รายงาน : ปาฐกถาพิเศษ “50ปีอาเซียน”

อย่างที่เคยเกริ่นกันไว้ตั้งแต่ช่วงต้นปีแล้วว่า ปี 2560 นับเป็นปีสำคัญของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน เพราะเป็นปีที่ 50 ของการก่อตั้งอาเซียนขึ้น จากการรวมตัวเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการรับมือกับภัยคุกคามทางการเมืองในอดีต อาเซียนได้พัฒนาและเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าภายใต้กรอบอาฟต้า และกลายมาเป็นประชาคมอาเซียนที่มีความร่วมมือกันทุกมิติเช่นในปัจจุบัน

50 ปีของการผ่านร้อนผ่านหนาว เผชิญทั้งอุปสรรคและความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า ความท้าทายทั้งจากปัญหาที่เกิดขึ้นภายในอาเซียนเองและปัจจัยต่างๆ จากภายนอก รวมถึงกระแสการเมืองโลกที่ร้อนแรง ความร่วมมือของอาเซียนที่ยืนอยู่บนความแตกต่างหลากหลายได้กลายเป็นแก่นแกนหลักในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของชาติสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ และเป็นฐานอันมั่นคงสำหรับความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศต่างๆ รวมถึงองค์การระหว่างประเทศในโลกอีกด้วย

เมื่อเร็วๆ นี้ กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ได้เริ่มต้นจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสสำคัญแห่ง 50 ปีของการก่อตั้งอาเซียนขึ้น โดยได้เชิญบุคคลต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาเซียนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อาทิ อดีตอธิบดีกรมอาเซียน อดีตเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน เอกอัครราชทูตอาเซียนประจำประเทศไทย ตลอดจนคณะทูตานุทูตต่างประเทศในไทย มาร่วมงานปาฐกถาพิเศษ “ASEAN@50 : for Now and Posterity” โดย นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นงานแรกของกิจกรรมที่จะมีการจัดขึ้นต่อเนื่องตลอดทั้งปี

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวระหว่างเปิดงานว่า ความร่วมมือของอาเซียนในอดีตอยู่บนหลักการ 3 ซี คือ Consensus หรือฉันทามติ Consultation หรือการปรึกษาหารือ และ Cooperation หรือความร่วมมือระหว่างกัน ขณะที่ในยุคใหม่นี้อาเซียนก็ยังคงยึดมั่นในหลักการ 3 ซี เช่นเดิม แต่ได้กลายเป็น Connectivity หรือความเชื่อมโยง Community หรือประชาคม และ Centrality หรือความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในการผลักดันความร่วมมือต่างๆ ที่มีอยู่ ปัจจุบันอาเซียนซึ่งเป็นประชาคมที่มีคนกว่า 620 ล้านคน เป็นประชาคมที่มีความหมายมาก และมีบทบาทสูง ทั้งยังเป็นประชาคมที่มีวิสัยทัศน์และมีพลังที่จะร่วมมือกับกลุ่มประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอื่นๆ

Advertisement

รายงาน1

ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมองว่าเป็นความท้าทายของอาเซียนที่ก้าวเข้าสู่ปีที่ 50 คือ การยึดมั่นในข้อตกลงต่างๆ ที่มีและพันธกรณีระหว่างกันเพื่อทำให้ประชาคมอาเซียนก้าวหน้าต่อไปสมกับเจตนารมณ์ หลายคนอาจมองว่าเมื่อก้าวเข้าสู่การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนแต่ดูเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ในความจริงแล้วการเป็นประชาคมไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในทันที สิ่งสำคัญคือการปรับโครงสร้างและเจตนารมณ์ของประเทศต่างๆ จะต้องเดินหน้าต่อไป ประชาชนจะต้องรับรู้เกี่ยวกับอาเซียนมากขึ้นเรื่อยๆ

การผลักดันความร่วมมือในทั้ง 3 เสาหลัก คือ การเมืองและความมั่นคง, เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรม จะต้องทำให้เกิดเป็นรูปธรรมและเป็นพลังตามวิสัยทัศน์อาเซียน 2025 ที่ผู้นำได้ให้การรับรองไปแล้ว ทุกภาคส่วนในอาเซียน ไม่ว่าภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชารัฐ ต้องให้คุณค่ากับเรื่องดังกล่าว และต้องไม่ลืมว่าถ้าเราต่างคนต่างเดิน น้ำหนักของเราบนโลกใบนี้จะไม่พอ แต่เมื่อเรารวมตัวกันเป็นอาเซียน น้ำหนักจะมาทันที เพราะคน 620 ล้านถือเป็นตลาดใหญ่ที่มีกำลังสำคัญ น้ำหนักของอาเซียนนั้นมีมาก แต่เราก็ต้องทำให้น้ำหนักนั้นเกิดประโยชน์

