‘วันยุโรป 9 พฤษภาคม’ เหตุใดจึงสำคัญต่อประเทศไทย

ฯพณฯ นายเดวิด เดลี เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย

“วันยุโรป 9 พฤษภาคม: เหตุใดจึงสำคัญต่อประเทศไทย”

สหภาพยุโรป ถือกำเนิดขึ้นจากสงครามเพื่อยับยั้งป้องกันสงครามระหว่างคู่อริในประวัติศาสตร์ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เหล่าผู้นำยุโรปต่างต้องการทดลองความร่วมมือระหว่างประเทศในรูปแบบใหม่ เพื่อจะหลุดพ้นจากวัฏจักรแห่งสงครามที่ครอบงำยุโรปทุกราวๆ 50 ปีในหลายศตวรรษก่อนหน้า หลังจากที่นายโรแบร์ ชูมาน (Robert Schuman) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสในขณะนั้นประกาศปฏิญญาเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1950 ประเทศยุโรปตะวันตก 6 ประเทศได้เข้าร่วมความตกลงที่จะร่วมกันบริหารจัดการอุตสาหรรมที่จำเป็นสำหรับการทำสงคราม ได้แก่ อุตสาหกรรมถ่านหิน เหล็ก และเหล็กกล้า แทนการที่แต่ละประเทศจะบริหารจัดการกันเอง

ประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้าแห่งยุโรป (European Coal and Steel Community: ECSC) ซึ่งจัดตั้งโดยประเทศเบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ลักเซมเบิร์ก และเนเธอร์แลนด์ ในปี ค.ศ. 1952 ได้พัฒนามาเป็นสหภาพยุโรป ที่มีสมาชิก 27 ประเทศในวันนี้ ประเทศสมาชิกต่างไม่ได้สละอำนาจอธิปไตยเพื่อรวมกลุ่มเพียงแค่จัดการอุตสาหกรรมที่จำเป็นสำหรับสงครามเท่านั้น แต่ในปัจจุบัน สหภาพยุโรปมีการบูรณาการร่วมกันจนเป็นตลาดเดียว (Single Integrated Market) มีนโยบายร่วมด้านการค้ากับต่างประเทศและใช้สกุลเงินเดียวกัน (ยูโร) มีการเปิดเสรีสำหรับการเคลื่อนย้ายประชากรภายในเขตแดน และมีการดำเนินการครอบคลุมประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นโยบายการต่างประเทศและความมั่นคง และอื่นๆ อีกมากมาย

ไม่ว่าจะใช้มาตรวัดใด สหภาพยุโรปถือได้ว่าประสบความสำเร็จด้านกระบวนการปรองดองจนเป็นไปไม่ได้ที่จะเห็นสงครามระหว่างประเทศสมาชิก แม้กรณีที่รัสเซียรุกรานยูเครนโดยปราศจากกฎหมายรองรับจะแสดงให้เห็นว่ายุโรปยังไม่ปลอดภัยจากสงคราม แต่สหภาพยุโรปก็มีสันติภาพและความมั่งคั่งมาโดยตลอดกว่า 70 ปี

Advertisement

ปฏิญญาชูมานที่ประกาศเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1950 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญภายในยุโรปให้เราเฉลิมฉลองวันที่ 9 พฤษภาคมของทุกๆ ปีในฐานะ “วันเกิด” ของสหภาพยุโรป แม้ว่าจะเผชิญความท้าทายมากมาย แต่พลเมืองของเราก็สามารถเฉลิมฉลองสิ่งที่สหภาพยุโรปมอบให้ได้

บนเวทีระหว่างประเทศ สหภาพยุโรปเป็นกลุ่มประชาธิปไตยที่มีลักษณะเฉพาะตัวและมีหลายส่วนที่เป็นพลวัต สมาชิกทั้ง 27 ประเทศนั้นเป็นประชาธิปไตยและพิจารณากฎหมายสหภาพยุโรปทบนโต๊ะประชุมคณะมนตรีที่กรุงบรัสเซลส์ ประชาชนของทั้ง 27 ประเทศสมาชิกยังสามารถลงคะแนนเลือกตั้งผู้แทนของพวกเขาได้โดยตรงเพื่อเข้าสู่รัฐสภายุโรปที่ทำหน้าที่พิจารณากฎหมายสหภาพยุโรปด้วย ในเดือนหน้า ประชาชนชาวยุโรปหลายล้านคนจะเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปทั้ง 705 คน จากนั้นจึงจะมีการแต่งตั้งประธานคณะมนตรียุโรปคนใหม่ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปและกรรมาธิการยุโรปแต่ละราย และผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านนโยบายการต่างประเทศและความมั่นคง

เหตุใดเรื่องเหล่านี้จึงมีความสำคัญต่อประเทศไทย?

