‘กษิต ภิรมย์’ มองทางออก วิกฤต ‘รัสเซีย-ยูเครน’

AFP

‘กษิต ภิรมย์’ มองทางออก
วิกฤต ‘รัสเซีย-ยูเครน’

หมายเหตุ “มติชน” ท่ามกลางสถานการณ์สู้รบในยูเครนที่ยังคงไม่เห็นทีท่าว่าจะยุติ มติชนถือโอกาสพูดคุยกับ  นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ถือว่าเป็น “ผู้คร่ำหวอด” ด้านการต่างประเทศคนหนึ่ง ทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยทั้งในรัสเซีย เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีส่วนเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อมองลึกถึงต้นตอของปัญหา และพิจารณาทางออกของเหตุการณ์ที่ลุกลามบานปลายจนส่งผลกระทบไปทั่วโลกขณะนี้ว่าควรจะทำเช่นไร

กษิต ภิรมย์

ต้องเข้าใจก่อนว่าในช่วงที่สหภาพโซเวียตล่มสลายเมื่อปี 1991 สหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าโลกจริงๆ ในช่วง 15 ปีแรก และไม่เคยมีใครคิดว่า วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย จะสามารถฟื้นฟูรัสเซียให้กลับมาได้ มีระบบราชการที่เข้มแข็ง สามารถสร้างเสถียรภาพทางการเมืองขึ้นมา และยังมีเงินมาพัฒนาแสนยานุภาพทางการทหารอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาติตะวันตกแปลกใจและตกใจ

ที่ผ่านมาหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย ต้องให้เครดิตกับรัสเซียในระดับหนึ่งว่าเขาไม่เคยเข้าไปแทรกแซงการที่ประเทศซึ่งเคยเป็นสมาชิกสหภาพโซเวียตจะแยกตัวออกไป ขณะเดียวกันสหรัฐไม่เคยส่งเงินไปช่วยเหลือรัสเซียเลย ต่างจากเมื่อตอนเยอรมนีตะวันออกล่ม สหรัฐมีมาร์แชลแพลนเข้าไปช่วยเหลือ หรือตอนญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ยังมี นายพลดักลาส แมคอาเธอร์

รัสเซียพูดมามากกว่า 30 ปีตั้งแต่สมัย บอริส เยลต์ซิน เขาประกาศเป็นนโยบายว่ารอบบ้านคือความปลอดภัยของเขา คือเขาจะไม่ยอมให้มีใครมาป้วนเปี้ยนหน้าบ้านที่จะส่งผลกระทบกับความมั่นคง แต่สหรัฐก็ขยายการรับสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ออกไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ฮังการี โปแลนด์ เช็ก และประเทศในยุโรปตะวันออก รัสเซียได้ส่งทหารเข้าไปยังจอร์เจียในปี 2008 เพื่อสั่งสอนที่จอร์เจียประกาศจะเข้าเป็นสมาชิกนาโต จากนั้นก็เข้ายึดไครเมียเมื่อปี 2014

Advertisement

ขณะที่ฝ่ายสหรัฐและพันธมิตรก็ส่งที่ปรึกษาเข้าไปในยูเครน ให้อาวุธยุทโธปกรณ์ เงินทอง เข้าไปแทรกแซงการเมืองในประเทศโดยอ้างประชาธิปไตย ด้านประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครนก็บอกว่าต้องเข้าเป็นสมาชิกนาโตให้ได้

