เปิดใจ ศิรเดช โทณวณิก ทายาทรุ่น 3 ‘ดุสิตธานี’ เตรียมปั้นโรงแรมสัญชาติไทยโฉมใหม่

ศิรเดช โทณวณิก

ศิรเดช โทณวณิก ทายาทรุ่น 3 รับไม้ต่อ ‘ดุสิตธานี’ โฉมใหม่

ตลอดระยะเวลา 5 ทศวรรษที่ผ่านมา สำหรับคนไทย หากได้ย่างก้าวเข้าสู่เมืองหลวงอย่าง “กรุงเทพมหานคร” ก็คงจะได้ยินชื่อของ “โรงแรมดุสิตธานี” ที่ตั้งตระหง่าน โชว์ยอดชฎาสีทอง สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทย ผ่านการให้บริการที่เลื่องชื่อ และสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวอย่างไม่รู้ลืม ตลอดจนเป็นสถานที่รับรองแขกวีไอพีระดับโลก และจัดงานใหญ่มาหลายต่อหลายครั้ง

กระทั่งถูกขนานนามว่าเป็น “โรงแรมแห่งยุค”

ซึ่งก่อตั้งโดย “ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย” ที่มีความตั้งใจให้ “ดุสิตธานี” เป็นโรงแรมของคนไทย บริหารโดยคนไทย และโรงแรมชื่อไทย สามารถแข่งขันกับโรงแรมระดับโลกได้

ก่อนส่งไม้ต่อให้กับลูกชายคนโต “ชนินทธ์ โทณวณิก” เป็นผู้สานต่อธุรกิจในเครือดุสิตธานี ที่ไม่ได้มีเพียงแค่งานโรงแรม และรีสอร์ต ทั้งหมด 28 สาขา ใน 8 ประเทศเท่านั้น แต่ขยายออกไปสู่กิจการด้านการศึกษาด้วย อาทิ วิทยาลัยดุสิตธานี และโรงเรียนสอนการประกอบอาหาร เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต กรุงเทพฯ

Advertisement

แต่กระนั้น เมื่อปีที่ผ่านมา “ดุสิตธานี” ก็ได้สร้างความตกใจแก่คนไทย หลังมีกำหนดการปิดให้บริการ “ดุสิตธานี” เพื่อเคลียร์พื้นที่เตรียม “รื้อถอน” โรงแรมดังแห่งยุค

(คลิกอ่านเพิ่มเติม : เปิดใจ ‘ชนินทธ์ โทณวณิก’ กัดฟันทุบ ‘ดุสิตธานี’ ปิดตำนานโรงแรมสัญชาติไทย 49 ปี)

Advertisement
ชนินทธ์ โทณวณิก

ซึ่งงานนี้ ชนินทธ์หัวเรือใหญ่ บมจ.ดุสิตธานี กล่าวไว้ว่า โรงแรมดุสิตธานียังจะไม่ไปไหน และใน 4 ปีข้างหน้าจะได้พบกับ “โรงแรมดุสิตธานีโฉมใหม่” ที่ยังคงใช้ปรัชญาในการบริหาร ออกแบบ และการดูแลเรื่องการบริการเหมือนเดิม”

ได้ฟังอย่างนี้แล้วก็ทำเอาหลายคนถึงกับอยากข้ามเวลา ไปแอบดู “ดุสิตธานีเวอร์ชั่นใหม่” ณ ตอนนี้เลย

“ศิษย์ก้นกุฏิ” รับไม้ต่อรุ่นที่ 3

เช่นเดียวกับ “แชมป์-ศิรเดช โทณวณิก” ผู้บริหารหนุ่มวัย 33 ปี ทายาทรุ่นที่ 3 ของเครือดุสิตธานี ลูกชายคนโตในบรรดาพี่น้อง 3 คน ของ ชนินทธ์ โทณวณิก ที่เข้ามาช่วยสานต่องานในเครือดุสิตธานีมาแล้วกว่า 10 ปี


