ท่องโลก NFT ส่งต่อแรงบันดาลใจ กับ The Tu!! ‘ณัชพล ตุ๊เสงี่ยม’ ศิลปินที่ขอวาดรูปไปจนตาย

เมื่อพูดถึง NFT ที่เป็นกระแสบนโลกดิจิทัลในช่วงที่ผ่านมา แน่นอนว่าต้องมีทั้งคนที่เข้าใจดี และคนที่ยังไม่คุ้นชิน สิ่งนี้เองได้เข้ามาเปิดมิติใหม่ให้กับวงการศิลปะ สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้ศิลปินมากความสามารถหลายต่อหลายคน พร้อมจุดประกายโอกาสและดึงศักยภาพที่มีไปให้ไกลกว่าเดิม 

เรื่องราวศิลปะครั้งนี้ถูกถ่ายทอดผ่านเส้นทางชีวิตของ ตุ๊ – ณัชพล ตุ๊เสงี่ยม หรือที่รู้จักกันในนาม The Tu!! ศิลปิน NFT ชื่อดังคนแรกๆ ของไทย ที่พาผลงานตัวเองไปไกล จนสร้างมูลค่าหลักแสน! และบทบาทล่าสุดกับศิลปินหลักเจ้าของ Solo Exhibition ใน Metro Art ซีรีส์ 2 “Playable Art : อาร์ตเล่นได้” ณ MRT สถานีพหลโยธิน

ความหลงใหลในศิลปะ ตอนอายุ 4 ขวบ

เมื่อถามถึงจุดเริ่มต้นเส้นทางศิลปิน และความหลงใหลในงานศิลปะ ตุ๊เล่าว่า ตั้งแต่จำความได้ คือตอนประมาณ 4 ขวบ ที่รู้ตัวว่าชอบวาดรูป แต่ก็ไม่ได้เอะใจอะไรมาก เพราะคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาของวัยเด็ก 

Advertisement

“ครั้งหนึ่งเคยไปวาดรูปลงบนผนังคลิกนิกทำฟันของพ่อแม่ ความน่ารักคือ พ่อกับแม่ไม่ได้ลบออก ปล่อยให้กำแพงเป็นลวดลายเลอะๆ แบบนั้น ทำให้รู้สึกว่าพวกเขาพร้อมที่จะซัพพอร์ตในทางที่เราจะเป็น เลยลองวาดรูปมาเรื่อยๆ แล้วก็ชอบวาดมาตั้งแต่ตอนนั้น

“แต่ถ้าจริงจังกับการทำงานศิลปะ คือช่วงมัธยมปลาย ที่เริ่มติวเข้ามหาวิทยาลัย เราไม่เก่งวิชาอะไรเลย แต่มีสิ่งที่รักจริงๆ คือการวาดรูป เลยลองไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยศิลปากร กระทั่งสอบติดคณะมัณฑนศิลป์ สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ หรือ Visual Communication Design คือการออกแบบโดยใช้รูปภาพในการสื่อสาร เพราะฉะนั้นเราจะได้ทักษะเรื่องการทำอะไรให้มันง่ายๆ เข้าใจง่าย เราจะชอบการเล่าเรื่อง การทำงานในปัจจุบันจึงเป็นการนำทักษะจากที่เรียนมหาวิทยาลัยเข้ามาเสริม”

Advertisement

จุดกำเนิด BoyOnFiyah เจ้าเด็กตาไฟ ผู้ไม่เคยหมดไฟ

สำหรับ BoyOnFiyah เจ้าเด็กตาไฟ คาแรคเตอร์ประจำตัวของนามปากกา TU!! ที่เป็นภาพจำของใครหลายคนนั้น เป็นคาแรคเตอร์ที่ตุ๊สร้างขึ้นสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ด้วยความไม่รู้จะออกแบบอะไร ในคลาสตัวเองก็ค่อนข้างเป็นหางแถว มีความตั้งใจแต่ทักษะทางการวาดกลับไม่ค่อยดี จึงพยายามเก็บ reference มาเรื่อยๆ

