การเมืองศรีลังกาวิกฤต ปธน.สั่งระงับอำนาจรัฐสภา หลังปลดนายกฯ

REUTERS/Dinuka Liyanawatte

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม โฆษกรัฐสภาศรีลังกา เปิดเผยว่า ประธานาธิบดีไมตรีพลา สิริเสนา แห่งศรีลังกา มีคำสั่งให้ระงับการดำเนินงานใดๆ ของรัฐสภาไปจนถึงวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้

ข่าวระบุว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง รวมถึงวิกฤตรัฐธรรมนูญขึ้นมาอีกครั้งในประเทศ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไม่นาน ประธานาธิบดีไมตรีพลาประกาศปลดนายรานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่ง ทั้งนี้การประกาศระงับการปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจของรัฐสภามีขึ้นหลังจากที่นายรานิลนัดสื่อมวลชนพร้อมกับแถลงยืนยันเมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า ตนได้รับเสียงสนับสนุนมากเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรและพร้อมจะพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าวกลางที่ประชุมสภา

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีไมตรีพลาประกาศเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ปลดนายกรัฐมนตรีรานิล พร้อมคณะรัฐมนตรีทั้งหมดพ้นจากตำแหน่ง และแต่งตั้งให้อดีตผู้นำอย่างนายมหินทา ราชปักษา เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ส่งผลให้นักสังเกตการณ์ทางการเมืองระบุว่าอาจก่อให้เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญขึ้น ทำให้ประธานาธิบดีไมตรีพลาตัดสินใจระงับการดำเนินงานของสภาเป็นการชั่วคราวดังกล่าว ซึ่งถูกระบุว่าเป็นไปเพื่อให้เวลากับนายมหินทา ราชปักษา ดำเนินความพยายามรวบรวมคะแนนเสียงจาก ส.ส.ให้ได้มากพอที่จะนำคณะรัฐมนตรีชุดใหม่รอดพ้นจากการยื่นญัตติเพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจได้

การเลือกแต่งตั้งนายมหินทาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่นั้น ถูกระบุว่าเป็นความพยายามเพื่อให้ความช่วยเหลือต่อคนในครอบครัวราชปักษาและเครือญาติจำนวนหนึ่งซึ่งถูกกล่าวหาและดำเนินคดีฐานทุจริตหลายข้อหา และมีการจัดตั้งศาลสูงพิเศษขึ้นมาเพื่อไต่สวนและพิจารณาคดีต่างๆ เหล่านี้อย่างรวดเร็ว

Advertisement

ในระหว่างการแถลงต่อสื่อมวลชน นายรานิลยืนกรานว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีควรตกเป็นของผู้ที่ได้รับเสียงสนับสนุนมากที่สุดในสภา ดังนั้นสภาผู้แทนราษฎรจึงควรเป็นสถานที่สำหรับแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างตนกับประธานาธิบดี วิดฤตการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น ทำให้ประชาชนศรีลังกาต้องเดือดร้อนโดยไม่มีความจำเป็นใดๆ

นายมหินทา ราชปักษา เคยดำรงตำแหน่งผู้นำศรีลังกา และแสดงท่าทีนิยมจีนอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการอนุมัติโครงการถมทะเลสร้างเกาะเทียมขึ้นและให้สิทธิเหนือพื้นที่บนเกาะเทียมดังกล่าวทั้งหมดแก่จีน แลกกับการลงทุนก่อสร้างและพัฒนาพื้นที่เกาะเทียมดังกล่าว ราว 1,500 ล้านดอลลาร์ หรือราว 50,000 ล้านบาท จนกลายเป็นปัญหาขัดแย้งกับอินเดีย ซึ่งไม่สบายใจกับกรณีนี้สูงมากเนื่องจากเกาะเทียมดังกล่าวอยู่ประชิดกับชายฝั่งด้านใต้ของอินเดีย มีเพียงช่องแคบพอล์ค สเตรท คั่นเท่านั้นเอง

กรณีเกาะเทียมดังกล่าวส่งผลให้ศรีลังกากลายเป็นพื้นที่ช่วงชิงอิทธิพลระหว่างจีนกับอินเดียมาโดยตลอด และการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีรานิล วิกรมสิงเห ให้ตัดทอนการให้สิทธิทั้งหมดเหนือเกาะเทียมแก่จีนกลายเป็นที่มาของความตึงเครียดระหว่างนายไมตรีพลา สิริเสนา ประธานาธิบดี กับนายรานิล จนเป็นที่มาของคำสั่งปลดฟ้าผ่าดังกล่าว แม้ทั้งสองจะเคยจับมือกันโค่นนายมหินทาพ้นตำแหน่งได้สำเร็จเมื่อปี 2558 ก็ตามที

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image