Advertisement

สหภาพยุโรปเป็นหุ้นส่วนสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย และถือเป็นนักลงทุนต่างประเทศที่มีการลงทุนในประเทศไทยมากเป็นอันดับ 3 มีการจ้างงานกว่า 160,000 อัตรา นอกจากนี้ ยังเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของประเทศไทยที่มีมูลค่าการค้าต่อสัปดาห์อยู่ที่ 1,000 ล้านยูโร นักท่องเที่ยวจากประเทศสมาชิกอียู (1.3 ล้านคน) ที่มาประเทศไทยในไตรมาสแรกของปีนี้ ตามหลังนักท่องเที่ยวจีน (1.8 ล้านคน) เป็นอันดับ 2 เท่านั้น นักศึกษานักวิชาการชาวไทยและชาวยุโรปจำนวนมากต่างศึกษาต่อในหลักสูตรมหาวิทยาลัยของกันและกัน เช่น หลักสูตร ERASMUS+ อย่างไรก็ตาม เราต้องการทำมากกว่านี้ ซึ่งเป็นเหตุผลที่เรากำลังเจรจาการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA)

ยิ่งไปกว่านั้น สหภาพยุโรปและไทยยังยึดถือคุณค่าและมีผลประโยชน์ที่สำคัญร่วมกัน เราทั้งสองฝ่ายต่างประสงค์ดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศบนพื้นฐานของกติกาที่เห็นชอบร่วมกันผ่านระบบพหุภาคีและสอดคล้องกับกฎบัตรสหประชาชาติ จึงเป็นเรื่องน่าโศกเศร้าและอันตรายอย่างยิ่งที่หลักการเหล่านี้ถูกทำลายในพื้นที่ต่างๆ เช่น ในยูเครนและภูมิภาคตะวันออกกลาง

สหภาพยุโรปเป็นกำลังสำคัญสำหรับความดีงามในโลกใบนี้ โดยสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกให้เงินสนับสนุนมากเกือบหนึ่งในสามของเงินทุนทั้งหมดของระบบสหประชาชาติ และยังเป็นผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดด้านการพัฒนาและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทั่วโลกอีกด้วย

ความท้าทายต่างๆ ของโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการสร้างโลกที่มีความยั่งยืนมากขึ้นนั้น ล้วนเป็นประเด็นที่สหภาพยุโรปและประเทศไทยสามารถดำเนินการร่วมกันได้มากขึ้น เพราะเรายึดถือหลักการเดียวกัน แน่นอนว่าเราประสบความสำเร็จในการจัดการหลายเรื่องในอดีต ยกตัวอย่างเช่น การจัดการกับปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมาย ไร้การควบคุมและขาดการรายงาน (IUU) โดยไทยได้กลายเป็นเรื่องราวความสำเร็จในภูมิภาคในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินมาตรการต่างๆ

ประเทศไทยยังเดินหน้าสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ การเป็นสมาชิกคณะมนตรีฯ จะนำมาซึ่งเกียรติภูมิและความรับผิดชอบ การเคารพสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นความท้าทายของทุกประเทศ ทุกที่ และทุกวัน ทั้งในยุโรป ในประเทศไทย และที่อื่นๆ เราหวังว่าจะได้ประสานความร่วมมือกับผู้เจราจาฝ่ายไทยเกี่ยวกับความท้าทายต่างๆ ในด้านหลักธรรมาภิบาลและสิทธิมนุษยชนภายใต้กรอบความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (Partnership and Cooperation Agreement: PCA)

ประเทศไทยเป็นประเทศที่สำคัญในภูมิภาคที่มีความสำคัญ ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหภาพยุโรปแสดงให้เห็นถึงความสำคัญเชิงการเมืองของภูมิภาคดังกล่าวที่มีต่อสหภาพยุโรป เช่นเดียวกับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์สหภาพยุโรป-อาเซียน โดยสหภาพยุโรปสนับสนุนความเป็นแกนกลางและความพยายามของอาเซียนในการแก้ไขสถานการณ์ในเมียนมาร์ ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ

เหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้้แก่ การลงนามในความตกลง PCA และการฟื้นการเจรจา FTA นั้น บ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากขึ้นระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทย เราหวังว่าจะได้ทำงานร่วมกับมิตรสหายชาวไทยของเราเพื่อบรรลุเป้าหมายใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image