“วันนั้นรวมกลุ่มอยู่กับเพื่อนๆ แล้วเราเป็นคนขยันทำงานมาก นอนดึก วาดรูปตลอด เป็นคนอะเลิร์ทๆ แล้วก็มีเพื่อนผู้หญิงคนนึงพูดขึ้นมาว่า ตุ๊แม่งลั่นว่ะ อะเลิร์ทเหมือนคนที่มีตาไฟตลอดเวลา เราก็เก็บมาคิดว่า หรือนั่นคือบุคลิกที่คนอื่นมองเห็นเรา คือคนที่มีความ energetic คาแรคเตอร์มันคือความเป็นเด็ก มีตาไฟตลอดเวลา แววตาของเราไม่มีวันดับหมอด สื่อให้เห็นว่าเรามีความทะเยอทะยาน พร้อมที่จะลุย พร้อมที่จะทำงาน พร้อมที่จะสร้างสรรค์ตลอด 

“ส่วนโทนงานจะเป็นสีส้มกับแดง มาจากการกิจกรรมของผมและกลุ่มเพื่อนสนิท ที่คุยกันว่าเรามองเห็นตัวเองเป็นสีอะไร โดยเพื่อนๆ เห็นพ้องต้องกันว่าเห็นผมเป็นสีส้ม-แดง สิ่งที่ผมสร้างเป็นคาแรคเตอร์หลักอย่าง BoyOnFiyah นั้นมาจากการสังเกตของผมตลอดการเริ่มเรียนมหาวิทยาลัย คือสิ่งที่คนในวงการศิลปะมองผม เขามองยังไง แล้วผมอยากสะท้อนออกมาเป็นแบบนั้น ออกมาเป็น BoyOnFiyah ไอ้หนุ่มตาไฟ เสื้อส้ม”

ก้าวขาเข้าสู่วงการ NFT

ด้วยความที่หลายคนยังสับสน และไม่เข้าใจใน NFT ตุ๊สรุปให้ฟังอย่างเข้าใจง่ายๆ ว่า NFT ย่อมาจาก ‘Non-Fungible Tokens’ แปลเป็นภาษาไทยคือ เหรียญที่ไม่มีทางสร้างใหม่หรือแทนที่ได้ นิยามคือการที่เรานำอาร์ตเวิร์ก หรือไฟล์ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น ภาพเคลื่อนไหว GIF ภาพนิ่ง ภาพ 3D หรืออะไรก็ตามที่เป็นสื่อในโลกดิจิทัลมา Tokenize ทำให้อาร์ตเวิร์กนี้กลายเป็นเหรียญ 

“ในโลกความเป็นจริงที่เราขายงานศิลปะโดยภาพปรินต์ ภาพเพนต์ หรืออาร์ตทอย เราขายแล้วได้มูลค่ากลับมาเป็นเงิน แต่เมื่อเป็น NFT เราแค่เปลี่ยนค่าของอาร์ตเวิร์กให้กลายเป็นเหรียญที่มีมูลค่าเป็นค่าเงินของคริปโต แล้วสามารถนำมาซื้อขายกันได้”

ส่วนจุดเริ่มต้นในการก้าวเข้าสู่วงการ NFT ตุ๊เล่าว่า ย้อนกลับไปช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ในปี 2020 หลังจากที่ทำ Solo Show ครั้งแรกในชีวิตที่ทองหล่อ เริ่มมีสื่อเห็นมากขึ้น กระทั่งมีเพจหนึ่งของอเมริกาติดต่อมาจ้างทำอาร์ตเวิร์กงานการ์ตูนสามช่องจบ ประจวบเหมาะกับที่ช่วงนั้นเริ่มทำอาร์ตเวิร์กแนว GIF มีการขยับเล็กๆ น้อยๆ เป็นลูป เขาเล็งเห็นว่าน่าจะทำให้แพลตฟอร์มดูน่าสนใจมากขึ้น จึงชวนให้มาทำ ปรากฎว่าผลตอบรับค่อนข้างดี หลังจากนั้นเมื่อทุกอย่างจบไปก็ได้มีการติดต่อมาอีกรอบช่วงเดือนมกราคม ปี 2021 ด้วยข้อความชวนประมาณว่า ‘อยากทำ  NFT ด้วยกันไหม จะจ่ายให้เป็นคริปโต’ ตอนนั้นยังงงอยู่ว่า NFT คืออะไร คริปโตคืออะไร ด้วยความไม่เข้าใจเลยแค่อ่านแล้วปล่อยผ่านไป 

