คอลัมน์ แกะรอยต่างแดน : เสียงระฆังที่จะหายไป 4 ปี เมื่อ “บิ๊กเบน” ปิดซ่อม

REUTERS/Neil Hall

“บิ๊กเบน” หนึ่งในสัญลักษณ์ที่เป็นเสมือนตัวแทนของประเทศอังกฤษ ซึ่งจริงๆแล้ว เป็นชื่อเรียกเล่นๆของ “เกรท เบล” มหาระฆังบน เอลิซาเบธ ทาวเวอร์ หรือชื่อเดิมคือ “คล็อกทาวเวอร์” หรือหอคอยนาฬิกา ส่วนหนึ่งของอาคารรัฐสภา ซึ่งตั้งอยู่บริเวณตอนเหนือสุดของพระราชวังเวสมินส์เตอร์ ในกรุงลอนดอน เมืองหลวงของอังกฤษ ที่หลังจากใช้งานมากว่าร้อยปี ก็ได้เวลาปิดปรับปรุงซ่อมแซมระฆังยักษ์ใบนี้แล้ว

คล็อกทาวเวอร์ ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น เอลิซาเบธทาวเวอร์ เมื่อปี ค.ศ.2012 เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสการครองราชย์ครบ 60 ปีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แต่หลายคนกลับเรียกหอคอยและอาคารรัฐสภาแห่งนี้ว่า “บิ๊กเบน”

ที่มาที่ไปของบิ๊กเบนนี้ เริ่มต้นขึ้นจากพระราชวังเวสมินส์เตอร์เดิม ถูกไฟเผาไหม้ทำลายไปเมื่อปี ค.ศ.1834 จึงได้มีการออกแบบสร้างอาคารรัฐสภาขึ้นมาใหม่ โดยจะสร้างให้มีหอคอยและมีนาฬิกาอยู่ด้วย โดยมีการสร้างระฆังขนาดใหญ่ขึ้นมา โดยให้บริษัท จอห์น วอร์เนอร์ แอนด์ซันส์ ทำขึ้น แต่ระฆังก็เกิดการแตกร้าวขึ้นมาก่อนระหว่างการเคลื่อนย้ายจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ ทำให้ต้องมีการสร้างขึ้นมาใหม่และเสร็จสิ้นเมื่อปี 1858 เป็นมหาระฆังที่มีน้ำหนักถึง 13 ตันครึ่ง ตั้งอยู่บนหอคอยที่สูง 96.3 เมตร โดยตัวนาฬิกาอยู่สูงจากพื้น 55 เมตร ส่วนตัวของนาฬิกาที่บอกเวลานั้น หน้าปัดมีความกว้าง 24 ฟุต

แล้วเสียงระฆังของบิ๊กเบนก็ดังขึ้นทั่วเวสมินส์เตอร์เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 1859

Advertisement

แต่หลังจากนั้นไม่นาน เดือนกันยายน 1859 ระฆังก็เกิดการแตกร้าวขึ้นมาอีก ทำให้ต้องมีการแก้ไขค้อนที่เคาะระฆังให้มีน้ำหนักที่เบาลง และหมุนระฆังให้ด้านที่ไม่ร้าวถูกตีแทน ส่วนบริเวณที่แตกร้าวก็มีการซ่อมแซมและถูกใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เสียงของระฆังแตกต่างไปจากเสียงระฆังในตอนแรกๆเล็กน้อย

สำหรับที่มาที่ไปของชื่อบิ๊กเบน ก็ไม่เป็นที่แน่ชัด ว่ากันว่า มีอยู่ 2 ทฤษฎีด้วยกัน ทฤษฎีแรก คือเป็นการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ เซอร์ เบนจามิน ฮอลล์ ซึ่งเป็นประธานของหน่วยงานที่จัดทำหอนาฬิกาแห่งนี้ อีกทฤษฎีคือ เป็นการตั้งชื่อเพื่อให้เกียรติแก่ เบนจามิน เคาท์ นักมวยแชมป์เฮฟวี่เวทชื่อดังของอังกฤษ

ไม่ว่าชื่อจะมาจากไหนก็ตาม บิ๊กเบน ก็ถือเป็นชื่อที่คนทั่วโลกรู้จักกันดี และเมื่อเวลาล่วงเลยผ่านไป 158 ปี นับตั้งแต่การตีระฆังครั้งแรก ก็ได้เวลาสำหรับการซ่อมแซมมหาระฆังแห่งนี้ ทำให้มหาระฆังที่เคยดังทุกๆชั่วโมง

Advertisement

ต้อง “เงียบ” เสียงลงไปยาวนานอีก 4 ปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image