คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: ยุทธศาสตร์แห่งอาวุธนิวเคลียร์

โลกทั้งใบมีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายในห้วงเวลาหนึ่งๆ ดังนั้นแม้ในยามที่ความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลียังไม่สร่างซา อีกหลายเรื่องก็หันเหความสนใจของผู้คนส่วนใหญ่ไปจากเกาหลีเหนือไม่น้อย ทั้งๆที่เดิมพันและความสุ่มเสี่ยงของสถานการณ์ในเอเชียตะวันออกยามนี้ ทำให้ผู้สันทัดกรณีบางคนถึงกับออกปากว่า เหมือนกับวิกฤตขีปนาวุธนิวเคลียร์คิวบาที่กำลังพัฒนาขึ้นมาแบบสโลว์โมชั่นเลยทีเดียว

ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา เว็บไซต์ 38 นอร์ธ ที่อุทิศตัวเพื่อการเกาะติดสถานการณ์ในเกาหลีเหนือโดยเฉพาะ รายงานว่า พบเห็นความเคลื่อนไหวในเกาหลีเหนือที่แสดงให้เห็นว่า กำลังเตรียมทดลองอาวุธนิวเคลียร์ครั้งใหม่ ทั้งๆที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ยื่นคำขาด “ห้าม” เอาไว้แล้ว

อาวุธนิวเคลียร์ แตกต่างจากอาวุธชนิดอื่นๆ ในบรรดาสรรพาวุธทั้งหลายที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมา อาวุธนิวเคลียร์ถูกจัดแยกไว้ในหมวดหมู่ของตัวเองโดยเฉพาะ ด้วยอานุภาพทำลายล้างมหาศาลของมัน

กระบวนการทำความเข้าใจในการพัฒนา การครอบครอง เรื่อยไปจนถึงการใช้งานอาวุธนิวเคลียร์จึงแตกต่างและซับซ้อนไปจากอาวุธอื่นใดทั้งหมด

Advertisement

ยุทธศาสตร์ในการมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครองจึงแตกต่างอย่างใหญ่หลวงกับการมีอาวุธอื่นใดไว้ในครอบครองทั้งหมด และชวนให้เกิดความเข้าใจไขว้เขวได้ง่ายมาก

เหมือนเช่นที่ครั้งหนึ่ง ทรัมป์ ในตอนที่ยังเป็นเพียง “แคนดิเดต” ถึงกับออกปากถามออกมาว่า มีนิวเคลียร์แล้ว “ไม่ใช้” จะมีประโยชน์อะไร?

ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครแน่ใจว่า ทรัมป์ เข้าใจคำตอบของคำถามนี้ถ่องแท้แค่ไหน

Advertisement

หรือคำถามในเชิงที่ว่า มีอีกหลายประเทศมากที่มี “ศักยภาพทางนิวเคลียร์” แล้วทำไมถึงต้อง “เอาเป็นเอาตาย” กับเกาหลีเหนือเพียงประเทศเดียว? ใช่หรือไม่ว่า สภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงเพราะพฤติกรรมของผู้นำเกาหลีเหนือ?

การทำความเข้าใจเรื่องนี้ต้องเริ่มต้นจากอานุภาพทำลายล้างมหาศาลของอาวุธนิวเคลียร์ที่มีตัวอย่างให้เห็นจาก อาวุธนิวเคลียร์ชนิดที่หยาบและเป็นเบื้องต้นที่สุดที่ถูกนำมาใช้ที่ฮิโรชิมา และนางาซากิ ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตระหว่าง 129,000-226,000 คนเป็นอย่างน้อย และมีอีกจำนวนมากที่ต้องตายทีละน้อยจากพิษรุนแรงของกัมมันตภาพรังสี

อำนาจทำลายชนิดสยดสยองดังกล่าว ทำให้อาวุธนิวเคลียร์มีประโยชน์อย่างยิ่งในการป้องกันไม่ให้ประเทศผู้ครอบครองตกเป็นเป้าถูกรุกรานจากประเทศอื่น ในขณะเดียวกันก็กลายเป็นพลังในการก่อให้เกิดความยับยั้งชั่งใจระหว่างชาตินิวเคลียร์ 2 ชาติไม่ให้โจมตีซึ่งกันและกัน หรือป้องปรามให้อีกประเทศ “คิดหนัก” มากหากต้องการเคลื่อนไหวอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งจะคุกคามต่อความมั่นคงของอีกประเทศหนึ่ง

