กระแสสังคมตีกลับ รีรัน ‘ละครคุกคามทางเพศ’ เมื่อผู้จัด ‘ปรับตัวไม่ทัน’

ละครคุกคามทางเพศ

กระแสสังคมตีกลับ รีรัน ‘ละครคุกคามทางเพศ’ เมื่อผู้จัด ‘ปรับตัวไม่ทัน’

ละครคุกคามทางเพศ – นับแต่ “โควิด-19” แพร่ระบาดไปทั่วโลก ทำให้วิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไปไม่น้อย ไม่เว้นแม้แต่ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์ จากที่เราเคยเสพละครใหม่ๆ ที่แต่ละช่องนำมาประชันดึงดูดผู้ชม โดยเฉพาะช่วงเวลาหลังข่าว ก็เปลี่ยนวิถีมาดูละครเก่าๆ ซึ่งเคยได้รับความนิยม มารีรันกันใหม่ เป็นผลจากการที่กองถ่ายต่างๆ ไม่สามารถถ่ายทำได้ทัน แม้ว่าจะผ่อนปรนให้ถ่ายได้ไม่เกิน 150 คนแล้วก็ตาม

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ละครฮิตที่เคยเรียกเรตติ้งในอดีตนั้น อาจไม่ถูกใจผู้ชมหลายคนในยุคนี้อีกต่อไปแล้ว

โดยเฉพาะกับละครที่มีเนื้อหาคุกคามทางเพศ ตบจูบ ข่มขืน ของพระเอกที่มีต่อนางเอก ก่อนจะจบด้วยความโรแมนติก ที่หลายช่องนำมารีรันให้ชมอีกครั้ง ไม่นานก็ทำให้กระแสในโลกออนไลน์ ติดแฮชแท็กจุดประเด็นถกกันว่า “ละครคุกคามทางเพศ” เช่นนี้ ยังควรนำมาฉายหรือไม่ เปรียบเทียบเรื่องในชีวิตจริงที่ต้องจบลงที่กฎหมาย และยังมีแคมเปญเรียกร้องให้ถอดละครออกจากผัง ในเว็บไซต์ change.org เพราะควรพิทักษ์สิทธิผู้หญิง ซึ่งมีคนร่วมลงชื่อมากกว่า 12,500 คนแล้ว

Advertisement

และแม้ผู้ชมกลุ่มหนึ่ง จะลุกขึ้นมาพูดถึงประเด็นเรื่องสิทธิกันแล้ว แต่การผลิตซ้ำมายาคติเหล่านี้ ก็ยังสร้างผลกระทบให้กับผู้ชมได้อยู่ดี

ซึ่งในมุมมองของ ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่า เรื่องนี้แสดงออกว่า สถานีโทรทัศน์นั้น ไม่ได้รับบทเรียน และไม่เข้าใจในเรื่องการเคารพในสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกาย ที่เป็นสิ่งพื้นฐานที่สุดของสิทธิอื่นๆ และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สังคมลุกขึ้นมาขับเคลื่อนในเรื่องนี้ จึงกล่าวได้ว่าไม่ใช่ไม่มีเครื่องมือ แต่ไม่มีบทเรียน ทำให้ปัญหานี้ลอยอยู่ในวัฏจักรความรุนแรงซ้ำซาก

Advertisement

ดร.ชเนตตีเผยว่า ที่ผ่านมาเราไม่เคยเห็นละครโทรทัศน์มีภาพที่สอนให้ผู้ชายเคารพ ไม่ละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง และไม่เคยสอนว่าเรื่องเซ็กซ์ต้องมาพร้อมกับความยินยอมพร้อมใจ ต้องขออนุญาตก่อนเสมอ และมีการเสนอการสัมผัสเนื้อตัวร่างกาย การล่วงละเมิดตั้งแต่อ่อนๆ ไปจนถึงขั้นข่มขืน เรื่องราวในละครที่ว่า ผู้หญิงที่ถูกข่มขืน ปัดป้องในตอนแรกก่อนจะยินยอม และลงท้ายด้วยความสุขนั้น ทำให้คนตีความได้ว่า ผู้หญิงดีก็ต้องแสดงอาการปฏิเสธไว้ก่อน หากยินยอมง่ายไป จะเป็นผู้หญิงไม่ดี และสุดท้ายก็รักเขา ชอบในการข่มขืน ถือเป็นการส่งต่อวัฒนธรรมที่ชั่วร้าย ทำให้การต่อสู้ของผู้หญิงไร้คุณค่าและความหมาย นอกจากนี้ยังผลิตซ้ำค่านิยม ปลูกฝังให้เพศชายพิชิตใจ เอาชนะผู้หญิงได้ เป็นอำนาจของเพศชายที่แสดงผ่านตัวละคร

