คำต่อคำ! พิพิธภัณฑ์สหรัฐแถลงสื่อ แจงเหตุคืน 16 โบราณวัตถุเขมร-ไทย
พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน (Met) ประกาศการคืนประติมากรรม 16 ชิ้นให้แก่ประเทศกัมพูชาและไทย
พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทันได้ประกาศในวันที่ 15 ธันวาคม ว่าได้เริ่มดำเนินการส่งประติมากรรมคืนให้แก่ประเทศกัมพูชา จำนวน 14 ชิ้น และไทย จำนวน 2 ชิ้น ถือเป็นการถอดผลงานศิลปะแบบเขมรทั้งหมดที่ทางพิพิธภัณฑ์ทราบมาว่ามีความเชื่อมโยงกับนายดักลาส แลตช์ฟอร์ด พ่อค้าโบราณวัตถุ ซึ่งถูกฟ้องดำเนินคดีในข้อหาขายโบราณวัตถุอย่างผิดกฎหมายในปี 2019 ภายหลังจากที่เขาถูกฟ้องร้อง Met ได้ติดต่อไปยังสำนักอัยการประจำเขตใต้ของรัฐนิวยอร์กในประเทศสหรัฐและเจ้าหน้าที่ของกัมพูชา โดยจากความร่วมมือครั้งนี้ ทางพิพิธภัณฑ์ได้รับข้อมูลชิ้นใหม่เกี่ยวกับประติมากรรมดังกล่าว ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าผลงานศิลปะดังกล่าวควรถูกส่งคืนให้กับประเทศต้นทาง Met พร้อมด้วยสำนักอัยการสหรัฐได้มีการลงนามในข้อตกลงที่จะคืนโบราณวัตถุเหล่านี้แก่กัมพูชาและไทย ทางพิพิธภัณฑ์จะยังคงตรวจสอบงานศิลปะเขมรที่ยังเก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์ต่อไปและจะแลกเปลี่ยนข้อมูลของประติมากรรมกับเจ้าหน้าที่ของกัมพูชาและไทยต่อไป อันเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาค้นคว้าที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้
แม็กซ์ ฮอลเลน ผู้อำนวยการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Met กล่าวว่า “Met ได้ทำงานอย่างแข็งขันร่วมกับกัมพูชาและสำนักอัยการสหรัฐนานหลายปีเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับงานศิลปะเหล่านี้ ข้อมูลใหม่ที่ปรากฏขึ้นมาจากกระบวนการดังกล่าวทำให้เป็นที่ชัดเจนว่าเราควรเริ่มดำเนินการส่งคืนประติมากรรมชุดนี้” และ “Met มีความยินดีที่จะเข้าร่วมข้อตกลงนี้กับสำนักอัยการสหรัฐ และให้ความสำคัญกับการเจรจาพูดคุยอย่างเปิดเผยกับทางการกัมพูชาและไทย เรามุ่งมั่นที่จะแสวงหาความเป็นพันธมิตรและความร่วมมือกับเพื่อนร่วมงานของเราที่นั่น ที่จะช่วยส่งเสริมให้โลกมีความเข้าใจและชื่นชมในผลงานศิลปะแบบเขมรมากขึ้น และเราเฝ้ารอที่จะเริ่มต้นบทใหม่นี้ไปด้วยกัน”
ผลงานศิลปะที่จะถูกส่งกลับประเทศเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 9-14 ในสมัยเมืองพระนคร (Angkorian period) สะท้อนถึงอิทธิพลของศาสนาพุทธและฮินดูที่กำลังเฟื่องฟูในขณะนั้น ทั้งนี้ ประติมากรรมจำนวนหนึ่ง รวมถึงรูปปั้นทองสัมฤทธิ์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรประทับนั่ง ซึ่งอยู่ในปลายศตวรรษที่ 10 ถึงต้นศตวรรษที่ 11 และเศียรของรูปปั้นพระพุทธรูปสมัยศตวรรษที่ 7 จะยังคงตั้งอยู่ในห้องแสดงผลงานศิลปะเอเชียใต้ของทางพิพิธภัณฑ์ต่อไป ขณะที่รอดำเนินการส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง
Met เคยร่วมมือกับทั้งไทยและกัมพูชามาก่อนในอดีต โดยครั้งสำคัญที่สุดเกิดขึ้นในการจัดนิทรรศการ Lost Kingdoms: Hindu-Buddhist Sculpture of Early Southeast Asia, 5th to 8 Century เมื่อปี 2014 นอกจากนั้นแล้ว Met ยังได้ร่วมมือกับกัมพูชาในการส่งโบราณวัตถุกลับประเทศมาก่อน โดยในปี 2013 ทางพิพิธภัณฑ์สมัครใจที่จะคืนเทวรูปสลักคุกเข่า (Kneeling Attendants) จำนวน 2 ชิ้น ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับนายแลตช์ฟอร์ดเช่นกัน โดยเจ้าหน้าที่ของทางการกัมพูชาได้กล่าวชื่นชมว่าเป็นการส่งคืนโบราณวัตถุครั้งประวัติศาสตร์ และเปิดทางให้มีการส่งโบราณวัตถุชิ้นอื่นๆ กลับไปยังประเทศกัมพูชา ทำให้ความเป็นพันธมิตรระหว่างทางพิพิธภัณฑ์และผู้นำทางวัฒนธรรมของกัมพูชาเข้มแข็งขึ้นอีกด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ไทย-กัมพูชาเฮ! Met พิพิธภัณฑ์ชื่อดังมะกัน เตรียมส่งโบราณวัตถุล้ำค่า ที่ถูกขโมยไป คืนให้หลายสิบชิ้น
- พิพิธภัณฑ์สหรัฐเตรียมส่งคืนโบราณวัตถุ ‘พระศิวะสำริด-ประติมากรรมสตรี’ อายุศตวรรษที่ 16 กลับไทย
- เปิดเบื้องหลังได้คืน 2 บร.วัตถุ ‘นอกโพย’ ย้อนปม ‘โกลเดน บอย’ 100 ล. ชาวบ้านขุดขายฝรั่งล้านเดียว