ด้วย “ดีกรี” ที่ไม่ธรรมดา เพราะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมือง จากมหาวิทยาลัยเอ็กซีเตอร์ ประเทศอังกฤษ และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง “รองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจ และกรรมการผู้จัดการฝ่ายการศึกษา ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล”

ควบคู่ไปกับการเป็น “กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาศัย โฮลดิ้งส์ จำกัด” ที่งานนี้ ผู้บริหารหนุ่ม ฟอร์มทีมขึ้น เปิดตัวกลุ่มโรงแรมใหม่ ในชื่อ “อาศัย” (ASAI) เน้นตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของกลุ่มนักเดินทางที่มองหาประสบการณ์ท่องเที่ยวและกินแบบคนท้องถิ่นแท้ๆ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ซึ่งเตรียมเปิดอาศัยแห่งแรกที่ประเทศพม่า ในปีหน้า ทั้งยังมีโรงแรมอีก 4 แห่งที่กำลังดำเนินการ เช่น ที่เซบู ประเทศฟิลิปปินส์ และที่ย่านสาทร กรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังมีแผนจะเซ็นสัญญาเพิ่มอีก 10 แห่ง ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และญี่ปุ่นอีกด้วย

ทำเอาเจ้าตัวบอกว่า “มาถูกทางแล้ว” และยังตั้งใจให้ “อาศัย” เป็นอีกหนึ่งธุรกิจหลักในเครือดุสิตธานี ด้วยเป็น “ธุรกิจที่เติบโตเร็ว” และสอดคล้องกับโลกยุคปัจจุบัน

เห็นฝีไม้ลายมือการบริหารงานที่เยี่ยมยอด จับอะไรก็ราบรื่นไปเสียหมดแบบนี้

ก็เพราะทายาทรุ่นที่ 3 ของดุสิตธานี เข้ามาเรียนรู้งานตั้งแต่อายุ 23 ปี

โดยดูในหลายๆ แผนกควบคู่กันไป และแผนกที่เจ้าตัวชื่นชอบมากที่สุดคือ “การขยายธุรกิจกิจการ” (Davelopment) ด้วยการมองหาโอกาสและช่องทางขยับขยายของบริษัท

“ยากเหมือนกันนะ เพราะว่าผมก็เป็นคนเจเนอเรชั่นใหม่ที่เข้ามา ซึ่งด้วยวัยในตอนนั้น ก็รู้สึกว่ามีความท้าทายหลายอย่างที่อยากมีส่วนร่วมในบริษัท อยากผลักดัน แต่ด้วยความที่บริษัทมีมานาน ก็จะมีช่องว่างระหว่างวัยเยอะอยู่แล้ว ในจุดนี้ ผมก็ต้องมีจุดยืนของผม ในขณะเดียวกันก็ต้องรู้ด้วยว่าหน้าที่ของเราคืออะไร และพร้อมที่จะเรียนรู้ไปกับผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี” ศิรเดชเล่าย้อนถึงตอนเริ่มงานใหม่ๆ และกล่าวถึงการเทรนงานจากคุณพ่ออย่างอารมณ์ดีว่า

“คุณพ่อก็มาช่วยดูบ้าง แต่เพราะเมื่อก่อนเขาเคยเป็นอาจารย์มาก่อน จนถึงตอนนี้ทุกคนก็ยังพูดกันพูดตลอดว่า คุณพ่อยังเหมือนอาจารย์อยู่เลย ในขณะที่ทุกคนเป็นลูกศิษย์”

ศิรเดช – ศุภจี – ชนินทธ์ (จากซ้าย)