“นี่เป็นการกระทำรุนแรงซ้ำ ส่งผลกระทบต่อเด็กผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อ ที่ควรหยุดฉากเหล่านี้ได้แล้ว ผู้ผลิตควรเรียนรู้จากความเจ็บปวดของผู้หญิง เพราะไม่มีผู้หญิงคนไหนมีความสุขกับการเห็นผู้หญิงคนอื่นถูกกระทำ” ดร.ชเนตตีกล่าว

อย่างไรก็ตาม ดร.ชเนตตีมองว่าผู้ผลิตสื่อใหม่ๆ หลายช่อง ก็ไม่ได้นำเสนอความรุนแรงทางเพศแบบเก่า มีแนวสร้างสรรค์ มีบทประพันธ์ใหม่ๆ ที่ให้คุณค่ากับผู้หญิงไม่ใช่แค่แม่และเมีย แต่ผู้หญิงมีอาชีพ พึ่งพาตนเองได้ และเปิดพื้นที่ให้กับผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในลักษณะตัวละครที่ไม่ใช่แค่ตัวตลกเช่นกัน แต่ก็ยังไม่อาจเอาชนะวิธีคิดแบบทุนเก่า หรือผู้สร้างกลุ่มเดิมๆ ที่เติบโตมากับความสำเร็จเดิมๆ ได้ ยังต้องรอให้มีการเปลี่ยนถ่ายเจเนอเรชั่นอยู่

ดร.ชเนตตี

สอดคล้องกับ ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ที่เห็นว่า ผู้จัดละครไม่ได้ประเมินว่าคนดูนั้นเปลี่ยนไปแล้ว จึงนำกลับมาฉายใหม่ ผู้ผลิตเปลี่ยนไม่ทันกับจิตสำนึกของคนดูที่เปลี่ยนไป ในอดีตคนอาจจะชอบ คนมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องน่าอายที่พูดออกมาว่าถูกกระทำ แต่ยุคนี้มุมมองเปลี่ยนไป นี่คือการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ที่คนกล้าจะออกมาพูด ละครที่กระทำรุนแรงแล้วจบท้ายด้วยความโรแมนติกจึงไม่ใช่แล้ว

“ฉากบางฉากในละคร แต่ก่อนอาจไม่เรียกมันว่าความรุนแรงทางเพศ แต่เดี๋ยวนี้คนรู้ว่านี่คือความรุนแรง และพฤติกรรมเหล่านั้น ผิดกฎหมาย และเป็นอาชญากรรม”

การนำละครเหล่านี้มาฉายซ้ำ ยังเป็นการทำให้ความรุนแรงทางเพศไม่ใช่เรื่องใหญ่

ซึ่งเรื่องนี้ จริงๆ ควรซีเรียสขั้นสุด!!

ดร.วราภรณ์กล่าวว่า การระบายสีว่ามันโรแมนติก ไม่ใช่ความรุนแรง หรือเริ่มด้วยความรุนแรงจบที่ความรัก ในชีวิตจริงมันไม่ควรเป็นเช่นนั้น สื่อบันเทิงมีส่วนทำให้คนเคลิ้มตามไป เผลอไผลคิดว่าไม่ซีเรียส เมื่อเวลาเกิดเหตุข่มขืน เราก็มักได้เห็นข่าวว่า ไกล่เกลี่ยกัน ให้มันเงียบๆ ไป จบกันด้วยดี คำถามคือดีของใคร ของผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ไม่มีใครที่ถูกลวนลาม ข่มขืน แล้วจะรู้สึกดีกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และรู้สึกว่าจะรักเขาได้ มีแต่บาดแผลในจิตใจ ที่ต้องอยู่กับมันไปอีกยาวนาน

