“เจียวกี่”ศรีสะเกษ ร้านนี้มีตำนาน

ข้อความต่อไปนี้เป็นด้านหลังของ “เมนูอาหาร” ร้าน “เจียวกี่” ศรีสะเกษ ในยุคที่ปรับปรุงใหม่ให้หรูหราทันสมัย ชื่อต่อความอร่อยจากคนรุ่นเก่าสู่รุ่นปัจจุบัน

ด้านหลังของรายการอาหารที่วางอยู่บนโต๊ะ เล่าเรื่องไว้ว่า

นายเจียวพงษ์ แซ่ห่าน (หาญสกุล) เกิดและเติบโตมาในตำบลไหหนาน (ไหหลำ) ประเทศจีน ได้อพยพเข้ามาทำมาหากินในเมืองไทย ด้วยฝีมือการทำอาหารเลิศรสจึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณ เข้าเป็น “กุ๊ก” ที่วังปารุสก์ในจอมพลสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ (ในรัชกาลที่ 6) จนได้รับฉายา “กุ๊กจมูกแดง”

ประมาณปี พ.ศ.2465 นายเจียวพงษ์ได้โยกย้ายถิ่นฐานมาปักหลักที่เมืองอุบล และเปิด “โรงแรมเจียวกี่” ขึ้นที่ริมถนนเขื่อนธานี มีอาหารและพี่พักไว้บริการ

Advertisement

ต่อมา พ.ศ.2485 เกิดภาวะผันผวนของสถานการณ์บ้านเมือง นายเจียวพงษ์ได้อพยพครอบครัวมาอยู่ที่จังหวัดศรีสะเกษ และเปิดร้านเจียวกี่ขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่บริเวณวงกลมหลังสถานีรถไฟศรีสะเกษ ซึ่งปัจจุบันคือวงเวียนแม่ศรีฯ

เมื่อเหตุการณ์สงบลง นายเจียวพงษ์ได้ย้ายกลับไปอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานีตามเดิม และมอบให้ “นายบุ่นเคง แซ่ด่าน” เพื่อนรักที่อพยพมาจากประเทศจีนด้วยกันกับ “นางกิมหลั่น” ภรรยาเป็นผู้ดำเนินกิจการร้านเจียวกี่ที่จังหวัดศรีสะเกษ

หลังจากนายบุ่นเคงเสียชีวิตลง “เจ๊อ่าง” (นางสำอางค์ นิศยันต์) บุตรสาวก็สืบทอดกิจการแทน โดยให้บริการน้ำชา กาแฟ ปาท่องโก๋ในตอนเช้า และมีก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ ข้าวเหนียว ส้มตำในตอนกลางวัน

Advertisement

กระทั่งปี 2527 อาคารไม้สองชั้นของร้านเจียวกี่ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เริ่มเสื่อมโทรมจึงสร้างอาคารพาณิชย์ 3 ชั้นขึ้นมาแทนที่ ครั้งนี้ได้พี่สาวของเจ๊อ่าง คือ “เจ๊เนี๊ยว” (นางพรพิมล หาญสกุล) ซึ่งเป็นสะใภ้คนโตของนายเจียวพงษ์ หาญสกุลมาดำเนินกิจการโดยมีอาหารเช้าสูตรเดียวกับ “เจียวกี่” อุบลราชธานี

จาก พ.ศ.2485 มาถึง พ.ศ.2559 “เจียวกี่” อยู่คู่วงเวียนแม่ศรีมากว่า 70 ปี บัดนี้รุ่นหลานของบรรพบุรุษ “เจียวกี่” คือ “คุณเจี๊ยบ-พนิดา ศักดิเศรษฐ์” บุตรสาวของ “เจ๊อ่าง” ได้เป็นตัวแทนลูกหลานเจียวกี่ เข้ามาปรับปรุงอาคารสถานที่ให้คงเอกลักษณ์ของ “เจี่ยวกี่” ดั้งเดิม

พร้อมให้บริการที่ทันสมัย รักษามาตรฐานคุณภาพและรสชาติที่หลากหลายของร้านอาหารเก่าแก่สำหรับชาวเมืองศรีสะเกษต่อไป

นั่นเป็นตำนานที่สืบทอดมา

ในด้านหลังเมนูอาหารยังมีล้อมกรอบแยกมาต่างหากด้วยว่า

“เจียวกี่” เป็นภาษาจีนไหหลำ “เจียว” แปลว่าโดดเด่น สุดยอด “กี่” แปลว่าความประทับใจ

นายเจียวพงษ์ได้ตั้งชื่อร้าน “เจียวกี่”โดยนำคำว่า “เจียว” มาจากชื่อของตัวเองแสดงว่าเป็นร้านของนายเจียวพงษ์และลูกหลาน เมื่อรวมกับคำว่า “กี่” จึงหมายถึงร้านที่ให้บริหารอาหารที่มีรสชาติ อร่อย โดดเด่น อย่างมีระดับเป็นที่ประทับใจ และจดจำของผู้มาลิ้มรส

อ่านแล้วน่าไปเป็นส่วนร่วมในตำนานมั้ย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image