ซึ่งว่า “ศิษย์เอก” ก้นกุฏิก็คงไม่พ้นลูกชายคนโตนี่แหละ

นอกจากนี้ ศิรเดช เล่าถึง “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่เขาได้เรียนรู้งานด้วยบ่อยๆ ซึ่งเป็นผู้บริหารคนแรกที่ไม่ได้มาจากครอบครัวเดียวกัน อย่าง “ศุภจี สุธรรมพันธุ์” ว่า ก่อนหน้านี้ในออฟฟิศ ประมาณ 95% ทุกคนทำงานสายโรงแรมกันหมด แต่คุณศุภจีเคยทำงานในสายเทคโนโลยีมาก่อน พอเข้ามาช่วยงานที่ดุสิตธานีจึงเกิดความหลากหลาย และมีความสมดุลมากขึ้น ด้วยเธอจะมีวิสัยทัศน์ มุมมอง และขั้นตอนในการทำใหม่ๆ มาปรับใช้อยู่เสมอ จึงทำให้เกิดการเรียนรู้ที่เร็วขึ้น

สืบทอดค่านิยมหลัก”เครือดุสิตธานี”

การบริหารงานในเครือดุสิตธานีที่มีหลากหลายกิจการให้ไปในทิศทางเดียวกัน ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยาก แต่ทุกคนก็ยึด “ค่านิยมหลัก” (Core Value) ของดุสิตธานีเป็นบรรทัดฐาน

ซึ่งศิรเดชอธิบายว่า ค่านิยมหลักของเครือดุสิตธานีมีมาตั้งแต่รุ่นของคุณย่า ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย นั่นก็คือ การสะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทย ดูแลทุกคนเหมือนเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน ทำเพื่อสังคม และเน้นความยั่งยืน ตลอดให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ

“หากเปรียบก็เหมือนทุกคนอยู่บนเรือลำเดียวกัน ที่มีดีเอ็นเอ ปรัชญาเดียวกัน แต่ในแง่ของการสื่อสารออกมาในแต่ละกิจการก็จะมีวิธีคิด วิธีทำ ที่ต่างกันออกไป”

ผู้บริหารหนุ่มกล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง

เช่นเดียวกับการทุบตึกปิดปรับปรุง เพื่อ “เปลี่ยนผ่าน” สู่การเดินทางบทใหม่ของดุสิตธานี

ศิรเดชเปิดใจว่า กับเรื่องนี้ทราบมาอยู่แล้วว่า “เราต้องทำยังไง” ดุสิตธานีสร้างเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ผ่านมาถึงยุคนี้อะไรก็เปลี่ยนไปมาก เช่น ที่จอดรถ เมื่อก่อนต้องจอดลงใต้ดิน เดี๋ยวนี้ก็ต้องจอดข้างหน้า หากอยากจะให้อยู่ต่ออีกนาน ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงธุรกิจ เหมือนๆ กับอีกหลายทุกธุรกิจที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง

ดุสิตธานีโฉมใหม่ จะให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมรอบข้างมากขึ้น ทั้งในแง่ของการสื่อสารและสืบทอด ที่ยังคงโฟกัสตรงที่สามารถเชื่อมต่อกับคนรุ่นเก่าได้ โดยตั้งใจทำให้ดีที่สุดทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์ของตึก พนักงานคนไหนอยากอยู่ต่อก็ยินดีต้อนรับทุกคน การตกแต่งภายใน ผลงานศิลปะอันล้ำค่า รวมไปถึงแลนด์สเคป จำพวกต้นไม้ ก็ไม่ได้ตัดทิ้ง ต้นไม้บางต้นคุณย่าก็ปลูกเอง เราตั้งใจจะย้ายไปอยู่ที่เนิร์สเซอรี่ก่อน แล้วค่อยเอามาลงปลูกใหม่ ให้กลับเข้ามามีชีวิตใหม่ในโปรเจ็กต์ของเรา” ศิรเดชกล่าว และว่า

จากเสียงที่มีมาทั้งที่ดีและไม่ดี ก็รับฟังหมด แต่ถ้าถามว่าจะเปลี่ยนอะไรไหม ก็ไม่เปลี่ยน เพราะเราอยู่ตรงนี้มานาน รู้จักตรงนี้ดีที่สุดว่ามีความสำคัญยังไง อะไรที่ทำเพื่อสังคม เพื่อละแวกนี้ได้ เราก็ทำ”