เกาหลีเหนือยังคงเป็นเกาหลีเหนืออยู่ได้จนทุกวันนี้ เพราะที่ผ่านมา ผู้นำประเทศยังคงคิดคำนวณอย่างระมัดระวังและรอบคอบ และเลือกที่จะเคลื่อนไหวในหนทางที่ไม่ก่อให้เกิด “เหตุปัจจัย” ที่นำอันตรายมาสู่ตนเองและประเทศชาติ ด้วยเหตุที่ว่า ถ้าเมื่อใดก็ตามที่เกาหลีเหนือตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์ของตน อานุภาพในการ “ป้องปราม” ที่มีอยู่ก็จะหมดไปทันที

คำถามที่ตามมาก็คือ แท้จริงแล้ว เกาหลีเหนือ เป็นชาติที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์แล้วหรือไม่?

 

 

เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์เกาหลีเหนือ เราสามารถมองย้อนกลับไปได้ว่า ทุกวันนี้มีกี่ประเทศที่ถือกันว่าเป็นชาติที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์พร้อมกับมีศักยภาพทางนิวเคลียร์ชนิด “เต็มรูปแบบ” ซึ่งในเวลาเดียวกันก็ช่วยให้เราสามารถทำความเข้าใจได้เพิ่มเติมว่า คุณลักษณะสำคัญของอาวุธนิวเคลียร์ในทางยุทธศาสตร์นั้น คืออย่างไรกัน

หากไม่นับเกาหลีเหนือ ทั้งโลกมีอีกเพียง 8 ประเทศเท่านั้นที่มีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา, รัสเซีย, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, อิสราเอล, จีน, ปากีสถานและอินเดีย

คุณลักษณะสำคัญของอาวุธนิวเคลียร์ในทางยุทธศาสตร์นั้นประกอบด้วย 3 อย่าง หนึ่งคือ จำนวนหัวรบนิวเคลียร์, สองคือ ความแตกต่างระหว่างอาวุธนิวเคลียร์ที่อยู่ใน “ประจำการ” กับอยู่ในฐานะ “อาวุธสำรอง” และสุดท้ายคือ แต่ละประเทศมีระบบนำส่งหัวรบเหล่านั้นสู่เป้าหมายหรือไม่และอย่างไร

รัสเซีย มีหัวรบนิวเคลียร์อยู่ในครอบครองมากที่สุด คือ 4,500 หัวรบ โดย 1,800 ลูกในจำนวนนี้ถูกติดตั้งประจำการพร้อมใช้งาน, รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา 4,480 ลูก มีอยู่ในประจำการ 1,740 ลูก, อังกฤษมี 215 ลูก มี 120 ลูกที่ติดตั้งประจำการพร้อมใช้งาน, ส่วนฝรั่งเศส มีหัวรบ 300 ลูกอยู่ในประจำการทั้งหมด

ชาติที่เหลือนอกจากนั้นมีหัวรบนิวเคลียร์ แต่อยู่ในฐานะ “อาวุธสำรอง” กล่าวคือ จำเป็นต้องมีขั้นตอนสุดท้ายในการเคลื่อนย้ายเพื่อนำไปติดตั้งกับระบบนำส่งก่อนที่จะนำมาใช้งาน ประกอบด้วย จีน 270 ลูก, ปากีสถาน 140 ลูก, อินเดีย 120 ลูกและอิสราเอลที่มีหัวรบนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง 80 ลูกด้วยกัน

ระบบนำส่งหัวรบไปยังเป้าหมายก็สำคัญในทางยุทธศาสตร์เช่นเดียวกัน เพราะนั่นหมายถึงการจำแนกศักยภาพของประเทศนั้นๆว่า มีขีดความสามารถในการตอบโต้ศัตรูหรือไม่ในกรณีที่ถูกโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ก่อน

