคู่สู้ชีวิต” กับเจสซี บี บรายอันต์ (Jessie B. Bryant) ทายาทรุ่นเหลนของ “อิน” รูปนี้ถ่ายที่บ้านของเจสซี เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2546

สำหรับงานรวมญาติ “ฝาแฝดอิน-จัน” เคยจัดมาแล้วกว่า 27 ปี มีหลักฐานปรากฏใน หนังสือ “แฝดสยาม อิน-จัน ฅนคู่สู้ชีวิต” โดย วิลาส นิรันดร์สุขศิริ ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ จากสำนักพิมพ์มติชน ระบุว่า

Advertisement

“การพบปะสังสรรค์ของทายายอิน-จัน มีขึ้นเป็นประจำทุกปี ทุกวันเสาร์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคม นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 (ค.ศ.1990) เป็นต้นมา นางเจสซี บี บรายอันต์ ซึ่งเป็นเหลนของอิน เล่าว่า ก่อนหน้านั้นถึงมีการชุมนุมสังสรรค์ของทายาท แต่ก็เป็นทายาทของแต่ละฝ่าย คือของอินหรือของจัน ไม่รวมกัน แต่เมื่อคณะผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดีจากบริษัทกันตนา ประเทศไทย ติดต่อขอไปถ่ายทำสารคดีเกี่ยวกับ อิน-จัน ในปีนั้น จึงมีการออกข่าวเชื้อเชิญให้ทายาททั้งสองฝ่ายมาชุมนุมสังสรรค์ร่วมกัน โดยที่นางเจสซีเป็นผู้ประสานงานของทายาทข้างอิน และนายมิลตัน เฮนส์ เป็นผู้ประสานงานของทายาทข้างจัน คณะถ่ายทำใช้เวลาถ่ายทำและรวบรวมข้อมูลที่นั่นประมาณหนึ่งสัปดาห์ ต่อมาสารคดีเกี่ยวกับแฝดสยามของคณะกันตนา จึงออกแพร่ภาพในปี พ.ศ.2534 (ค.ศ.1991) แต่การพบปะระหว่างทายาททั้งสองฝ่ายไม่ยุติแค่นั้น และกลายเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบมาจนถึงวันนี้

ผม (ผู้เขียน) ได้มีโอกาสไปร่วมงานสังสรรค์ในปี พ.ศ.2546 (ค.ศ.2003) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม ในห้องโถงชื่อเฟลโลว์ชิป (Fellow-ship Hall) ของโบสถ์เฟิร์ส ยูไนเต็ด เมธอดิสต์ (First United Methodist Church) ที่เมืองไพลอต เมาน์เทน (Pilot Mountain) มลรัฐนอร์ทแคโรไลนา ผู้ไปร่วมงานต่างนำอาหาร ของหวาน หรือเครื่องดื่มไปรับประทานร่วมกัน อาหารที่ผมนำไปสมทบคือโดนัทรสดียี่ห้อ คริสปี ครีม (Krispy Kreme) ซึ่งเนื้อนุ่มจนแทบละลายในปาก โดยขับรถไปซื้อที่เองวินสตัน-เซเลม (Winston-Salem) อันเป็นเมืองที่อยู่ห่างจากเมืองเมาต์แอรี (Mt.Airy) ประมาณ 36 ไมล์ ใช้เวลาขับไปกลับประมาณชั่วโมงครึ่ง เหตุที่ตั้งใจขับไปยังเมืองนี้ เพราะเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของบริษัทผลิตโดนัทดังกล่าว เรียกว่าไปรอรับจากกระทะทอดเลยทีเดียว

งานสังสรรค์เป็นไปอย่างง่ายๆ ในบรรยากาศเป็นกันเอง มีการให้ผู้ที่เข้าร่วมงานเป็นครั้งแรกได้กล่าวแนะนำตัว การประกาศข่าวต่างๆ เกี่ยวกับทายาท เช่น ผู้ที่เสียชีวิต ทารกเกิดใหม่ ทายาทที่ไปปฏิบัติการในประเทศอิรัก ทายาทฝ่ายอิน คือนางสาวมาร์กาเร็ต คาร์นีย์ (Margaret Carney) พิมพ์แผนผังแสดงการสืบสายตระกูลของฝ่ายอิน ซึ่งยาวเหยียดมาปิดบนเวที ญาติอีกคนทำเสื้อยืดมาจำหน่ายในราคาตัวละเจ็ดเหรียญ ในปีนี้เช่นกัน ที่ทายาทของทาสผิวดำชื่อ เกรซ (Grace) มาปรากฏตังเป็นครั้งแรก เธอคือ เบรนดา เอทริดจ์ (Brenda Ethridge) เธอสนใจที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับบรรพบุรุษของตน และหวังว่าจะมีผู้ให้คำตอบได้ ผมได้พบกับอินและจัน ทายาทแฝดคู่หนึ่งที่เกิดในครอบครัวบังเกอร์และยังมีชีวิตอยู่ คุณอินนั้นมีเค้าชาวจีนแฝงอยู่มากกว่าหน่อย ทั้งคู่ใช้ชื่อตามบรรพบุรุษ คุณจันเคยมาเป็นทหารในช่วงสงครามเวียดนามและยังพูดไทยได้เล็กน้อย งานเลี้ยงสังสรรค์ดำเนินอยู่ประมาณสองชั่วโมงครึ่งจึงเลิกราลง แต่ก็มีการตบท้ายด้วยพิธีรำลึกถึงทายาทที่จากไปในรอบปีที่ผ่านมาในสถานที่อีกแห่งหนึ่ง

