ฉัตรชัย วิริยเวชกุล อธิบดีกรมการกงสุล เล่าภารกิจช่วยคนในไทยยูเครน

ฉัตรชัย วิริยเวชกุล
อธิบดีกรมการกงสุล
เล่าภารกิจช่วยคนในไทยยูเครน

หมายเหตุ “มติชน” การสู้รบในยูเครนยาวนานกว่า 1 เดือนแล้ว ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำให้ผู้คนที่เคยอยู่ในยูเครนกว่า 10 ล้านคนกลายเป็นผู้พลัดถิ่น มติชนพูดคุยกับ นายฉัตรชัย วิริยเวชกุล อธิบดีกรมการกงสุล ถึงการวางแผนอพยพคนไทยในยูเครน ที่ในครานี้ต้องบอกว่าทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง

 

๐อยากให้เล่าถึงการเตรียมการเพื่ออพยพคนไทย

Advertisement

ต้องเรียนก่อนเลยว่า การดูแลช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศเป็นภารกิจที่กระทรวงการต่างประเทศได้รับมอบหมายจากรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ถือเป็นพันธกิจและหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศทั้งในยามปกติและในยามมีภัยพิบัติ จะว่าเป็นหน่วยงานเดียวที่มีภารกิจโดยตรงในเรื่องการดูแลคนไทยในต่างประเทศนี้ก็คงไม่ผิดนัก

การช่วยเหลืออพยพคนไทยในยูเครน มิได้เริ่มแค่ช่วงที่เราเห็นในข่าว แต่มีการเตรียมการมาก่อนหน้าแล้ว ทั้งในพื้นที่และส่วนกลาง ในยามปกติ กระทรวงการต่างประเทศโดยกรมการกงสุลจะขอให้ทุกสถานทูตและสถานกงสุลจัดทำแผนอพยพคนไทยในประเทศที่ดูแลเก็บไว้เสมอ และให้มีการทบทวนแผนอพยพนี้เป็นระยะๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์

กรณียูเครนก็เช่นเดียวกัน สถานทูตไทย ณ กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ซึ่งดูแลครอบคลุมประเทศยูเครนได้จัดทำแผนอพยพไว้แล้วว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ต้องอพยพคนไทยอย่างไร และในช่วงสถานการณ์เริ่มก่อตัวรุนแรงตัวท่านเอกอัครราชทูตเองกับข้าราชการสถานทูต ณ กรุงวอร์ซอ ก็ได้ลงพื้นที่นั่งรถผ่านชายแดนเข้าไปในยูเครนเพื่อสำรวจเส้นทางอพยพ จุดรวมพล รวมถึงพูดคุยนัดแนะกับเครือข่ายคนไทยไว้ระดับหนึ่ง

Advertisement

ที่ส่วนกลาง กรมการกงสุลก็เริ่มประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีที่จำเป็นต้องส่งเครื่องบินเหมาลำจากประเทศไทยไปรับคนไทยที่ยูเครน ทั้งทางเลือกเครื่องบินกองทัพอากาศและเครื่องบินพาณิชย์เช่าเหมาลำ รวมถึงซักซ้อมกับหน่วยงานในไทยที่จะช่วยเตรียมมาตรการและสถานที่รับคนไทยเมื่อเดินทางถึงประเทศไทยด้วย

๐เตรียมแผนอพยพคนไทยในยูเครนอย่างไร

คนไทยในยูเครนที่สถานทูตไทย ณ กรุงวอร์ซอ จัดทำทะเบียนไว้มี 256 คน ส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานร้านสปาและนวดแผนไทย พำนักอยู่ตามเมืองต่างๆ อาทิ กรุงเคียฟ เมืองโอเดซา เมืองคาร์คีฟ เมืองลวิฟ เป็นต้น สถานทูต ณ กรุงวอร์ซอ มีการติดต่อคนไทยเหล่านี้อยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย เริ่มมีความตึงเครียด ก็ประสานงานใกล้ชิดขึ้น ได้มีการแนะนำว่าถ้าเกิดการสู้รบรุนแรง จะต้องปฏิบัติตัวกันอย่างไร

เรื่องสำคัญที่สุดคือความปลอดภัย ดังนั้น แผนอพยพคนไทยในยูเครนเบื้องต้นคือจะใช้เมืองลวิฟ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่ปลอดภัย ห่างจากกรุงเคียฟประมาณ 540 ก.ม. และห่างจากพรมแดนโปแลนด์ประมาณ 80 ก.ม. เป็นจุดรวบรวมคนไทยจากเมืองต่างๆ และอพยพข้ามชายแดนไปยังกรุงวอร์ซอ เพื่อส่งกลับประเทศไทยต่อไป สถานทูตได้ไปเตรียมการหาสถานที่ ไปเจรจากับหน่วยงานท้องถิ่นสองฝ่ายไว้ล่วงหน้า

