30 อดีตพนง.ช่อง3 ร้องขอความเป็นธรรมศาลแรงงาน นิติกรชี้แนะเตรียมเอกสารเพิ่ม

หลังจากที่ มีหนังสือแจงจากผู้บริหารของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ถึงกรณีที่ตัดสินใจคืนช่อง 13 และ 28 จนต้องมีการเลิกจ้างพนักงานบางส่วนไปแล้วนั้น “เอ็มดี” ช่อง 3 ร่อนหนังสือแจงพนักงานกรณีคืนช่องทีวีดิจิทัล ล่าสุดเมื่อช่วงเช้าวันที่ 1 สิงหาคม พนักงาน และผู้ผลิตรายการ ได้เดินทางไปเรียกร้องขอความเป็นธรรม ในกรณีที่ถูกเลิกจ้าง อย่างไม่เป็นธรรม ที่ ศาลแรงงานกลาง

โดยศาลแรงงานกลาง ก็ได้ให้ข้อมูลถึงกรณีดังกล่าวว่า เวลา 10.00 น. วันที่ 1 สิงหาคม มีพนักงานช่อง 3 ประมาณ 30 คน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างได้เดินทางมาที่ศาลแรงงานกลางเพื่อขอคำปรึกษาในการฟ้องคดี กรณีที่ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม จากการสอบถามข้อเท็จจริงได้ความว่า “ทางช่อง 3 ได้เลิกจ้างพนักงานกลุ่มดังกล่าวด้วยสาเหตุสภาวการณ์ในอุตสาหกรรมธุรกิจทีดิจิตอลประสบภาวะการแข่งขัน ของคู่แข่งขัน ซึ่งมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของช่อง 3 และเบื้องต้นทางช่อง 3 ได้จ่ายเงินตามกฏหมายแรงงานให้แก่พนักงานที่ถูกเลิกจ้างแล้ว แต่พนักงานกลุ่มดังกล่าวยังประสงค์เรียกร้องค่าเสียหายในส่วนอื่น และยังมีข้อสงสัยว่ายังมีสิทธิ์ได้รับการเยียวยามากไปกว่านี้หรือไม่”

การให้คำปรึกษาดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลแรงงานกลางที่ให้บริการแก่ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนนิติกร ศาลแรงงานกลาง จึงได้ให้คำปรึกษาแก่กลุ่มพนักงานดังกล่าวถึงสิทธิ์และหน้าที่ตามกฏหมายแรงงานในเบื้องต้น แต่เนื่องจากยังขาดเอกสารที่เกี่ยวข้องจึงยังไม่ได้ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนเพียงพอในการยื่นฟ้อง โดยได้แนะนำให้กลุ่มพนักงานดังกล่าวไปจัดเตรียมเอกสารและข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อนำมาพิจารณาและดำเนินการตามกฎหมายแรงงานต่อไป

ด้าน นายวรชิต ตรีพืช อายุ 48 ปี ตัวแทนพนักงาน กล่าวว่า การเดินทางมาวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเราต้องการวางบรรทัดฐานให้อาชีพสื่อทุกคน เพราะช่วงนี้เป็นขาลง เลยอยากให้เป็นบรรทัดฐานในการดำเนินการต่อไปของช่องอื่น

Advertisement

ส่วนการเรียกร้องวันนี้ที่ได้มีการหารือกับนิติกรนั้น เราพูดเรื่องความเป็นธรรมเป็นหลัก เราไม่ได้มีความผิดอะไร การยกเลิกคืนช่องเป็นเพียง 2 ช่อง คือช่อง 13 กับช่อง 28 ในส่วนของผมทำงานในช่อง 33 หรือช่อง 3 เดิม ก็ยังไม่เข้าว่าทำไมถึงต้องมีการยกเลิกสัญญาจ้าง ทั้งๆ ที่ไม่ได้อยู่ในส่วนที่ต้องคืนช่อง ที่ผ่านมาได้มีการทักท้วงจากผู้ใหญ่หลายคน รวมถึงฝ่ายกฏหมาย แต่ไม่มีคำตอบกับเราเลย อยากทราบว่ามีหลักเกณฑ์การเลิกจ้างพนักงาน 200 กว่าคนอย่างไร วันนี้เราเลยมาปรึกษานิติการ โดยเป็นการพูดคุยกันก่อน ยังไม่ได้มีการฟ้องแต่อย่างใด

โดยแนวทางต่อจากนี้ คงต้องปรึกษาหลายส่วน รวมถึง กสทช. ด้วย ถึงเงื่อนไขในการคืนช่องหรือดูแลพนักงานที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างไร เพราะว่าในส่วนของสัญญาเราไม่ทราบว่ามีอะไรบ้าง

ซึ่งการดูแลเยียวยาจากทางช่องนั้น นายวรชิต กล่าวว่า “เขาบอกว่าเงินชดเชยได้มากกว่าที่กฏหมายกำหนด แต่เท่าที่ดูมันยังไม่ใช่ เพราะหลายคนทำงานมานาน 20-30 ปี ถูกเลิกจ้างแล้วจะให้ไปหางานที่อื่นทำมันยาก ที่ผ่านมามีหลายสื่อขอข้อมูลเราคล้ายจะโจมตีช่อง 3 แต่เราก็ทำไม่ได้ เพราะคือบ้านของเรา”

Advertisement

ส่วนประเด็นที่ไม่มีการแจ้งล่วงหน้าถึงการเลิกจ้างนั้น นายวรชิต กล่าวว่า แจ้งล่วงหน้าวันที่ 9 กรกฎาคม แล้ววันที่ 31 กรกฎาคม มีผลทันที แล้วก็ให้ทยอยมาเซ็นรับทราบสละสิทธิ์การฟ้องร้อง ซึ่งผมมองว่ามันต้องมีคำอธิบายมากกว่านี้ ที่ผ่านมาเราทวงถามมาตลอด แต่ไม่มีใครให้คำตอบเราได้เลยแม้แต่หัวหน้างานเอง เขาบอกว่าปรับโครงสร้างลดพนักงาน แต่มีการรับคนภายนอกเพิ่มเข้ามาอีก”

“ผมอยากฝากนิดเดียว ถึงผู้บริหารในระดับสูงว่าควรที่จะตอบคำถามของพนักงานให้ได้ ไม่ใช่แค่เงียบอย่างเดียว แล้วพวกเราก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะติดเงื่อนไขจะทำให้บริษัทเสียหาย”

ด้านนายชาคริต ดิเรกวัฒนชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารสายงานกิจการองค์กร บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน)  ผู้ดำเนินงานสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ให้สัมภาษณ์ว่า บริษัทกำลังรอข้อมูลในเรื่องที่พนักงานกลุ่มดังกล่าวได้ไปร้องเรียนที่ศาลแรงงานกลางอยู่ ทั้งนี้การเลิกจ้างพนักงานที่เกิดขึ้นเป็นความจำเป็น เนื่องจากการปรับโครงสร้างองค์กร เมื่อมีการคืนใบอนุญาตช่องทีวีทั้งสองช่อง โดยบริษัทฯ ได้พิจารณาค่าชดเชยการเลิกจ้างอย่างดีที่สุด และมากกว่าที่กฎหมายกำหนด รวมถึงมีการจ่ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทในจำนวนเต็มให้กับพนักงานทุกคนโดยไม่ได้คำนึงถึงอายุงาน นอกจากนี้บริษัทมีการอธิบายเกณฑ์การพิจารณาการเลิกจ้างให้กับพนักงานทุกคนได้ทราบก่อนหน้าการเลิกจ้างแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image