เมื่อผู้ชมเปลี่ยนวิถี เปลี่ยนรสนิยมการเสพสื่อไปแล้ว นักวิชาการทั้งสองจึงมองว่าสื่อ ก็ต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงให้ทัน

ดร.วราภรณ์

ดร.ชเนตตีกล่าวว่า ความจริงแล้วนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้ชม ภาคประชาสังคม ไม่ยอมรับสิ่งที่ละเมิดสิทธิ ผู้ชมก้าวหน้าในเชิงความคิด และเปลี่ยนค่านิยมไปแล้ว นิสิต นักศึกษารุ่นใหม่ไม่ยอมรับฉากข่มขืนในละคร เราควรเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ ผู้ผลิตจึงไม่อาจมองแค่อำนาจทุนอย่างเดียวได้ แต่ต้องปรับตัว วัฒนธรรมต้องลื่นไหลได้ ต้องเปลี่ยนแปลง การใช้อำนาจในละครผ่านบทบาทความเป็นชายมันขายได้ในยุคเก่า แต่ไม่ใช่ยุคนี้ ยิ่งคนดูรุ่นใหม่ไม่ได้ดูละครแล้ว เขามีช่องทางใหม่ๆ เขาก็ไปเลือกดูซีรีส์ที่สร้างสรรค์ ไม่เหยียบย่ำศักดิ์ศรีเพศใดเพศหนึ่ง

“ซึ่งหากไม่ปรับตัว ธุรกิจก็อาจจะล้มหายไป เพราะวิสัยทัศน์ที่ล้าหลังและไม่สำนึกในบทเรียน” ดร.ชเนตตีย้ำทิ้งท้าย

ขณะที่ ดร.วราภรณ์กล่าวว่า การที่ผู้ผลิตจะนำละครเหล่านี้มาฉาย โดยยึดติดกับความสำเร็จในอดีต เพราะโฆษณาเข้าเยอะ ไม่เสี่ยง ดูเหมือนเป็นการเอาง่ายเข้าว่า แต่คนดูได้เปลี่ยนไปแล้ว เขามีช่องทางใหม่ๆ เยอะขึ้น ซีรีส์เกาหลีบางเรื่อง มีเรื่องการให้กำลังใจคน หรือการต่อสู้เมื่อไม่ได้รับความยุติธรรมแล้ว บางครั้งการติดอยู่กับบทประพันธ์เดิมๆ อาจไม่ตอบโจทย์ อุตสาหกรรมบันเทิงเป็นเรื่องของงานสร้างสรรค์ เราไม่ควรจะผลิตเนื้อหาเดิมๆ ตอกย้ำความรุนแรง ซึ่งเราสามารถเปลี่ยนวิธีคิดได้ หากเราสร้างสรรค์มากพอ จะทำให้เนื้อหาเหล่านั้นสนุกขึ้นมาได้

“ในเรื่องนี้ ผู้ชม ภาคประชาสังคม ได้ทำหน้าที่ของตัวเองในการขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวแล้ว สิ่งที่อยากเห็นคือนโยบายของภาครัฐ ที่จะเข้าไปกำกับดูแล ไม่ใช่การเซ็นเซอร์ แต่สนับสนุนสื่อที่สร้างสรรค์ ไม่ฝากภาระไว้ที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครูเพียงอย่างเดียว” ดร.วราภรณ์ทิ้งท้าย

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เคยสงสัยไหมทำไมละครไทยต้องตบตี! มาถอดรหัส “อคติทางเพศ” “ผู้หญิง” ใน “สื่อ”

นักวิชาการชี้ ไม่ใช่เด็กไทยทุกคนแยกแยะ”ฉากข่มขืนในละคร” ได้

“ล่า” สะท้อนภัยข่มขืน “ชีวิตจริง” รุนแรงยิ่งกว่าในละคร

ปรบมือรัว ผกก. ‘หัวใจศิลา’ เปิดใจ หลังตัดฉากข่มขืน ลั่นหวังลดความรุนแรง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image