ดังนั้น ในทันที่ที่เหตุการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ กระทรวงการต่างประเทศได้สั่งการให้สถานทูตเริ่มปฏิบัติการช่วยเหลือคนไทย โดยส่งทีมเข้าไปจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือคนไทยในทันที ซึ่งมีทั้งที่พักและอาหาร รวมทั้งติดต่อนายจ้างและเครือข่ายคนไทยให้คนไทยเดินทางจากเมืองต่างๆ มาที่จุดนัดพบที่เมืองลวิฟ แต่การเดินทางจากแต่ละเมืองก็ไม่ใช่เรื่องง่าย บางเส้นทางต้องขึ้นรถ ลงเรือ แล้วก็ขึ้นรถอีกกว่าจะถึงที่หมาย สถานทูตเองก็ต้องช่วยจัดหารถรับส่งสำหรับคนไทยในพื้นที่ที่ไม่สามารถเดินทางเองได้

นอกจากนี้ ยังมีการปรับแผนเฉพาะหน้าเพิ่มเติมให้สถานทูตไทย ณ กรุงบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย ซึ่งติดกับยูเครนไปทางใต้ เข้ามาเสริมรับคนไทยจากเมืองโอเดซาซึ่งอยู่ทางใต้ของประเทศเข้าโรมาเนีย แทนการเดินทางไปเมืองลวิฟ ซึ่งไกลกว่าและอาจมีความยากลำบากกว่า ซึ่งตัวท่านอุปทูตและเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยที่บูคาเรสต์ก็เดินทางไปที่ชายแดนเพื่อรอรับคนไทยตามที่สถานทูตที่กรุงวอร์ซอประสานงานมาอย่างทันการณ์

๐การอพยพคนไทยครั้งนี้ถือว่าทำได้รวดเร็วมาก

ในห้วงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ถึง 7 มีนาคม สถานทูตทั้งสองแห่งได้ช่วยกันทยอยนำคนไทยจำนวน 230 คนที่ประสงค์จะเดินทางกลับไทย เดินทางผ่านชายแดนออกไปที่กรุงวอร์ซอและกรุงบูคาเรสต์เพื่อส่งกลับประเทศไทย นับรวมแล้วทั้งหมด 7 ระลอก หรือ 7 เที่ยวบิน โดยกระทรวงการต่างประเทศก็ได้ขอให้สถานกงสุลใหญ่ที่เป็นจุดต่อเครื่องเข้าไปช่วยดูแลคนไทยระหว่างพักรอด้วย ส่วนอีก 26 คนที่แสดงประสงค์จะพำนักอยู่กับนายจ้างหรือครอบครัวในยูเครนต่อไป สถานทูตก็จะคอยติดตามสอบถามความปลอดภัยและให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสมต่อไป

ภารกิจช่วยเหลือคนไทยในยูเครนสามารถดำเนินการสำเร็จลุล่วงได้ 100% ซึ่งต้องขอชื่นชมคนไทยทุกคนที่ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามคำแนะนำของสถานทูตเป็นอย่างดี และมีความทรหดอดทนเพราะการเดินทางผ่านชายแดนตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงที่หมายใช้เวลาเป็นนับสิบชั่วโมงข้ามวันข้ามคืน

ขณะเดียวกันสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ ยังได้ให้ความช่วยเหลือคนฟิลิปปินส์ 18 คน และคนสิงคโปร์ 2 คน เดินทางออกจากยูเครนพร้อมกับกลุ่มคนไทยด้วย ซึ่งทั้งสองประเทศต่างแสดงความขอบคุณสำหรับมิตรไมตรีที่ฝ่ายไทยหยิบยื่นแก่ประเทศอาเซียนทั้งในยามปกติและในสถานการณ์คับขันเช่นนี้ด้วย

๐การเตรียมการในฝั่งของประเทศไทยได้ทำอะไรไปบ้าง

กระทรวงการต่างประเทศได้จัดตั้งคณะทำงานศูนย์ประสานงานฉุกเฉิน (Rapid Response Center – RRC) ซึ่งเป็นกลไกความช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศกรณีฉุกเฉินโดยมีส่วนราชการและหน่วยงานหลายหน่วยมาร่วมบูรณาการทำงานกัน ต้องเรียนว่าเป็นกลไกที่เราจัดตั้งขึ้นด้วยความหวังว่าจะไม่มีความจำเป็นต้องใช้งานมัน ล่าสุดที่มีการประชุมใช้กลไกนี้คือการอพยพคนไทยจากกรณีเชื้อไวรัสระบาดที่อู่ฮั่นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งตอนนั้นต้องเอาเครื่องบินจากประเทศไทยไปรับด้วย