“พอทำงานไปเรื่อยๆ มีโปรเจกต์ต่างๆ นานา ได้ไปเห็นเพื่อนสนิทชาวแคนาดาลงงานที่เกี่ยวกับ NFT เลยถามไปว่า NFT คืออะไร สอนหน่อยได้ไหม ช่วงนั้นทุกคนก็เหมือนเพิ่งเริ่มเรียนรู้พร้อมๆ กัน เขาก็บอกว่า มันคือการขายงานดิจิทัล แต่ได้เงินดิจิทัล เหมือนบิทคอยน์ ซึ่งเราก็เคยได้ยินมาคร่าวๆ ทำให้เริ่มเข้าใจระดับหนึ่งว่ามันคือการซื้อขายงานปกติ แค่ให้สกุลเงินที่ไม่ใช่บาทหรือดอลลาร์ 

“จากนั้นเริ่มสนใจและทำการศึกษาไปเรื่อยๆ จนไปเจอเพจเฟซบุ๊กหนึ่งในไทยที่มีชื่อว่า NFT and Crypto Art Thailand จึงได้ทักเข้าไปในกลุ่มเพื่อโปรโมตตัวเอง และขอคำแนะนำ กระทั่งมีพี่คนหนึ่งที่เห็นศักยภาพของเราบอกว่าชอบงานเรามาก อยากจะลองทำงานขายใน NFT ไหม ในแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Foundation ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าว ณ ตอนนั้นต้องถูกเชิญจึงจะไปขายงานได้ พี่คนดังกล่าวก็ได้ให้คำแนะนำ ชวนให้คุยกับกลุ่มคนในสายที่เกี่ยวข้อง ทำให้ตั้งแต่ช่วงกุมภาพันธ์-มีนาคม ปี 2021 นับเป็นการเริ่มต้นทำ NFT ตั้งแต่นั้นมา”

ขายงาน NFT ประตูสู่รายได้หลักแสน

หลังการขวนขวายและเรียนรู้โลกใบใหม่อย่าง NFT ความพยายามอย่างไม่หยุดยั้งพาให้ตุ๊ขึ้นเป็นคนไทยคนแรกๆ ที่สามารถขายงานที่มีมูลค่าหลักแสนด้วยไฟล์ดิจิทัล ประกายแห่งความสุขฉายชัดบนใบหน้าเมื่อพูดถึงความสำเร็จในครั้งนั้น 

“ณ ตอนนั้นเราไม่รู้ว่าเราประสบความสำเร็จไหม แต่เรา having a moment of my life เราเป็นอดีตพนักงานที่ทำงานในบริษัทแอนิเมชัน เพราะฉะนั้นโมเมนต์ของชีวิตที่เราทำงานที่ไม่ได้ถูกทำตามสั่ง เป็นงานของเรา เป็นไฟล์ดิจิทัลที่เราถนัด แล้วเรารู้สึกว่าชีวิตนี้ไม่เคยมีสิ่งนี้เกิดขึ้นมาก่อน 

“ในตอนนั้นไม่ได้มองว่าเป็นความสำเร็จ แต่ก็ร้องไห้ น้ำตาไหลโทรบอกแม่ว่าผมขายงานได้ คือพ่อแม่ก็งงว่าลูกทำอะไร ขายงานดิจิทัลได้เงินเป็นแสน แล้วเขาก็เริ่มเปิดใจว่าลูกทำงานแบบนี้ นี่คือ NFT เมื่อเปิดใจเขาก็ให้โอกาสเรามากขึ้น ในฐานะที่เราออกจากงานประจำและมาเป็นศิลปินอย่างเต็มตัว”