ทายาทของอิน-จัน เป็นผู้ที่มีอัธยาศัยดีอย่างเหลือเชื่อ ทุกคนให้การต้อนรับผมเป็นอย่างดี หลายท่านเชิญให้ไปพักที่บ้านในโอกาสต่อๆ ไป สิ่งหนึ่งที่ผมอดสังเกตุไม่ได้ คือ เค้าหน้า แม้ส่วนใหญ่จะมีใบหน้าอย่างชาวตะวันตกไปหมดแล้ว แต่อย่างน้อยคนในรุ่นเหลนหลายคน ก็ยังมีเค้าหน้าของคนจีนอยู่บ้าง หางตาที่เฉียงขึ้นยังพอหลงเหลือให้เห็น เช่น เดียวกับเรือนผมสีน้ำตาลเข้มหรือดำ แต่อย่างหนึ่งที่ประจักษ์ชัดคือ ความมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อและจิตใจแข็งแกร่ง ซึ่งอาจเป็นผลจากการหล่อหลอมความเป็นไทยเข้ากับความเป็นคนในมลรัฐทางใต้ของสหรัฐฯ ก็เป็นได้…”

บรรยากาศส่วนหนึ่งในงานชุมนุมสังสรรค์ทายาท เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2546
เจสซีรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ “ทายาททั้ง 2 ฝ่ายของตระกูลบังเกอร์” ก่อนจัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่มใหญ่ มีความยาว 612 หน้า โดยอาศัยแรงกายและทุนทรัพย์ส่วนตัว ซึ่งวิลาสเล่าว่า เจสซีเป็นผู้มีอัธยาศัยดี อารมณ์ขัน มักแนะนำให้รู้จักกับทายาทตระกูลบังเกอร์ทุกครั้งที่มีโอกาส
ภาพถ่ายของอิน-จันรุ่นเหลน ซึ่งจันเคยมาประจำฐานทัพในประเทศไทย ยังพอพูดภาษาไทยได้นิดหน่อย ถ่ายเมื่อ พ.ศ.2542 (ด้วยความเอื้อเฟื้อจาก Jessie B. Bryant) อินเล่าให้ฟังว่า ตัวเขาเองเคยชอบยิงปืนล่าสัตว์ และขณะนี้มีอาการหูตึงในลักษณะเดียวกับบรรพบุรุษของเขา คืออาการหูตึงข้างซ้าย เพราะเขาถนัดขวาเช่นกัน
รูปของเหลนอิน-จัน เบตตี แบล็กมอน (ซ้าย) และโดโรธี ครอสส์-เฮย์มอร์ (ขวา) จะเห็นว่าเบตตียังพอมีเค้าของชาวตะวันออกเหลืออยู่บ้าง เมื่อครั้งเป็นสาวเธอมีผมสีดำ ลูกชายคนหนึ่งของเธอมีดวงตาเรียวเล็กอย่างตาของคนจีนบางคน แต่ทั้งเบตตีและโดโรธีต่างก็เป็นหลานของ “โรเบิร์ต บังเกอร์” แต่เป็นเพียงลูกพี่ลูกน้องกัน ซึ่งโดโรธีนั้นไม่มีเค้าของชาวตะวันออกแต่อย่างใด ภาพนี้ถ่ายเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ.2546 ที่โรงแรมแฮมป์ตันอินน์ เมืองเมาท์แอรี มลรัฐนอร์ทแคโรไลนา

ทั้งนี้ ภาพประกอบและคำอธิบายทั้งหมดมาจาก หนังสือ “แฝดสยาม อิน-จัน ฅนคู่สู้ชีวิต”

คลิกอ่านคอลัมน์ กาลครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว… แฝดสยามอิน-จัน ตอนต่างๆ ของ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image