ในครั้งนี้ ได้มีการประชุมกลุ่มย่อยของคณะทำงาน RRC เพื่อเตรียมการสำหรับการรับคนไทยจากยูเครน ในเรื่องการจัดเครื่องบินเหมาลำ การจัดสถานที่รับส่งต่อเมื่อเดินทางถึงและการจัดมาตรการหากมีการพบผู้ติดเชื้อ เป็นต้น กระทรวงการได้รับความร่วมมือที่ดียิ่งจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่อาสาจัดการตรวจหาเชื้อรายบุคคล และจัดสถานที่พักรอผลตรวจที่สถาบันบำราศนราดูร กระทรวงคมนาคมช่วยจัดรถบัสรับส่งให้ทุกวันที่มีคนไทยเดินทางถึง การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยที่ช่วยบริหารจัดการพื้นที่ในสนามบินเพื่อมิให้มีการปะปนกับผู้โดยสารอื่น รวมถึงกระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ที่เข้ามาช่วยเหลือเยียวยาให้เดินทางกลับภูมิลำเนา และยังอีกหลายหน่วยงานที่มิได้กล่าวถึง ถือเป็นภาพบูรณาการความร่วมมืออย่างไร้รอยต่อตามข้อสั่งการของท่านนายกรัฐมนตรี

๐คิดว่าอะไรปัจจัยที่ทำให้ของการอพยพครั้งนี้สำเร็จด้วยดี

ผมนึกถึงพระพุทธวัจนะที่ว่า รกฺเขยฺยานาคตํ ภยํ หรือ “พึงป้องกันภัย ที่ยังมาไม่ถึง” การที่กระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญกับการให้ทุกสถานทูตและสถานกงสุลได้จัดทำแผนอพยพคนไทย ถือเป็นความสำเร็จครึ่งทางล่วงหน้า ถือเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนภัยมา กรณียูเครนก็เช่นเดียวกัน สถานทูตไทย ณ กรุงวอร์ซอ ก็มีแผนอพยพไว้อยู่แล้ว และเมื่อสถานการณ์ตึงเครียดมีแนวโน้มจะรุนแรง สถานทูตก็ได้มีการปฏิบัติการตามแผนนั้น เริ่มจากการแจ้งเตือนคนไทยในระดับต่างๆ การกระชับเครือข่ายติดต่อกับคนไทย การทบทวนเส้นทางเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่เสี่ยง และการเตรียมการด้านโลจิสติกส์ต่างๆ

ปัจจัยสำเร็จที่สองคือความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภารกิจนี้ เพราะกระทรวงการต่างประเทศแม้จะเป็นหน่วยงานหลักแต่ไม่สามารถปฏิบัติงานนี้สำเร็จได้โดยลำพัง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข คมนาคม แรงงาน พัฒนาสังคมฯ ได้เข้ามาปฏิบัติงานร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจ

และสุดท้ายผมคิดว่าปัจจัยสำเร็จมาจากคนไทยเองที่ให้ความร่วมมือตามคำแนะนำต่างๆ ของสถานทูต การที่คนไทยให้ความร่วมมือที่ดีก็ทำให้ภารกิจการดูแลคนไทยในต่างประเทศมีความราบรื่นและเป็นไปตามวัตถุประสงค์

๐อยากฝากอะไรกับคนไทยในต่างประเทศ

กรมการกงสุลมีคำขวัญว่า “การทูตเพื่อประชาชน ทุกแห่งหนเราดูแล” จึงอยากฝากว่า คนไทยในต่างประเทศไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน อยากให้ลงทะเบียนหรือแจ้งชื่อที่อยู่การติดต่อกับสถานทูตและสถานกงสุลในพื้นที่ที่ท่านอยู่อาศัย รวมทั้งเก็บเบอร์ติดต่อของสถานทูตสถานกงสุลไว้ให้หาง่าย เพื่อที่เราจะได้ติดต่อท่านได้ในยามจำเป็นหรือท่านสามารถติดต่อเรายามที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน และขอให้มั่นใจว่าข้อมูลของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับของทางราชการตามกฎหมาย โดยสามารถหาข้อมูลเบอร์ติดต่อหรือบริการด้านกงสุลต่าง ๆ ได้ที่เว็บไซด์ของกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ www.consular.go.th

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image