สิ่งสำคัญ คือ การปรับตัว

เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อประเด็นที่ว่า ช่วงหนึ่ง NFT โด่งดังเป็นกระแสมาก แต่ปัจจุบันเหมือนจะซบเซาลง ตุ๊อธิบายว่า เห็นด้วย เพราะหลายคนได้รับผลกระทบ ไม่ใช่แค่ศิลปินหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้ามาแล้วจับทางไม่ได้ ศิลปินรุ่นใหญ่หรือศิลปินที่ขายงานได้ดีหลายๆ คน บางคนยังขายงานได้อยู่แต่มูลค่าอาจจะลด หรือขายไม่คล่อง ไม่ตื่นเต้นเหมือนแต่ก่อน ก็ต้องปรับไปตามสถานการณ์ เพราะอะไรที่เกิดขึ้นเยอะเกินไป มูลค่าจะเริ่มลดไปเอง

“ทุกคนเริ่มมีความคิดว่า ฉันไม่ได้เป็นศิลปิน แต่ฉันเข้าใจการตลาด เพราะฉะนั้นฉันจ้างทีมมาก็ได้ จ้างคนมาวาด จ้างดีไซเนอร์ แล้วฉันเป็นเจ้าของงาน เคลมลิขสิทธิ์แล้วขายเป็น NFT เลยกลายเป็นว่าไม่ได้มีแค่ศิลปินที่ลุยเดี่ยวกับงาน เมื่อทุกๆ คนทำ NFT เหมือนกันหมด ประเด็นก็คือแล้วคนเก็บ คนซื้ออยู่ไหนล่ะ เมื่ออุปทานเยอะขึ้น มีการอัปโหลดงานขายในโลกวันละล้านสองล้าน Artwork NFT ต่อวัน แต่จำนวนนักสะสมเท่าเดิม แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ก็ไม่รู้ว่ามันจะฟองสบู่แตก 100% หรือไม่ แต่ก็มีความเป็นไปได้ 

“สถานการณ์ที่มันเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันไม่ได้ทำให้ NFT หายไป เมื่อกลับไปดูการซื้อขายก็ยังเห็นเพื่อนๆ ขายได้ตามปกติ คอมมูนิตี้ยังมีการพูดคุยเกี่ยวกับ NFT การจัดอีเวนต์ต่างๆ อย่างที่บอกว่าอะไรที่เกิดขึ้นมา มันเกิดขึ้นมาแล้วมันไม่ได้สูญพันธุ์ไป เพราะทุกคนตระหนักแล้วว่าสิ่งที่เราต้องทำคือการปรับตัว”

“ผมอยากวาดรูปไปจนตาย”

สำหรับใครที่กำลังตามหาแรงบันดาลใจและอยากเป็นศิลปิน ตุ๊ฝากว่า ‘เราต้องถามตัวเองว่าเราเข้ามาด้วยอะไร’ นั่นคือสิ่งที่เขาถามตัวเองทุกครั้งที่ทำงาน เพราะบางครั้งที่การทำงานเริ่มเป็นเชิงพาณิชย์มากขึ้น หรือมีความคิดในใจเสมอว่าจะขายได้ไหม ยังต้องแคร์การตลาด กลายเป็นว่าความบริสุทธิ์ ความรัก หรือแพชชันที่มีต่องานจะเริ่มลดลง หรือขึ้นๆ ลงๆ 