Advertisement

หากมองย้อนกลับไปยัง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา จะเห็นว่าอาเซียนมาไกลแค่ไหน จากภูมิภาคที่เต็มไปด้วยปัญหาและการแก่งแย่งแข่งขัน จากความร่วมมือหลวมๆ บนพื้นฐานของการหารืออย่างไม่เป็นทางการ กลายเป็นความร่วมมือที่เข้มแข็งและเป็นหนึ่งเดียวกัน 50 ปีผ่านไป อาเซียนเป็นที่นับหน้าถือตาในฐานะหนึ่งในความร่วมมือระดับภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด และยังคงปรับตัวเพื่อตอบสนองกับความต้องการที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาของเราอยู่เสมอ อาเซียนจะประสบความสำเร็จได้ไม่ได้อยู่ที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้เรามีประสิทธิภาพที่จะทำตามคำประกาศที่บรรจุไว้ในปฏิญญาอาเซียนด้วย

ด้าน นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีต รมว.การต่างประเทศ และอดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวปาฐกถาว่า ภูมิหลังของการก่อตั้งอาเซียนในช่วงสงครามเย็น สภาวการณ์ระหว่างประเทศเต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง ทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำเป็นต้องมีเวทีเพื่อรักษาอัตลักษณ์และเอกภาพของตนเอง ไปพร้อมๆ กับการมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ ท่ามกลางความตึงเครียดและการหน้าเผชิญต่างๆ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย จึงได้ร่วมกันก่อตั้งอาเซียนขึ้นเพื่อรักษาเอกราช สันติภาพ และความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประชาชนและอนุชนของเรา ดังที่ปรากฏในวรรคสุดท้ายของปฏิญญาอาเซียน ที่ลงนามเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 ที่กรุงเทพมหานคร

รายงาน2

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อาเซียนประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า เปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตร และทำให้ประเทศมหาอำนาจทั้งหลายในโลกเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับอาเซียนโดยใช้อำนาจในการชักจูง (convening power) ของอาเซียน ขณะที่เมื่อมองอาเซียนในโลกปัจจุบัน เราจะเห็นว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไป อาเซียนต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนและความท้าทายต่างๆ ที่ส่งผลให้บทบาทของเวทีพหุภาคีที่ตั้งขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สั่นคลอนและลดบทบาทลง ถือได้ว่าระบบพหุภาคีกำลังถูกโจมตีโดยโลกกำลังก้าวสู่ความเป็นเอกภาคนิยม (unilateralism) ที่สนใจแค่ประโยชน์ของตนเอง ด้วยเหตุนี้ อาเซียนจึงทวีความสำคัญมากขึ้น และมีบทบาทในการรักษาอธิปไตยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้

อย่างไรก็ดี อาเซียนจะต้องมองไปในอนาคต โดยการปล่อยวางความแตกต่างและความรู้สึกจากอดีต และพร้อมลุกขึ้นมาทบทวนแนวคิด รวมถึงหลักการที่เป็นแกนสำคัญของอาเซียน อาทิ การปรับหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน เพราะการบูรณาการระดับภูมิภาคลดลง ซึ่งทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของหลักการนี้ลดลงไปด้วยเช่นกัน การบูรณาการจะทำให้อาเซียนต้องร่วมกันบริหารจัดการทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดีที่มาพร้อมกับความเชื่อมโยงระหว่างกันที่เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ อาเซียนจะต้องหันมาดูเรื่องการสร้างเศรษฐกิจที่ยุติธรรม ว่าจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียนโปร่งใส มีประสิทธิภาพ มีความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน มีความสามารถในการแข่งขัน และสำคัญที่สุดคือ การมีความยุติธรรม (economic justice) ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาเซียนควรจะลงทุนด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้มากขึ้น เพื่อก้าวให้พ้นกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ส่วนประเด็นเรื่องการลงทุน อาเซียนควรจะลงทุนระหว่างกันมากขึ้น ส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ลงทุนในประเทศอาเซียนมากขึ้น และต้องทำให้อาเซียนมีสภาวะที่เอื้อต่อการลงทุนจากต่างประเทศ

ขณะเดียวกัน เราต้องตระหนักว่าประชาธิปไตยเป็นปัจจัยสำคัญของการเจริญเติบโต อาเซียนจะต้องปรับตัวให้เข้ากับหลักการต่างๆ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ อาทิ การธำรงไว้ซึ่งหลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส หลักความรับผิดชอบ ทำให้ประชาชนรู้สึกตื่นตัวกับสิทธิเสรีภาพของตน ที่สำคัญคือ การเสริมสร้างและส่งเสริมให้อาเซียนเป็นอาเซียนของประชาชน ทำให้ประชาชนทุกคนรู้สึกว่า ตนเองเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนและใช้ประโยชน์จากอาเซียนอย่างเต็มที่

หลากข้อคิดที่น่าสนใจจากผู้ที่ถือได้ว่ามีส่วนรับผิดชอบกับการผลักดันนโยบายและความร่วมมือของอาเซียนเหล่านี้ เป็นมุมมองที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาความร่วมมือภายในอาเซียนต่อไปในอนาคต และทำให้เราตระหนักว่า แม้อาเซียนจะมีอายุมากถึงครึ่งศตวรรษ แต่ยังคงมีงานอีกมากที่จะต้องทำต่อไป เพื่อให้อาเซียนเป็นประชาคมสำหรับภูมิภาคที่สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนอย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image