‘ดวงฤทธิ์’ งดกิจกรรมเก๋ปลายปี ชี้เห็นหายนะประเทศ ยันมีทางออก แต่อาจยากเกินรัฐบาลเข้าใจ

‘ดวงฤทธิ์’ งดกิจกรรมเก๋ปลายปี ชี้เห็นหายนะประเทศ ยันมีทางออก แต่อาจยากเกินรัฐบาลเข้าใจ

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม นายดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกชื่อดัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า
ปีนี้ไม่เหมือนปีที่แล้ว เพราะปีหน้าสถานการณ์จะหนักกว่านี้ ดังนั้น ตนจึงไม่มีกิจกรรมเก๋ใดๆ เนื่องจากเห็นหายนะของประเทศ จิตใจไม่มีความเบิกบาน

“ปีนี้ปลายปี ในไทมไลน์ผมไม่มีกิจกรรมเก๋ ไม่มีไลฟ์สไตล์ ไม่มีความเบิกบานสนุกสนาน ผมไม่ได้มีปัญหากับความสนุกสนานของเพื่อนๆ นะครับ แค่ผมไม่มีความสนุกสนาน เพราะผมอาจจะเป็นเพียงไม่กี่คนที่มองเห็นหายนะของประเทศที่กำลังจะปรากฏขึ้นอย่างรวดเร็วในปีหน้า ในวิธีที่ไม่มีรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลไหนจะแก้ปัญหาได้ เป็นปัญหาเฉพาะของประเทศไทยที่มาจากความพิการของโครงสร้างเศรษฐกิจที่สะสมมา 5-6 ปี และเราให้ข้าราชการมาดูแลประเทศ ซึ่งเข้าใจเศรษฐกิจกันแค่ผิวเผินเท่านั้น

“ย้อนกลับไปดูประเทศไทยในอดีต เราเคยมี เครื่องจักรทางเศรษฐกิจที่สร้างความมั่งคั่งให้เรา ตั้งแต่การเกษตร ข้าว ยางพารา ต่อมาคือการส่งออก SME จนมาถึงการท่องเที่ยว เครื่องจักรเหล่านี้ เมื่อทำงานเป็นปกติ ก็จะสร้างรายได้ให้กับประเทศและทำให้เกิดการลงทุนของต่างชาติเพิ่มขึ้นโดยมี FDI (Foreign Direct Investment) เป็นตัวชี้วัด ในวันนี้ ลองกลับไปดูเครื่องจักรแต่ละตัวของประเทศไทย และตัวชี้วัดทุกตัวดูสิครับว่า มีอะไรบ้างที่ใช้การได้ พอที่จะเป็นความหวังของประเทศในปีหน้า ไม่มีเลยครับ”

Advertisement

นายดวงฤทธิ์ระบุอีกว่า ทั้งหมดนี้ ไม่ได้เป็นเพราะโควิดอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาที่หมักหมมมายาวนานตั้งแต่สี่ปีของรัฐบาล คสช. ปัญหาการไร้ความสามารถในการบริหารค่าเงินบาทผ่านกลไกต่างๆ ของรัฐเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด ค่าเงินบาทเราแข็งเกินไปต่อเนื่องมาหลายปี จนไม่จูงใจการลงทุน ไม่จูงใจการส่งออก และไม่จูงใจให้มาท่องเที่ยวมาหลายปี รัฐบาล คสช.ขุดหลุมฝังประชาชนลงโลงมาหลายปีแล้ว โควิด แค่ทำหน้าที่ตอกฝาโลงปิดให้เท่านั้น

“ทางรอดที่พอจะเป็นไปได้ในวันนี้ คือการทำ QE (Quantitative Easing Monetary Policy) เพื่อรักษาสภาพคล่องไว้ให้มากที่สุด แต่เราก็รอมาเกือบปีนึงแล้ว ทั้ง BOT และกระทรวงการคลังก็ยังเมินเฉยกับข้อเสนอนี้ ในขณะที่ทุกประเทศเขาทำกันเป็นล่ำเป็นสันเพื่อให้ประเทศเขารอด ข้อพิสูจน์ที่มีก็คือค่าเงินบาทที่แข็งที่สุดในโลกตอนนี้ไงครับ ทำให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ไม่ทำ QE ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะโง่หรือขี้ขลาด ไม่แน่ใจจริงๆ

“ผมเชื่อว่ามันสมองหลายคนที่ TDRI น่าจะพยายามหลายอย่างเพื่อให้ประเทศไทยผ่านช่วงนี้ไปให้ได้ แต่เมื่อข้าราชการไม่ตอบสนอง เพราะขี้เกียจจัดการกับความเสี่ยง และนายกฯเชื่อข้าราชการมากกว่าประชาชน ประเทศไทยไทยก็หมดหวังสำหรับปีหน้าอย่างแน่นอน เมื่อไม่มีสภาพคล่อง ไม่มีเครื่องจักรทางเศรษฐกิจที่ใช้การได้ ประเทศไทยในปีหน้าก็จะเดินเข้าสู่สภาวะ slump อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Advertisement