“ใครที่เข้ามา ผมรู้ว่าทุกคนอยากทำเพื่อหากินด้วย แต่ในขณะเดียวกันอยากให้ทุกคนไม่ลืมรากเหง้าของตัวเองว่าเราเข้ามาทำไม เพราะสุดท้ายถ้าคุณอยากจะมาแค่หาเงินและใช้ศิลปะเป็นเพียงเครืองมือ ผมมองว่ามันก็มีช้อยส์อื่นสำหรับคุณในการหาเงิน แต่ถ้าจะเข้ามาในฐานะศิลปิน เคยมีใจรัก หรือกำลังตั้งคำถามว่าฉันมีใจรักหรือแคร์แค่เรื่องเงิน สิ่งนี้อยากให้ทุกคนตอบคำถามตัวเองก่อนที่จะทำอาชีพศิลปินเต็มตัว 

“ผมทุ่มสุดตัวเลย เราทิ้งทุกอย่างไว้ข้างหลังแล้ว เราจะมาทางนี้อย่างเต็มตัว เพราะเรารักตรงนี้ ตอนนั้น 4 ขวบที่วาดรูปบนกำแพง มันคือโมเมนต์ที่รู้สึกว่า เราอยากวาดรูปไปจนตาย เพราะฉะนั้นผมก็อยากให้น้องๆ ทุกคนคิดว่าเรามาด้วยความรักหรือเปล่า มาด้วยแพสชันหรือเปล่า ถ้ามาด้วยแพสชัน สัญชาตญาณความอยู่รอดของเรามันจะพยายามทำให้เราไปได้เรื่อยๆ เอง อย่างผม ผมก็จะทำยังไงก็ได้ให้ตัวเองวาดไปจนตายให้ได้”

เวิร์กชอป ‘เจาะลึก NFT ไฮเทคศิลป์ ดิจิทัลอาร์ตสร้างมูลค่า’

เพื่อเปิดมุมมองใหม่ในโลกแห่งศิลปะ ‘Happy Journey with BEM’ โครงการท่องเที่ยวที่จัดโดย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงจัดเวิร์กชอปงานศิลปะสุดเอ็กซ์คลูซิฟ ร่วมกับศิลปินชื่อดัง ตอบแทนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT ฟรี! ตลอดปี 2566

รอบนี้อาสาส่งต่อแรงบันดาลใจ พาน้องๆ โรงเรียนใกล้เขตทางพิเศษและรถไฟฟ้า MRT ท่องโลกศิลปะนอกห้องเรียน ในกิจกรรม ‘เจาะลึก NFT ไฮเทคศิลป์ ดิจิทัลอาร์ตสร้างมูลค่า’ ร่วมกับ The Tu!!ตุ๊ – ณัชพล ตุ๊เสงี่ยม’ ณ METRO ART สถานีพหลโยธิน ในวันที่ 8 และ 22 มิถุนายน 2566 

“ผมอยากนำเสนอประสบการณ์ที่สนุกสนาน โดยที่เราจะให้ทุกคนเพนต์รูปสนุกๆ ตามสไตล์ของตุ๊ด้วย หรือสไตล์ของน้องๆ เอง โดยจะมีการให้คำแนะนำ และความพิเศษคือเราจะมีการให้ความรู้เกี่ยวกับ NFT ซึ่งมันอาจจะซับซ้อนมาก แต่ไม่เสียหายที่เราจะมาเรียนรู้ เผื่อมีคนสนใจก็สามารถมาติดต่อหลังไมค์เพิ่มเติมได้ 

“กิจกรรมเวิร์กชอปที่จะเกิดขึ้นผมอยากให้ประสบการณ์ที่เป็นควบตรงกลางระหว่างโลกเสมือนและโลกจริง เกี่ยวกับทั้งงานเพนต์และ NFT มาลองดูครับ นี่คือโลกใบใหม่ของวงการศิลปะ มาทำให้ Metro Art ในสถานีรถไฟฟ้า MRT พหลโยธินมีสีสันมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีงาน Solo Exhibition สามารถเข้ามาดู มาสนุกกันได้ ที่สำคัญ งานนี้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย!” ตุ๊เล่าถึงความพิเศษของกิจกรรม

ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ ‘Happy Journey with BEM 2023’ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ เฟซบุ๊ก BEM Bangkok Expressway and Metro หรือคลิก https://www.facebook.com/BEM.MRT

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image