ทำไม กาตาร์ ผงาดสู่บทบาท “คนกลาง” ในภารกิจปล่อยตัวประกัน ศึกอิสราเอล-ฮามาส

กาตาร์
ญาติตัวประกันชาวอิสราเอลถือป้สยเรียกร้องให้ฮามาสปล่อย 240 ตัวประกัน (AP Photo/Ariel Schalit)

บทบาทของ กาตาร์ ชาติเล็กๆ แต่มั่งคั่งและทรงอิทธิพลในภูมิภาคตะวันออกกลาง มีส่วนอย่างยิ่งในการเจรจาต่อรองให้คู่ศึกคู่อาฆาต ระหว่าง อิสราเอล กับ ฮามาส บรรลุผล จนทำให้กระบวนการแลกเปลี่ยนตัวประกันเดินหน้าต่อด้วยการขยายเวลาหยุดยิงของสองฝ่าย

จากรายงานของสำนักข่าว เอพี สัญชาติสหรัฐอเมริกา รัฐบาลกาตาร์เป็นผู้แถลงเมื่อวันจันทร์ว่า รัฐบาลอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ตกลงที่จะขยายเวลาหยุดยิงจากวันที่ 27 พ.ย. ออกไปอีกสองวัน หลังจากช่วง 4 วันที่ผ่านมา การแลกเปลี่ยนตัวประกันสร้างความยินดีให้กับครอบครัวและญาติของทั้งสองฝ่าย รวมถึงประเทศที่ไม่ใช่คู่กรณีอย่างไทยด้วย

นายมาจิด อัล อันซารี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกาตาร์ ทวีตข่าวดีดังกล่าวผ่านสื่อโซเชียล X ในห้วงท้ายของข้อตกลงเดิมที่จะหยุดยิง 4 วัน หลังจากความพยายามของกาตาร์ สหรัฐอเมริกา และอียิปต์ ซึ่งเป็นคนกลางหลัก ทำให้คู่พิพาทสองฝ่ายขยายเวลาพักรบออกไป

กาตาร์
FILE –  เชค มุฮัมมัด บิน อับดุรเราะฮ์มาน บิน ญาสซิม อาล ษานี นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัฐกาตาร์  (AP Photo/Jacquelyn Martin)

รัฐบาลอิสราเอลแจ้งว่า จะยอมหยุดยิงเพิ่มหนึ่งวันหากมีการปล่อยตัวประกันเพิ่มทุกๆ 10 คน ส่วนฮามาสแถลงว่า ตกลงขยายเวลาออกไป 2 วันภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน

Advertisement

อิสราเอลต้องการ กาตาร์ 

ก่อนหน้านี้ ข้อตกลงที่แสนเปราะบางเหมือนจะไปไม่รอด เมื่อฮามาสกล่าวหาอิสราเอลละเมิดสัญญา ส่วนอิสราเอลก็ขู่จะหวนปฏิบัติการกวาดล้างฮามาสอีกครั้งในฉนวนกาซ่า

ท่าทีที่ตึงเครียดนี้ทำให้ตัวแทนรัฐบาลกาตาร์รีบขึ้นเครื่องไปลงจอดที่สนามบินนานาชาติเบน-กูเรียนของอิสราเอล เมื่อวันเสาร์ที่ 25 พ.ย. เพื่อหาทางประคับประคองข้อตกลงหยุดยิงแรกเริ่มไว้ให้ได้ ท่ามกลางบรรยากาศที่น่าหวั่นใจ

การเยือนอิสราเอลของคณะผู้แทนกาตาร์อย่างเป็นทางการนี้เป็นจังหวะที่พิเศษอย่างยิ่งของสองประเทศ เพราะอิสราเอลกับกาตาร์ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการต่อกัน อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกที่กาตาร์เป็นสะพานเชื่อมคู่แค้น อิสราเอล-ฮามาส ให้เจรจากันได้

Advertisement

“นี่เป็นเรื่องที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน” โยเอล กูซานสกี นักวิชาการอาวุโสของสถาบันการศึกษาความมั่นคงแห่งชาติ ในนครเทลอาวีฟ ของอิสราเอล กล่าวถึงกาตาร์ พร้อมอธิบายว่า “กาตาร์เป็นคนนอกหนึ่งเดียวในโลกที่กล่อมฮามาสได้ หลังจากสนับสนุนกันมาหลายปี”