ระบบนำส่งดังกล่าวถูกเรียกเป็น “ไตรลักษณ์” คือ 3 ชนิดด้วยกัน แบบแรกคือ ระบบการยิงภาคพื้นดิน ซึ่งปกติมักเป็น ขีปนาวุธที่มีพิสัยทำการข้ามทวีป แต่บางกรณีก็สามารถพัฒนาให้จรวดนำวิถีแบบครูสให้ติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ได้ แต่ใช้การยิงจากฐานยิงภาคพื้นดินเช่นกัน แบบที่ 2 คือระบบการยิงจากเรือดำน้ำ (เอสแอลบีเอ็ม) และแบบที่ 3 คือ การใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดในการนำส่งอาวุธนิวเคลียร์

ในจำนวน 3 ชนิดดังกล่าวนี้ ระบบการยิงจากภาคพื้นดิน โดยเฉพาะขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป (ไอซีบีเอ็ม) นั้นใช้เวลาสู่เป้าหมายน้อยที่สุด ในขณะที่ระบบการยิงจากเรือดำน้ำ อำนวยให้มีศักยภาพในการตอบโต้ (หรือ เซคกันด์สไตรค์) ได้ในกรณีที่ฐานยิงไอซีบีเอ็มถูกทำลายจากการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของศัตรูในการโจมตีก่อนครั้งแรก
การใช้เครื่องบินทิ้งระเบิด ใช้เวลานานที่สุด แต่ยืดหยุ่นมากที่สุด เพราะสามารถเรียกกลับ ล้มเลิกภารกิจโจมตีได้กลางคัน

ในโลกนี้ ที่รู้กันชัดเจนว่ามีศักยภาพครบทั้งไตรลักษณ์ ก็คือ สหรัฐอเมริกากับรัสเซีย, จีนกับอินเดีย ก็ “เชื่อกันว่า” มีทั้ง 3 ชนิดเช่นกัน ฝรั่งเศส ไม่มีฐานยิงภาคพื้นดินแต่มีเอสแอลบีเอ็ม และเครื่องบินทิ้งระเบิด เช่นเดียวกับปากีสถาน แต่ที่น่าสนใจก็คือ อิสราเอล ไม่ปรากฏข้อมูลในเรื่องนี้

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า เกาหลีเหนือมีหัวรบนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง ไม่เกิน 20 หัวรบ และกำลังพยายามอย่างหนักเพื่อพัฒนาระบบนำส่งของตนที่ยังไม่มีอยู่ในเวลานี้

 

 

นอกจาก 9 ประเทศ (รวมเกาหลีเหนือ) ดังกล่าวแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่ “เคยมี” แต่ “ล้มเลิก” โครงการนิวเคลียร์ของตนไปแล้ว ตามสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (เอ็นพีที) ของสหประชาชาติ ตัวอย่างเช่น เบลารุส, คาซักสถาน และ ยูเครน ซึ่งล้วนได้รับสืบทอดอาวุธนิวเคลียร์จากสหภาพโซเวียตที่ล่มสลายเมื่อปี 1991 แต่ส่งมอบคืนให้รัสเซียเพื่อนำไปทำลายในราวกลางทศวรรษ 1990 เมื่อเข้าร่วมเป็นภาคีเอ็นพีที

แอฟริกาใต้ ยังคงเป็นชาติเดียวในโลกนี้ที่พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตนขึ้นมา (ผลิตหัวรบนิวเคลียร์ได้ 6 ลูก) แล้วประกาศยกเลิกโครงการทั้งหมด เข้าร่วมเป็นภาคีเอ็นพีทีในปี 1991 หลังจากระบอบการปกครองเหยียดผิวและความตึงเครียดจากสงครามเย็นยุติลง

ในอเมริกาใต้ มี 7 ประเทศ รวมทั้งอาร์เจนตินาและบราซิล ที่เลิกล้มโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตนก่อนที่จะบรรลุผลในการผลิตหัวรบได้และเข้าร่วมในเอ็นพีที

ข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ เกาหลีใต้ และ ไต้หวัน ก็เคยลอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเองเช่นเดียวกัน โครงการอาวุธนิวเคลียร์ลับของทั้งสองประเทศถูกเครือข่ายข่าวกรองนานาชาติเปิดโปงในทศวรรษ 1970 เกาหลีใต้ล้มเลิกโครงการไปแล้วเข้าร่วมเป็นภาคี เอ็นพีทีในปี 1975 ส่วนไต้หวันถูกสหรัฐอเมริกาบีบจนต้องเลิกล้มโครงการไปในปี 1988