ไม่หยุดเพียง 4 ปีข้างหน้า
แต่มองไปถึง 60 ปีต่อไป

เรียกว่าเติบโตมาพร้อมกับการมี “โรงแรมดุสิตธานี” เป็นดั่งบ้านหลังที่สอง ความทรงจำของศิรเดชจึงเต็มไปด้วยภาพความสุข ความผูกพัน

หากถามว่า “เสียดายไหม” เขาตอบได้คำเดียวเลยว่า “เสียดายมาก” ก่อนจะกล่าวต่อว่า

“ผมอยากจะให้โรงแรมดุสิตธานีมีชีวิตต่อไปอีกนาน และการจะมีชีวิตต่อไปไม่จำเป็นที่จะต้องมีชีวิตแบบเดิมเหมือนเมื่อศตวรรษที่แล้ว สามารถมีชีวิตที่ยืดยาวต่อไปได้ในรูปโฉมใหม่ที่มีสิ่งดีๆ เพิ่มเข้ามาอีก และผมมองว่ายังเป็นการสร้างงานด้วย เพราะในดุสิตธานีโฉมใหม่ ตั้งใจให้เป็นศูนย์รวมทุกอย่าง ทั้งร้านค้า ออฟฟิศ อสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นจุดดึงดูด ทั้งยังเป็นจุดศูนย์รวมด้านการเดินทาง เพราะมีทั้งเอ็มอาร์ที และบีทีเอสอยู่ใกล้ๆ

“ในการมองโปรเจ็กต์นี้ ไม่ได้มองเพียงแค่ว่าอีก 4 ปีข้างหน้าจะต้องออกมาเป็นแบบไหน แต่เป็นการมองไปมากกว่านั้นว่า เมื่อโปรเจ็กต์นี้เริ่มเปิด จะทำยังไงให้อยู่ผ่านยุคสมัยไปอีก 50-60 ปี เหมือนกับที่ดุสิตธานีเคยเป็นมา เราไม่ได้คิดเพียง 4 ปีข้างหน้า แต่เราคิดไปถึง 60 ปีข้างหน้า”

รุกเร็ว ล้มเร็ว รู้เร็ว!

ส่วนสไตล์การ “ทำงาน” ของผู้บริหารหนุ่มคนนี้ก็สมกับเป็นคนยุคมิลเลนเนียม เพราะเขานิยามไว้ว่า “ทำเร็ว ล้มเร็ว เรียนรู้เร็ว” (Try Fast, Fail Fast, Learn Fast)

ด้วยคิดเสมอว่าในบางครั้งที่ไม่ตัดสินใจ หรือเลือกที่จะลงมือทำ ก็จะทำให้ย่ำอยู่กับที่ ในขณะที่คนอื่นเดินไปข้างหน้ากันหมดแล้ว

“ตอนที่ผมฟอร์มทีมงานเพื่อสร้าง “อาศัย” จะบอกทีมตลอดว่า ไม่มีอะไรที่เป็นแบดไอเดีย (Bad Idea) หากมีไอเดียอะไรก็เสนอขึ้นมาได้เลย มาลองทำดู ถ้าทำแล้วไม่โอเคไม่เป็นไร ถือว่าเป็นการเรียนรู้ แต่ในการดำเนินงานแบบรวดเร็ว เราก็ต้องทำให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุดด้วย

“เดี๋ยวนี้การออกไปเดินทางและท่องเที่ยว เป็นไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ซึ่งผมเข้าใจในจุดนี้ ผมก็บอกทีมเลยว่าหากต้องการเวลาหยุดหรือผ่อนคลายก็บอกได้ แต่พอถึงเวลาทำงานก็ต้องพร้อมขับเคลื่อนไปด้วยกัน รักษาหน้าที่และความรับผิดชอบในงานของตัวเองให้ดี เพราะผมให้ความสำคัญกับสิ่งนี้มากที่สุด”

อย่างไรก็ตาม ศิรเดชยังกล่าวอีกว่า ในเรื่องของการทำงานเขาชอบที่จะสื่อสารกับลูกทีม คุยกันได้หมดทุกเรื่อง