ชาวอิสราเอลฉลองที่ตัวประกันได้รับการปล่อยตัวจากฉนวนกาซ่า เมื่อ 26 พ.ย.   (AP Photo/Leo Correa)
โอมาน อัตชาน หนุ่มปาเลสไตน์วัย 17 ปี กอดแม่ที่เมืองรามัลเลาห์ เวสต์แบงก์ หลังได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำอิสราเอล ระหว่างการแลกตัวประกันระหว่างอิสราเอลกับฮามาส เมื่อ 26 พ.ย.  (AP Photo/Nasser Nasser)

หลังจากภารกิจประคองข้อตกลงผ่านพ้นมาได้ คณะเจรจาส่วนใหญ่ก็กลับประเทศไป แต่คณะของกาตาร์ยังอยู่ต่อเพื่อทำงานหลังฉากร่วมกับเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของอิสราเอลในการขยายเวลาหยุดยิงต่อจาก 4 วันแรกที่เดิมจะต้องสิ้นสุดวันอังคารนี้ (28 พ.ย.)

“เราต้องการกาตาร์” กูซานสกีกล่าว ในฐานะที่เป็นชาวอิสราเอล พร้อมให้มุมมองว่า ประเทศอาหรับอื่นๆ เริ่มปรับความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลให้สู่ระดับปกติ เนื่องจากมีผลประโยชน์ร่วมกับอิสราเอลมากขึ้น “แต่กาตาร์เป็นชาติเดียวในโลกอาหรับที่ยังผูกมัดต่อชะตาของชาวปาเลสไตน์อย่างไม่เสื่อมคลาย”

ซอฟต์พาวเวอร์แห่งอาหรับ

กาตาร์เปิดทางให้ฮามาสเข้าไปตั้งที่สำนักงานทางการเมืองในกรุงโดฮา เมืองหลวงประเทศ ตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งนั่นทำให้กาตาร์มีอิทธิพลบางส่วนต่อการตัดสินใจของฮามาส ขณะที่สมาชิกระดับสูงของฮามาส รวมถึงผู้นำสูงสุดอย่าง อิสมาอิล ฮานิเยห์ ก็อาศัยอยู่ในกาตาร์

ประเทศอาหรับที่มั่งคั่งแห่งนี้ให้เหตุผลว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ขอให้กาตาร์เปิดทางให้ฮามาสเข้าไปตั้งสำนักงานการเมือง เพื่อเป็นช่องทางไว้สำหรับสื่อสาร หลังจากรัฐบาลกาตาร์เคยให้กลุ่มตาลิบันเข้าไปตั้งสำนักงานเช่นกัน ในช่วงที่อเมริกาทำสงครามอัฟกานิสถานยืดเยื้อ 20 ปี

กาตาร์เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกเมื่อปีที่แล้ว (REUTERS)

เจ้าหน้าที่กาตาร์กล่าวว่า พวกตนได้รับแนวทางจากรัฐบาลที่ปรารถนาจะลดความขัดแย้ง ผ่านความสัมพันธ์กับกลุ่มมุสลิมต่างๆ รวมถึงกลุ่มฮามาส กลุ่มมุสลิมบราเธอร์ฮูดในอียิปต์ และกลุ่มตาลิบัน แม้จะเคยถูกต่อว่าจากอิสราเอล ผู้แทนรัฐสภาบางคนของสหรัฐ และรัฐบาลชาติเพื่อนบ้านในกลุ่มอาหรับ

“นี่คือซอฟต์พาวเวอร์สำหรับควบคุมความสมดุล และขับเคลื่อนเพื่อผลประโยชน์ของสหรัฐ” แพทริก ธีออส อดีตทูตสหรัฐประจำกาตาร์ให้ความเห็น “การเป็นที่ตั้งขององค์การต่างๆ ที่สหรัฐไม่อาจออกหน้าเจรจาได้เป็นส่วนหนึ่งในนโยบายนี้”

กาตาร์เป็นประเทศที่มีประชากรเพียง 300,000 คน แต่เป็นที่ตั้งของแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ปูทางไปสู่ความมั่งคั่ง ซึ่งพ่วงมากับอิทธิพลทางการเมืองและการขยายซอฟต์พาวเวอร์ไปทั่วโลก ในที่นี้รวมถึงการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 เมื่อปีที่แล้วด้วย

