เปิดเหตุผลผู้แทนถาวรไทยประจำยูเอ็น ก่อนโหวตหนุนข้อมติยูเครน 23 ก.พ.

ภาพจาก UN Photo

เปิดเหตุผลผู้แทนถาวรไทยประจำยูเอ็น ก่อนโหวตหนุนข้อมติยูเครน 23 ก.พ.

ไทยลงมติสนับสนุนข้อมติล่าสุดของที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ที่เรียกร้องให้มีการยุติสงครามในยูเครนทันที เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่จะครบ 1 ปีของการบุกยูเครนโดยรัสเซีย ซึ่งมี 141 ชาติสมาชิกให้การสนับสนุน คัดค้าน 7 ประเทศ และงดออกเสียงอีก 32 ประเทศ

ก่อนการลงคะแนน นายสุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ได้กล่าวคำอธิบายถึงเหตุผลในการลงคะแนนของไทย ก่อนการประชุมฉุกเฉินสมัยพิเศษครั้งที่ 11 ณ สำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติในนครนิวยอร์ก โดย “มติชน” ได้แปลถ้อยแถลงดังกล่าวที่มีรายละเอียดดังนี้

(แฟ้มภาพ) สุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ

1.ประเทศไทยยืนหยัดแน่วแน่ต่อกฎบัตรสหประชาชาติ ทั้งในตัวอักษรและในจิตวิญญาน รวมถึงกฎหมายระหว่างประเทศ ว่าเป็นสิ่งที่ต้องยึดมั่นในหลักปฏิบัติอันป็นมาตรฐาการของนานาอารยะประเทศ

2.ไทยยึดมั่นในสิทธิของประชาชนต่อการดำรงชีวิตอย่างปลอดภัยว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอันเป็นสากลและไม่อาจต่อรองได้ ข้อพิจารณาในมนุษยธรรมจะต้องไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือการเลือกปฏิบัติ

Advertisement

3.เราขอเรียกร้องให้สหประชาชาติดำเนินความพยายามในเรื่องการทูตเชิงป้องกันอย่างเต็มที่และทำให้ดีที่สุด เพื่อปกป้องพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก และไม่ปล่อยให้มันเป็นส่วนหนึ่งของละครเกี่ยวกับศีลธรรมที่เปลี่ยนสถานการณ์อันซับซ้อนอย่างยิ่ง ให้กลายเป็นเพียงเรื่องของความดีและความชั่ว ตามด้วยการชี้นิ้วและการประณาม

4.ควรต้องมีการใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีปฏิสัมพันธ์และการเจรจาพูดคุยเพื่อยุติข้อพิพาท เพราะเมื่อมันปะทุขึ้นแล้ว เราจะต้องไม่เติมน้ำมันเข้าไปในกองไฟ ความพยายามทั้งหมดของสหประชาชาติ ควรมุ่งเน้นไปที่ “การไม่กระทำให้เกิดอันตราย” ดังคำปฏิญานของฮิปโปเครตีส

5.ในวันครบรอบ 1 ปีของสงครามยูเครน เราเรียกร้องให้ชาติสมาชิกขององค์กรอันทรงเกียรตินี้ทำสิ่งที่ถูกต้องต่อโลกโดยรวม และเพื่อคนกว่า 8 พันล้านคนที่เป็นเพียงผู้ไม่มีส่วนรับรู้ต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น แต่ต้องแบกรับผลกระทบจากสงครามในหนทางที่ต่างกันไป เพื่อให้กระบวนการสันติภาพได้เริ่มต้น เราต้องพยายามที่จะเข้าใจถึงต้นตอของความขัดแย้ง บนพื้นฐานของความเป็นจริงและไม่มองอย่างคับแคบ และหลีกเลี่ยงความคิดเห็นเพียงในเชิงอำนาจและศีลธรรม

Advertisement

โลกนี้กว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์เพียงพอสำหรับประเทศที่มีอุดมการณ์และรูปแบบการเมืองการปกครองที่หลากหลายจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ถ้าเราเรียนรู้ที่จะเคารพความแตกต่างและสถานภาพในการดำรงอยู่

6.อาวุธที่เพิ่มขึ้นจะทำให้การต่อสู้ยิ่งรุนแรงขึ้น ยิ่งการต่อสุ้ย่ำแย่ลง ผู้คนก็ทุกข์ทรมานมากขึ้นเท่านั้น การคว่ำบาตรที่เพิ่มขึ้นก็จะยิ่งทำให้ความเจ็บปวดของผู้คนรุนแรงขึ้น และมันไม่เคยนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง การประณามก็มิได้ส่งผลในการสร้างน้ำหนักเชิงบวกต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการปฏิบัติ

7.ไทยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยกระดับความพยายามทางการทูตเพื่อให้เกิดการเจรจาที่จะนำไปสู่ทางออกสำหรับความขัดแย้งในยูเครน สงครามในยูเครนเป็นความท้าทายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และยังเป็นอันตรายอย่างที่สุดที่ส่งผลคุกคามต่อภูมิรัฐศาสตร์ การเงินการคลัง เศรษฐกิจ ความมั่นคง และต่อสมดุลของโลกในภาพรวม

8.มีการกล่าวกันว่า จริงๆ แล้วการทูตก็คือการต่อยอดให้สงครามยืดเยื้อต่อไปในอีกรูปแบบหนึ่ง สงครามไม่อาจยุติลงได้ด้วยการส่งมอบอาวุธที่ร้ายแรงยิ่งกว่า มันจะไม่ยุติลงเว้นแต่ว่าจะเป็นการทำลายล้างและการล้มตายของผู้คนทั้งหมด ซึ่งเป็นเพียงจุดประสงค์และตัวเลือกเดียวเท่านั้นที่มีอยู่ สงครามสามารถยุติลงได้จากการหาข้อตกลงและการเจรจา ด้วยการยึดแนวทางที่ทำให้เกิดผลขึ้นได้จริงในทางปฏิบัติ ไม่ใช่เพียงแค่แนวคิดในเชิงอุดมคติ และไม่ใช่แนวคิดที่ว่าผู้ชนะจะต้องได้ทุกอย่าง ดั่งในอิสยาห์ 1:18 ที่ว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกชาติจะต้องมาหาเหตุผลร่วมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image