ไม่มีใครเคยฟังสิ่งที่รัสเซียพูดเลยว่านี่คือความห่วงกังวลด้านความมั่นคงของรัสเซีย ที่จะไม่ยอมให้นาโตซึ่งก็คือสหรัฐมาตั้งอยู่หน้าบ้านพร้อมจรวด รถถัง และขีปนาวุธมาประชิดชายแดน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็เหมือนครั้งที่คอมมิวนิสต์เวียดนามรุกเข้ามาในกัมพูชา ไทยก็รับไม่ได้ เหมือนตอนที่ นิกิตา ครุสซอฟ นายกรัฐมนตรีสหภาพโซเวียต เอาจรวดไปติดตั้งที่คิวบา ซึ่งประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี ของสหรัฐ ก็บอกว่ายอมไม่ได้และพร้อมจะทำสงครามนิวเคลียร์ ทุกประเทศก็จะมีหน้าบ้านที่ไม่ต้องการให้คนอื่นมายุ่มย่าม นี่คือที่มาที่ไป ส่วนการกระทำเช่นนั้นของรัสเซียจะถูกหรือผิดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

Advertisement

ที่สำคัญที่สุดคือปูตินคิดว่าตะวันตกไม่ให้เกียรติกันเลย และคนทุกคนมันมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เขาพูดมา 30 ปีว่าอย่าขยายสมาชิกนาโต ปูตินพูดกับผู้นำยุโรปทุกคนว่าอย่าขยาย แต่ไม่มีใครฟังเลย ไม่มีคนสนใจ ตอนนี้พอเขาบุกเข้าไปก็บอกว่าปูตินเลว

ทั้งหมดนี้ก็เหมือนกับจะมาเถียงกันว่าไก่กับไข่อะไรมาก่อนกัน ตั้งแต่การบิดพริ้วของสหรัฐกับนาโต วันที่นาโตมีมติรับยูเครนกับจอร์เจียเข้าเป็นสมาชิกในปี 2008 หรือวันที่ปูตินสั่งบุกยูเครนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

Ukrainian Ground Forces/Handout via REUTERS

๐ถึงนาทีนี้โอกาสที่สงครามจะขยายวงกว้างออกไปมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

เหตุไม่คาดคิดอาจเกิดขึ้นได้ ถ้ามีระเบิดอะไรมาตกที่โปแลนด์ก็จะทำให้นาโตรบกับรัสเซีย แต่จะไปกันทางนั้นหรือจะไปผ่านการเจรจา ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐหรือรัสเซียคุยกันโดยตรง หรือนาโตคุยกับรัสเซีย สหภาพยุโรป (อียู) กับรัสเซีย หรือจะองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (โอเอสซีอี) หรือจะในกรอบสหประชาชาติ (ยูเอ็น)

ขณะนี้อยู่ที่ท่านผู้นำทั้งหลายว่าจะมีที่ให้การเจรจา หรือจะดึงดันขยายสมาชิกนาโตเพราะใครจะเป็นก็ไม่หนักศีรษะใคร โดยไม่คำนึงถึงข้อห่วงกังวลกัน

ทางออกในการเจรจามันมีหลายวิธีการ 1.ทำสัญญาว่าจะไม่รุกรานซึ่งกันและกัน 2.ประกาศให้ยูเครนเป็นประเทศที่อยู่ระหว่างอียูกับรัสเซีย เป็นโซนที่เป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด 3.ประกาศลดอาวุธและจะมีการตั้งอาวุธห่างออกไปจากพรมแดนของแต่ละฝ่ายกี่กิโลเมตร หรือจะเอาเรื่องเฉพาะหน้าคือรับรองเอกราช อธิปไตย และความเป็นกลางของยูเครน โดยวิธีการร่วมกันระหว่างสหรัฐ อียู และรัสเซีย หรือจะชะลอการรับสมาชิกใหม่ของนาโตออกไปสัก 10 ปี รอให้เหตุการณ์มันเบาบางไปก่อนก็ค่อยมาดูกัน