“ปีหน้ามันจะหนักกว่านี้แน่นอนครับ

“ความหวังยังพอมี แต่สิ่งที่ทำได้นั้นอาจจะยากเกินที่รัฐบาลจะเข้าใจ เพราะรัฐบาลมีสายตาที่มองเห็นเฉพาะเรื่องใหญ่ บริษัทใหญ่ๆ ที่มีเงินเยอะๆ รัฐบาลไม่เคยมองเห็นสิ่งเล็กๆ ที่มีอยู่โดยทั่วไป ไม่เคยเห็นธุรกิจเล็กๆ ประชาชนตัวเล็กๆ ก็เลยพลาดไปสำหรับรัฐบาลที่จะเห็นเครื่องจักรตัวใหม่ของประเทศที่จะขับเคลื่อนให้พวกเราทุกคนผ่านปีหน้าไปได้อย่างยั่งยืน”

นายดวงฤทธิ์ระบุว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคต่อไป เครื่องจักรทางเศรษฐกิจไม่ได้เป็นสิ่งที่เห็นด้วยตาและสามารถอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย แต่ต้องอาศัย emphathy ในระดับสูงจึงจะเข้าใจและมองเห็น ไม่แน่ใจว่าท่านนายกฯจะมีหรือเปล่า เพราะเรากำลังมองให้เพื่อให้เห็นระบบของเศรษฐกิจในะบบ microcosm ที่เปรียบเสมือน mycelial network ของ fungi ที่เขื่อมโยงระบบนิเวศน์เข้าไว้ด้วยกัน ระบบเศรษฐกิจของเราก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเกษตร การท่องเที่ยว ไปจนถึงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ต่างก็ยึดโยงเข้าหากันเป็น economic mycelial network นี้ด้วยธุรกิจขนาดจิ๋ว หรือ Micro Enterprises

“เรากำลังสร้าง distinction ใหม่ของโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีอยู่ ในระดับที่เล็กลงไปกว่า SME มันคือธุรกิจของคนตัวเล็กๆ บริษัทเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยการสร้างสรรค์ คล่องตัว ปรับตัวง่าย และเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายในระดับต่างๆกัน Micro Enterprise หรือธุรกิจขนาดจิ๋ว ปัจจุบันมีอยู่ในระบบของธุรกิจเป็นจำนวนที่มากกว่า S ของ SME แต่การเข้าถึงของทุนนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะเล็กเกินไปกว่าที่นโยบายรัฐจะเข้าถึงได้ ธุรกิจจิ๋วเหล่านี้ คือคนตัวเล็กๆที่อยู่รอบตัวคุณ เกษตรกรที่ปลูกข้าวน้อยๆ สีเองขายเอง แม่ค้าขายของ online คนที่ทำงานในระบบ freelance ทั้งหมด และอีกหลายๆคนที่ทำงานในกลุ่มเทคโนโลยี่ เขียน code สร้าง apps ใหม่ๆ และธุรกิจอื่นๆที่มีคนอยู่ในธุรกิจนั้นไม่เกิน 2-3 คน รายได้ประมาณน้อยกว่าจนถึง 1 ล้านบาทต่อปี ธุรกิจเหล่านี้ที่มีจำนวนมากที่สุดใน SME แต่กลับไม่เคยได้รับการสนับสนุนใดๆเลยจากภาครัฐหรือสถาบันการเงิน เพียงเพราะพวกเขามีขนาดเล็กเกินไป เล็กจนสายตาแก่ๆของรัฐบาลนั้นไม่สามารถมองเห็นได้

“ถ้าเราสนับสนุน Micro Enterprise เหล่านี้ได้ด้วยนโยบายรัฐ เช่นการเว้นภาษี หรือการเข้าไปร่วมทุนโดยรัฐ ผมเชื่อว่าในธุรกิจจิ๋ว 2.6 ล้านราย หากรัฐลงไปสนับสนุนร่วมลงทุนในการขับเคลื่อนเครื่องจักรตัวใหม่นี้ ให้ขับเคลื่อนไปได้อย่างแข็งแรงขึ้น กับการใช้งบประมาณที่ทุ่มเทไปกับโครงการของรัฐที่ล่าช้าและเต็มไปด้วยการคอรัปชั่น และไม่มีทางที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีหน้าให้พ้นจากภาวะวิกฤตในปีหน้าไปได้เลย”

นายดวงฤทธ์ปิดท้ายว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเครือข่ายของธุรกิจจิ๋วที่เข้มแข็งมาก รอวันที่รัฐจะขับเคลื่อนประเทศให้เป็นอย่างมี empathy และสง่างาม ประเทศไทยเราก็จะไปต่อได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image