ในตะวันออกกลาง อิรัก, ซีเรีย และลิเบีย มีโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง โครงการอาวุธนิวเคลียร์ของอิรัก ถูกทำลายโดยกองกำลังพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐอเมริกาในสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรก ลิเบียภายใต้การนำของโมอัมมาร์ กาดาฟี ยอมสมัครใจเลิกล้มโครงการในปี 2003 ส่วนโครงการของซีเรียที่ได้รับความช่วยเหลือจากเกาหลีเหนือชะงักงันเพราะถูกอิสราเอลโจมตีทางอากาศในปี 2007 และไม่สามารถฟื้นฟูโครงการได้อีกจนถึงขณะนี้

ในขณะเดียวกัน ยังมีอีกไม่น้อยกว่า 31 ประเทศทั่วโลกซึ่งมีโครงการนิวเคลียร์ในทางสันติ (ทั้งการใช้เพื่อเป็นพลังงานและการศึกษาวิจัยด้านการแพทย์และอื่นๆ) แต่สามารถนำเอาศักยภาพของโครงการดังกล่าวไปใช้ในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้

ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์นิวเคลียร์เรียกประเทศเหล่านี้ว่า เป็นประเทศที่มี “ศักยภาพนิวเคลียร์แฝง” เพราะมีทั้ง “ความรู้ทางเทคนิค”, สามารถ “เข้าถึงวัตถุดิบ” และ “มีภาคอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว” ซึ่งเป็น 3 ปัจจัยสำคัญในการสร้างอาวุธนิวเคลียร์

แต่ในจำนวนนี้มี 5 ประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ คือ อิหร่าน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ไต้หวัน และเยอรมนี

ด้วยเหตุที่ว่า หากประเทศหนึ่งประเทศใดในจำนวนนี้ สามารถครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ได้ จะส่งผลสะเทือนรุนแรงทั้งต่อความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆในภูมิภาคและดุลอำนาจในระดับโลก

ความพยายามไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ที่ผ่านมาจะไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง

 

 

ด้วยเหตุนี้ ไม่จำเพาะเพียงแค่เกาหลีเหนือ หรือ อิหร่าน เท่านั้นที่มี “เรดไลน์” ที่สหประชาชาติขีดเอาไว้ในแง่ของการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ หากมีความพยายามล่วงละเมิดขีดจำกัดดังกล่าวนี้ ก็เท่ากับเป็นการเชิญชวนให้นานาชาติใช้วิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อกดดันหรือบีบบังคังให้กลับเข้าสู่แนวเส้นสมมุติที่ว่านั้น มาตรการดังกล่าวเหล่านี้เป็นไปได้ตั้งแต่วิธีการทางการทูต เรื่อยไปจนถึงการใช้กำลังบีบบังคับ หรือ ทำลายขีดความสามารถทางนิวเคลียร์ของประเทศนั้นๆ

เกาหลีเหนือ ตกเป็นเป้าจับตามองของโลกด้วยเหตุนี้ การมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครองพร้อมทั้งระบบยิงครบทั้ง 3 ไตรลักษณ์ของเกาหลีเหนือ จะส่งผลสะเทือนรุนแรงมากต่อดุลยภาพด้านความมั่นคงในภูมิภาค

เห็นได้ชัดเจนว่า ในเวลานี้ทั้งในเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเอง เริ่มเกิดคำถามขึ้นแล้วว่า ควรหรือไม่ที่จะพัฒนาศักยภาพทางนิวเคลียร์ของตัวเองขึ้นมา

ในอีกด้านหนึ่ง ข้อเท็จจริงทั้งหมดเหล่านี้ ไม่ได้หมายความว่า มีเพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่เป็นผู้ตัดสินใจได้ว่า พัฒนาการในเร็วๆนี้ของเกาหลีเหนือ คือพฤติกรรมที่ “ล้ำเส้นตาย” ดังกล่าวหรือไม่ รวมทั้งเป็นผู้ชี้ขาดว่า การใช้กำลังตอบโต้พฤติกรรมดังกล่าวคือมาตรการที่เหมาะสมที่สุดแล้ว

เพราะเดิมพันของเรื่องนี้อาจหมายถึง “สงครามนิวเคลียร์” ที่เราไม่เคยพบเห็นกันมาก่อนก็เป็นได้!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image