หรือจะส่งกองกำลังรักษาสันติภาพของยูเอ็นเข้ามา โดยอาจไม่มีทหารสหรัฐ แต่เป็นทหารฝรั่งเศสเพื่อให้รัสเซียสบายใจ จะเอาทหารเข้ามากี่คน เอาอาวุธอะไรเข้ามาบ้างก็บอกกัน ถ้ารัสเซียจะซ้อมรบก็ต้องทำห่างจากชายแดนยูเครนกี่กิโลเมตร เพื่อไม่ให้เกิดความไม่สบายใจ อาวุธที่ใช้ก็ต้องไม่ใช่อาวุธสำหรับการรุกรานแต่เป็นอาวุธสำหรับการป้องกันตนเอง เป็นต้น ก็อยู่ที่จะเอาเส้นทางไหน

AFP

๐การออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียอย่างต่อเนื่องของสหรัฐและตะวันตกจะทำอะไรรัสเซียได้ไหม

รัฐบาลสหรัฐคงคิดว่าการเดินหน้าคว่ำบาตรรัสเซียทุกรูปแบบ บีบทุกทาง ไม่ว่าการค้า การท่องเที่ยว กีฬา SWIFT น้ำมัน ยึดทรัพย์เศรษฐีรัสเซีย จะทำให้ปูตินคุกเข่า แต่ในฐานะที่เคยเป็นทูตไทยในรัสเซีย และยังเป็นทูตไทยประจำยูเครนและเบลารุสด้วย คนรัสเซียเขาสู้กับนโปเลียน ไกเซอร์วิลเลียมที่ 2 ฮิตเลอร์ และสงครามอุดมการณ์ คนของเขาล้มตายไปมากมาย เขาผ่านมาแล้วทุกอย่าง ตายมามากที่สุด แล้วมันจะยอมไหม

ประเด็นคือรัสเซียแพ้ที่ยูเครนไม่ได้ เพราะมันเกี่ยวกับความอยู่รอดของปูตินและศักดิ์ศรีของรัสเซีย ส่วนสหรัฐสุขสบายอยู่อีกฝากของแอตแลนติก แต่ถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ ยุโรปจะตายกันหมดและตายมากกว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 อยู่ที่เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ จะเอาอย่างไร จะให้คนของตัวเองตายเพราะต้องเอายูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโตให้ได้หรือไม่ แล้วใครได้อะไร คนยูเครนคนรัสเซียก็ตาย ราคาน้ำมันก็ขึ้น ตลาดหดตัวกันทั่วโลก นักท่องเที่ยวก็ไม่มา คนกลัวสงครามจะขยาย ทั้งหมดนี้เพราะน้ำผึ้งหยดเดียว คือยูเครนต้องเป็นสมาชิกนาโต

ตอนนี้เท่าที่ทราบนักคิดทั้งหลายทั้งในสหรัฐและรัสเซียก็ตระหนักว่า ถ้าปล่อยไปอย่างนี้จะสู้รบกันใหญ่และจะตาย ทันทีที่รัสเซียส่งก๊าซไปเยอรมนีไม่ได้ คนที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดคือบริษัทน้ำมันสหรัฐ ใครจะขายอาวุธได้มากขึ้นก็สหรัฐ คองเกรสและประเทศต่างๆ ก็จะเพิ่มงบประมาณด้านอาวุธ กำไรเหนาะๆ แต่ใครตาย

ตอนฝรั่งเศสยกเรือรบมาอยู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา เราก็สู้บ้างเจรจาบ้าง ทำไมรัชกาลที่ 5 ต้องเสด็จประพาสยุโรป 2 ครั้ง ก็เพื่อไปเจรจาความกับพระเจ้าซาร์ของรัสเซียให้พูดกับฝรั่งเศสและอังกฤษ ตอนญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ประจวบคีรีขันธ์ เรารบอยู่ 7 วันก็เจรจา ปล่อยให้ญี่ปุ่นมาตั้งฐานทัพ คนไทยไม่เสียเลือดเนื้อ แต่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลายเป็นอาชญากรสงคราม เราต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะวันนั้นฝรั่งเศสและอังกฤษหนีไปสิงคโปร์หมดแล้ว พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ต้องบินไปคุยกับ นายมิคาอิล กอร์บาซอฟ อดีตผู้นำรัสเซีย เพื่อขอให้เวียดนามออกไปจากกัมพูชา สุดท้ายกอร์บาซอฟก็บอกกับป๋าว่าเวียดนามก็ตกลงที่จะถอนทหารออกไป ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ผู้นำต้องคิด ผู้นำยูเครนก็ต้องคิดว่าเขาส่งอาวุธมาให้ แต่คนที่ตายคือคนยูเครน

