คอลัมน์ไฮไลต์โลก: สืบสานการผลิต ‘วาชิ’ ทวนกระแสสังคมเปลี่ยน

เอเอฟพี

วาชิ (Washi) หรือกระดาษญี่ปุ่น เป็นกระดาษที่มีชื่อเสียงจากการทำด้วยมือและด้วยวิธีการแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่มีประวัติสืบทอดทำกันมามากกว่า 1,300 ปี ซึ่งองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cutural Heritage status) ด้วย

วาชิ เป็นกระดาษที่ขึ้นชื่อว่ามีคุณสมบัติดี เป็นกระดาษที่มีความบาง แต่มีความทนต่อน้ำ เสื่อมสลายยาก โดยขณะที่กระดาษทั่วไปจะมีอายุใช้งานราว 100 ปี แต่วาชิ มีอายุใช้งานได้เป็นพันปี กว่าจะเสื่อมสลาย

ในอดีตที่ผ่านมา วาชิ เป็นสิ่งที่แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นมาโดยตลอด มีการใช้สอยประโยชน์ตั้งแต่การใช้เขียนหนังสือ วาดภาพ ทำโคมไฟ ร่ม ไปจนถึงใช้บุเป็นประตูเลื่อนแบบญี่ปุ่น

การผลิต วาชิ ที่อยู่ในระดับพีคสุด เป็นในช่วงยุคเอโดะ คือระหว่างศตวรรษที่ 17 ถึงปลายศตวรรษที่ 19 ก่อนที่การผลิตกระดาษในญี่ปุ่นด้วยวิถีดั้งเดิมแบบวาชิ จะถูกแทนด้วยเครื่องจักรในเวลาต่อมา นั่นทำให้การผลิตกระดาษวาชิลดน้อยลงไป

Advertisement

ยิ่งในปัจจุบันด้วยไลฟ์สไตล์ของญี่ปุ่นที่เปลี่ยนไปเป็นแบบตะวันตกมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้ความนิยมต้องการกระดาษวาชิในตลาดยิ่งลดน้อยลงไปอีก

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มูลค่าในตลาดของกระดาษวาชิ ตกฮวบลงไปมากกว่าครึ่ง โดยข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรมญี่ปุ่นชี้ว่า ในปี ค.ศ.2016 มูลค่าตลาดของกระดาษวาชิ ลดลงไปอยู่ที่ประมาณ 1,780 ล้านเยน จากที่ในปี ค.ศ.1998 มีมูลค่าอยู่ที่ 4,150 ล้านเยน ขณะที่มูลค่าของวาชิที่ใช้สำหรับศิลปะการคัดอักษรและประตูบานเลื่อนญี่ปุ่นก็ลดลงไปจาก 25,100 ล้านเยน อยู่ที่ประมาณ 5,860 ล้านเยน

ฮิโรโยชิ ชินเซ เจ้าของร้าน “ชินเซ” ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระดาษวาชิร้านเล็กๆ ในหมู่บ้านฮิดากะ ซึ่งเป็นรุ่นที่ 4 แล้วที่สืบทอดกิจการนี้มาจากบรรพบุรุษ ฮิโรโยชิในวัย 50 บอกว่ากระดาษวาชิมีความยืดหยุ่นและคงทนกว่ากระดาษแบบตะวันตกที่เสื่อมสลายได้ง่ายกว่าเมื่อมันเก่ามาก หนังสือเก่าญี่ปุ่นที่มีอายุสมัยศตวรรษที่ 7 หรือ 8 ยังคงอยู่ในสภาพดีได้เป็นเพราะกระดาษวาชิที่ทำมาจากเยื่อเปลือกไม้ต้นโคโซหรือต้นหม่อน ที่มีเส้นใยยาวกว่ามากเมื่อเทียบกับกระดาษแบบตะวันตกที่ใช้เยื่อไม้อื่นหรือจากใยฝ้าย

Advertisement

ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของร้านชินเซ คือ กระดาษวาชิ ชนิด เทงงุโจชิ หรือที่เรียกว่า ปีกแมลงเม่า ซึ่งมีความบางที่สุดในบรรดากระดาษทำมือของโลก ด้วยความหนาเพียง 0.02 มิลลิเมตรเท่านั้น โดยพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดใหญ่ๆ ของโลก อย่างพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ บริติชมิวเซียม และห้องสมุดสภาคองเกรสในกรุงวอชิงตัน ก็ยังใช้กระดาษชนิดเทงงุโจชิในการเก็บรักษาเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ด้วย

ฮิโรโยชิ เปิดใจว่าเขาไม่มีแผนที่จะสืบทอดกิจการของครอบครัวและได้เดินทางไปเรียนต่อด้านการเงินที่ซีแอทเทิล สหรัฐอเมริกา แต่ที่สุดเขาตัดสินใจเดินทางกลับบ้าน เพราะรู้สึกว่าเป็นความรับผิดชอบของตนเอง ที่จะต้องส่งไม้ต่อการผลิตกระดาษวาชิให้กับคนรุ่นหลังต่อไปภายใต้ความหวังที่จะขยายตลาดกระดาษวาชิให้กว้างขึ้น และเพื่อสืบสานมรดกทางภูมิปัญญาของบรรพบุรุษให้ยืนยาวต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image