สภาเด็กฯ พบ นายกฯ นำเสนอ 6 ปัญหาเร่งด่วน ไฮไลต์เบิ้ม ‘ผู้ใหญ่ไม่ฟังเสียง’

สภาเด็กฯž พบ นายกฯž นำเสนอ 6 ปัญหาเร่งด่วน ไฮไลต์เบิ้ม ผู้ใหญ่ไม่ฟังเสียงž

ภายหลังจาก สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และยูนิเซฟ ได้รวบรวมความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนผ่านการจัดทำแบบสำรวจออนไลน์ในกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปี จำนวน 33,580 คนระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566 และจัดเวทีสมัชชาเด็กและเยาวชนในวันที่ 22-24 กรกฎาคม 2566 ซึ่งมีผู้แทนจากเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ เข้าร่วมจำนวน 200 คน และได้จัดทำเป็นรายงานมติสมัชชาและข้อเสนอเชิงนโยบายที่มาจากเสียงสะท้อนของเด็กและเยาวชน

ล่าสุด สภาเด็กและเยาวชนฯ นำโดย นดา บินร่อหีม ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย พร้อมคณะทำงาน เข้านำเสนอมติสมัชชาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ปี 2566 ต่อ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอสถานการณ์ปัญหา และข้อเสนอที่ปัญหาเร่งด่วนที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนไทยในปัจจุบัน ใน 6 ประเด็นดังนี้

Advertisement

1.เศรษฐกิจและการมีงานทำ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนและต่อคุณภาพชีวิตของเด็กเยาวชน รวมถึงผลกระทบในด้านรายได้และเริ่มกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของครอบครัว

2.การศึกษา การเข้าถึงหลักสูตรของโรงเรียนที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจไม่สอดคล้องกับความต้องการของเยาวชน และบางหลักสูตรที่ไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน เป็นประเด็นสำคัญที่เด็กเยาวชนควรมีส่วนร่วมในการวางแผนการศึกษา

3.สุขภาพ ปัญหาทางด้านอารมณ์และปัญหาทางด้านจิตใจ และยังขาดการเข้าถึงของหน่วยงานของรัฐที่จะให้ข้อมูลหรือคำปรึกษา

Advertisement

4.ความรุนแรง การกลั่นแกล้ง การล้อเลียน การใช้ความรุนแรงทางโลกออนไลน์หรือภัยรูปแบบใหม่ที่ยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามามีบทบาทผู้รับผิดชอบในการดูแลเด็กเยาวชนให้ปลอดภัยในโลกออนไลน์

5.สิ่งแวดล้อม ปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 สถานการณ์ไฟป่าที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และชีวิตของเด็กเยาวชนอย่างมาก

6.การมีส่วนร่วม เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ยังคงรู้สึกว่าผู้ใหญ่ในสังคมไม่ได้รับฟังเสียงของพวกเขา และนำเสียงของพวกเขาไปพิจารณาอย่างจริงจังมากนัก

ทั้งนี้ รายงานสมัชชาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ประจำปี 2566 ยังได้ไฮไลต์ประเด็นสำคัญเช่น เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ไม่แน่ใจหรือไม่เห็นด้วยว่าหลักสูตรของโรงเรียนที่มีอยู่ในปัจจุบันสอดคล้องกับความต้องการของตนเอง เมื่อถามว่าหลักสูตรการศึกษาปัจจุบันช่วยพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 หรือโลกอนาคต หนึ่งในสามหรือร้อยละ 33 ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่แน่ใจ และอีกร้อยละ 7 รู้สึกไม่เห็นด้วย

เด็กและเยาวชนประมาณ 1 ใน 3 ไม่แน่ใจ และไม่คิดว่าโรงเรียนปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน โดยร้อยละ 26 ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่แน่ใจว่าโรงเรียนของพวกเขาเป็นสถานที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับเด็กและเยาวชนทุกคน และอีกร้อยละ 7 สะท้อนว่าโรงเรียนยังไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยหรือเป็นมิตรกับทุกคน

ปัญหาความรุนแรงในโลกออนไลน์เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญ โดยร้อยละ 55 ระบุว่า การกลั่นแกล้งและล้อเลียนทางอินเตอร์เน็ตเป็นปัญหาความรุนแรงออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุด รองลงมาคือปัญหาการพนันออนไลน์ (ร้อยละ 44) และอันดับที่สามคือการติดเกม (ร้อยละ 32) นอกจากนี้เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ไม่แน่ใจว่าจะไปขอความช่วยเหลือได้ที่ไหนหากประสบปัญหาในโลกออนไลน์

เด็กและเยาวชนที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ยังคงรู้สึกว่าผู้ใหญ่ในสังคมไม่ได้รับฟังเสียงของพวกเขา และนำเสียงของพวกเขาไปพิจารณาอย่างจริงจังมากนัก โดยให้คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 5 จาก 10 คะแนน

ทั้งนี้ นายเศรษฐากล่าวว่า สำหรับการนำเสนอข้อมูลของน้องๆ วันนี้สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของน้องๆ ที่มาจากสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ซึ่งการเรียนรู้และการยอมรับในมุมมองของเยาวชน นับเป็นก้าวแรกในการสร้างสังคมที่ทุกคนมีส่วนร่วมภายใต้ความหลากหลาย โดยเชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมือและความพยายามร่วมกันของทุกคน เราสามารถสร้างประเทศไทยให้เป็นสังคมที่เต็มไปด้วยโอกาสที่ดีและความคิดสร้างสรรค์ได้

นดา บินร่อหีม กล่าวว่า สภาเด็กและเยาวชนมุ่งมั่นที่จะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศร่วมเป็นหุ้นส่วนในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของประเทศ โดยจะผลักดันให้เด็กและเยาวชนเป็นเป้าหมายของการวางนโยบายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาให้ทันยุคสมัยและตอบสนองความต้องการของผู้เรียน การจัดบริการให้กับเด็กเข้าถึงได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง การสร้างพื้นที่ปลอดภัย ตลอดจนนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศ

พวกเราหวังว่าจะสามารถมีส่วนร่วมในการจัดการความท้าทายที่เด็กและเยาวชนต้องเผชิญในปัจจุบันและอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image