หัวใจของเรามีให้กับชาวยูเครนที่เราเห็นเขาประสบความทุกข์ยาก แต่เรื่องยูเครน-รัสเซีย เราก็ต้องดูประวัติศาสตร์ที่ทำให้มันมาถึงวันนี้ รัสเซียถูกบิดพริ้วรุกรานโดยนาโตซึ่งมีสหรัฐเป็นผู้นำ แต่สหรัฐกำลังส่งทุกคนไปตาย ผู้นำชาติตะวันตกต้องคิด ทั้งหมดไม่มีอะไร การเมืองคือเกมส์ของการประนีประนอมต่อรอง จะบอกว่าผู้ชนะได้หมดทุกอย่างมันไม่ได้

AFP

๐แล้วไทยควรจะอยู่อย่างไรในโลกที่เป็นเช่นนี้

สิ่งที่ทำได้คือการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ส่งอาหารแห้งหรืออาหารกระป๋องไปช่วยผู้ลี้ภัย เพราะเราเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหาร เราอาจเข้าร่วมกับสหประชาชาติหรือส่งหมอเข้าไปช่วย ซึ่งเคยทำมาแล้วในยูโกสลาเวียสมัยทักษิณ ชินวัตร หรืออาจเข้าร่วมกับอาเซียนส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าไป และเราก็ต้องพูดแล้วพูดอีกว่าการเจรจาคือทางออกเดียว มันไมมีทางอื่น ในฐานะที่เราเคยถูกรุกรานมาตลอดช่วงล่าอาณานิคม

การพิชิตสงครามไม่ใช่ทางแก้ปัญหา แต่เราต้องหาทางที่จะอยู่ร่วมกันให้ได้ ถ้อยทีถ้อยอาศัย ยูเครนไม่เป็นสมาชิกนาโตก็ไม่ตาย แต่ถ้าจะดึงดันว่าต้องเป็น ก็จะกลายเป็นศัตรูตลอดกาลของรัสเซีย ต่อให้มีปฏิวัติในรัสเซียอย่างที่สหรัฐหรือยูเครนแอบคาดหวัง ก็ไม่มีอะไรรับประกันว่าจะไม่มีปูตินคนที่ 2 เพราะมันเป็นเรื่องศักดิ์ศรีของชาติ รัสเซียเขาผ่านอะไรมาเยอะ คิดว่าเขาจะยอมเสียศักดิ์ศรีแห่งความเป็นชาติหรือ ต่อให้รัสเซียปราบยูเครนได้ สุดท้ายมันก็ไม่จบ เพราะยังมีประเทศอื่นๆ อีก

นาโตสร้างขึ้นมาในยุคสงครามเย็น ปัจจุบันมันจบไปแล้ว ทำไมนาโตถึงยังมีอยู่ นาโตเข้าไปทิ้งระเบิดที่อัฟกานิสถาน ซีเรีย และยูโกสลาเวีย ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับยุโรปเลย แล้วจะมีสันติภาพในยุโรปได้อย่างไร มันควรมีองค์กรนาโตอยู่อีกไหม หรือผู้นำยุโรปควรมาหารือกันในด้านความมั่นคงว่าจะอยู่กันอย่างไร สหรัฐไม่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะตราบใดที่สหรัฐยังมีอคติกับรัสเซีย การเจรจากันมันคงทำไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image