หนึ่งใน6ประเทศที่ไทยขอบคุณ

เดอะการ์เดียน สื่อของอังกฤษ รายงานวิเคราะห์ว่า กาตาร์ต้องการมีบทบาทบนเวทีโลกเพื่อปกป้องตนเองจากการแทรกแซงของเพื่อนร่วมภูมิภาคที่ทรงอิทธิพลอย่าง ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ช่วงปี 2560-2564 ที่กาตาร์ถูกซาอุดีอาระเบียบอยคอตนั้นแสดงให้เห็นชัดว่า ทำไมกาตาร์จึงต้องมาถึงจุดนี้

สำหรับสงครามอิสราเอล-ฮามาสที่ระเบิดขึ้นในปีนี้ กาตาร์ไม่ได้เห็นดีเห็นงามกับฮามาสที่เป็นฝ่ายเปิดฉากเมื่อวันที่ 7 ต.ค. แต่ก็เตือนสติอิสราเอลว่า การเข้าครอบครองกาซานั้นเป็นชนวนเหตุที่ต้องตระหนักถึง ขณะเดียวกัน กาตาร์ก็พยายามระงับยับยั้งอิหร่านไม่ให้เติมเชื้อไฟลงไปในความขัดแย้งเพิ่มขึ้น

กาตาร์
รัฐมนตรีต่างประเทศ ปานปรีย์ พหิทธานุกร พบหารือกับ เชค มุฮัมมัด บิน อับดุรเราะฮ์มาน บิน ญาสซิม อาล ษานี นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัฐกาตาร์ ที่กรุงโดฮา เมื่อ 31 ต.ค.

กาตาร์จึงมีภาพลักษณ์ในฐานะคนกลางที่ต้องการลดความตึงเครียด เป็นชาติที่เจรจากับทุกฝ่ายได้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่ปลาบปลื้มกับบทบาทของกาตาร์

เกอร์ชอน บาสกิน ผู้เจรจาต่อรองการปล่อยตัวประกันอิสราเอล ซึ่งต้องต่อรองกับฮามาสโดยตรง แสดงความเห็นไม่พอใจกาตาร์อย่างชัดเจน ระหว่างร่วมสัมมนาสถาบันตะวันออกกลางในอิสราเอลเมื่อไม่นานนี้

“ตามความคิดของผม กาตาร์เป็นรัฐที่สนับสนุนการก่อการร้ายและควรถูกบีบบ้าง คิดถึงการที่สหรัฐเข้ามาตั้งฐานทัพใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลางที่กาตาร์ดูสิ พวกอเมริกันควรบอกกาตาร์ว่า ถ้าคุณไม่บังคับให้ฮามาสปล่อยตัวประกันออกมา พวกคุณต้องเนรเทศฮามาสออกจากประเทศ” บาสกินกล่าว

สำหรับไทย การที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ส่งรองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศ ปานปรีย์ พหิทธานุกร ไปกาตาร์ ตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค. เพื่อขอให้ช่วยเจรจากับฮามาสในการปล่อยตัวประกันคนไทย และต่อด้วยการเยือนอียิปต์ จึงถือว่าเป็นความพยายามที่มาถูกทาง

ตัวประกันคนไทยที่ได้รับการปล่อยตัวออกมาเมื่อ 26 พ.ย. (Thailand’s Foreign Ministry via AP )

ล่าสุด ก่อนที่นายปานปรีย์จะเดินทางไปรับอดีตตัวประกันคนไทยที่ฮามาสปล่อยตัวออกมาอย่างน้อย 17 คนเพื่อกลับถึงไทยวันที่ 30 พ.ย. รัฐมนตรีต่างประเทศท่านนี้ได้เดินสายขอบคุณทูต 6 ประเทศที่ช่วยประสานงานปล่อยตัวประกันไทย

นอกจากจะมีอิสราเอลแล้ว หนึ่งในนั้นย่อมมีกาตาร์ ซึ่งไทยยังต้องพึ่งพาในการช่วยเหลือตัวประกันที่เหลืออย่างน้อย 15 คนออกมาต่อไป

_____

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image