ดุลยภาคชี้ ทักษิณคุยเมียนมา-มาเลย์เรื่องธรรมดา พบไม่เป็นทางการ แนะฟังกระแสสังคม

ดุลยภาคชี้ ทักษิณคุยเมียนมา-มาเลย์เรื่องธรรมดา พบไม่เป็นทางการ แนะฟังกระแสสังคม

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวได้สอบถามความคิดเห็นของ รศ.ดร. ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับการที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยได้พบกับผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ของเมียนมา รวมถึงรายงานข่าวล่าสุดว่านายทักษิณได้พบกับนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิมของมาเลเซียเมื่อตอนเดินทางไปจังหวัดภูเก็ตเมื่อเร็วๆ นี้ และทิศทางของนโยบายต่างประเทศของไทยในเรื่องเมียนมาหลังเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ ระหว่างการบรรยายพิเศษความรู้เรื่องเมียนมา 101 และสงครามกลางเมือง ที่มติชน อคาเดมี

ในประเด็นที่นายทักษิณไปคุยกับชนกลุ่มน้อยเมียนมา รศ.ดร. ดุลยภาคกล่าวว่า การพบกันระหว่างนายทักษิณและกลุ่มชาติพันธุ์ของเมียนมาเกิดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ การที่ผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์เมียนมาไปพบกับนักการเมืองคนไหน ผู้มีอำนาจคนไหนในประเทศใดนั้น เขาเดินเรื่องแบบนี้มานานแล้วเป็นสิบปี เป็นกลยุทธ์การอยู่รอดของกลุ่มชาติพันธุ์ ดังนั้นเขาก็ต้องเลือกเดินเกมแบบไม่เป็นทางการในการติดต่อกับผู้ใหญ่หรือบุคคลสำคัญ ซึ่งแน่นอนว่าขณะนี้รัฐบาลของไทยเป็นของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเขารู้ว่าคุณทักษิณเป็นคนที่มีบารมีและอาจช่วยตอบโจทย์ของกองกำลังชาติพันธุ์ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะคุยกับบุคคลสำคัญของไทยเพียงแห่งเดียว แต่ยังมีบุคคลสำคัญของอีกหลายประเทศที่กลุ่มชาติพันธุ์ต้องไปวิ่งติดต่อพูดคุย

อย่างไรก็ดี รศ.ดร. ดุลยภาคได้ฝากข้อสังเกตว่า รัฐบาลทหารเมียนมายอมรับได้หากผู้ที่เข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ยมีลักษณะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจาพูดคุยระหว่างกองทัพเมียนมาและชนกลุ่มน้อย แต่รัฐบาลเมียนมาจะไม่ยอมรับในการให้มีคนกลางมาเจรจาไกล่เกลี่ย เพราะจะถูกลดอำนาจให้เท่ากับคู่ไกล่เกลี่ยและต้องฟังคนกลาง ซึ่งหากเป็นไปตามที่มีการรายงานข่าวจริง ถือว่านายทักษิณจะมีบทบาทในการเป็นตัวกลางไม่ใช่ผู้อำนวยความสะดวก จึงไม่แปลกใจที่รัฐบาลทหารเมียนมายังคงไม่ออกมาตอบรับ

Advertisement

ขณะที่ล่าสุดมีรายงานข่าวว่านายทักษิณได้ไปพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีอิบราฮิมของมาเลเซียเมื่อตอนเดินทางไปจังหวัดภูเก็ตเมื่อเร็วๆนี้ รศ.ดร. ดุลยภาคให้ความเห็นว่า นายทักษิณเองก็เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและอดีตนายกรัฐมนตรีที่เคยมีบทบาททำให้การต่างประเทศของไทยเป็นเชิงรุกและมีชื่อเสียงระดับเอเชีย ก็เป็นธรรมดาของตัวนายทักษิณเพราะนายทักษิณมีสายสัมพันธ์เยอะและสนใจเรื่องการทำอย่างไรให้ไทยมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ แต่การพบกันจะเป็นไปอย่างไม่เป็นทางการ เหมือนกับการพบกันระหว่างนายทักษิณและกลุ่มชาติพันธุ์เมียนมาที่ปิดข่าวมาได้ 1 – 2 เดือนก่อนที่จะเพิ่งเป็นข่าวเมื่อเร็วๆนี้ นายทักษิณอาจต้องดูกระแสสังคมด้วยที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้อย่างมาก และต้องดูระเบียบของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งตนคิดว่าอาจไม่เป็นการผิดระเบียบแต่ก็ต้องระมัดระวังในการแสดงบทบาท

ส่วนในคำถามว่านโยบายต่างประเทศของไทยในเรื่องเมียนมาจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ หลังมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ รศ.ดร. ดุลยภาคกล่าวว่า เรื่องนโยบายต่างประเทศไทยในสมัยของนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ ขณะนี้กำลังอยู่ในระยะรอยต่อในการปรับกระบวนการทำงานภายใน แต่นายมาริษเองก็ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีต่างประเทศอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเขาจะรู้กระบวนการต่างๆ ภายในอยู่แล้ว แต่ในเรื่องของเมียนมานั้นอาจต้องพึ่งบุคลากรจากกรมเอเชียตะวันออกของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งกรมเอเชียตะวันออกและเอกอัครราชทูตไทยประจำนครย่างกุ้งอาจต้องทำงานหนักในการถ่ายเทข้อมูลให้กับรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ แต่นโยบายไทยต่อเมียนมาไม่ได้พึ่งกระทรวงการต่างประเทศเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องพึ่งกระทรวงกลาโหมและกองทัพบก อีกหน่วยงานหนึ่งก็คือสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติอีกด้วย ตนคิดว่าความสำเร็จจะอยู่ที่องค์กรเหล่านี้จะทำงานเป็นเอกภาพและแบ่งปันข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไรบ้าง รวมถึงอาจต้องใช้องคาพยพอื่นๆ เสริมด้วย ก็ต้องจับตาดูว่าจะมีขั้นตอนหรือเวทีมากขึ้นให้ภาคส่วนอื่นๆ เข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเมียนมาอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image