เรียกว่าเป็นการบริหารงานที่ “ยืดหยุ่นได้”

ทำงานให้หนักขึ้น! เป้าหมายปี 2019

ดูเหมือนว่าจะมี “งานให้รับผิดชอบ” เยอะมาก แต่ผู้บริหารไฟแรงคนนี้ ก็ยังให้สัญญากับลูกทีมว่า “ปีนี้จะทำงานให้หนักขึ้นอีก”

โดยตั้งเป้าไว้ว่า เวลาทั้งหมด ร้อยละ 70 มอบให้การบริหารงานในกลุ่มโรงแรม “อาศัย”

ขณะที่อีกร้อยละ 30 มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจด้านการศึกษา ด้วยมองว่า “การสร้างคน” เป็นอีกหนึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืน และเครือดุสิตให้ความสำคัญมากในจุดนี้

“ซึ่งเราไม่ได้ต้องการสร้าง “เชฟ ออฟ ทูมอร์โรว์” (Chef of Tomorrow) แต่เราต้องการสร้าง “โกลบอล ซิติเซ็น ออฟ ทูมอร์โรว์” (Global Citizen of Tomorrow) ที่ไม่เพียงแต่ทำอาหารเป็น ปูเตียงได้ เสิร์ฟกาแฟได้ แต่ต้องเป็นคนที่ดีต่อตัวเอง ต่อสังคม ต่อโลก และต้องเป็น “โกลบอล ซิติเซ็น” (Global Citizen)

เพราะในโลกปัจจุบันทักษะด้านการเชื่อมต่อ (Connectivity) และการบูรณาการ (Intigration) มีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นการที่จะให้นักเรียนของเราอยู่ได้ในโลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็วอย่างมีคุณภาพ พวกเขาก็ต้องมีแนวคิดที่ไม่โฟกัสแค่ในประเทศ ต้องมีความเป็นโกลบอลด้วย ทั้งในแง่ของภาษา ความคิดแนวทาง และการพร้อมเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก ผมจึงขับเคลื่อนการเรียนการสอน เน้นการลงมือทำ และทำวิจัยให้มากขึ้น เพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์จริง” ศิรเดชกล่าวทิ้งท้าย

เรียกว่าเป็น “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” เห็นแบบนี้ให้มาจับงานด้านการศึกษาก็ทำได้ยอดเยี่ยมเหมือนกัน

นอกจากนี้ ศิรเดช โทณวณิก ยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเทศกาลดนตรี และศิลปะ ที่เน้นการรักษาสิ่งแวดล้อม อย่าง “วันเดอร์ฟรุ้ต” (Wonder Fruit) ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผู้ร่วมงาน หลักพันก็ทะยานขึ้นหลักหมื่น และมีชื่อเสียงไม่น้อยในต่างประเทศ รวมไปถึงยังมี “งานเสริม” เปิดร้านอาหารญี่ปุ่น กินซ่า ซูชิ อิชิ (Ginza Sushi Ichi) ที่ขยายสาขาแล้วถึง 4 สาขา การันตีความอร่อยด้วยรางวัลมิชลินสตาร์ 1 ดวง

ซึ่งงานนี้ ผู้บริหารหนุ่มเผยเคล็ดลับว่า “ต้องมีทีมงานที่ดี” หาทีมที่เข้าใจความต้องการเรา และพร้อมขับเคลื่อนไปด้วยกัน มีความรับผิดชอบในหน้าที่ และที่สำคัญคือต้องมี ความชื่นชอบ เพราะว่าการจะทำธุรกิจให้ยั่งยืนก็ต้องมีความชอบ ตลอดจนมีการจัดการที่ดี

เพราะไม่งั้นจากความชอบ จะกลายเป็น “ภาระ”

อีกหนึ่ง “ทายาทนักธุรกิจ” ที่น่าจับตามอง!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หลอมรวมความผูกพัน ก้าวสู่หน้าประวัติศาสตร์ใหม่ ดุสิตธานี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image