‘คิดนอกกรอบ’ เหตุที่ทำให้ ‘ซีรีส์-ไอดอลเกาหลี’ ไปได้ไกล

คิดนอกกรอบ ตอบโจทย์แนวคิดโลก เหตุที่ทำให้ ‘ซีรีส์-ไอดอลเกาหลี’ ไปได้ไกล อุตสาหกรรมสื่อบันเทิงไทยอยู่จุดไหน

สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชาย GDRI จัดเสวนาออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่นซูม คลาวด์ มีตติ้ง กับรายการ Gender Talk ซึ่งมีประเด็นเกี่ยวข้องในหัวข้อ “มูลค่า-คุณค่า จากติ่งสื่อบันเทิง K-POP” โดยมี เรืองรวี พิชัยกุล เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

โดยเริ่มจากประเด็นที่ว่า ในขณะที่สังคมหลายประเทศต้องปิด คอนเสิร์ตหรือแฟนมีตติ้งจัดไม่ได้ และจำกัดการเดินทางด้วยผลกระทบจากโควิด-19 กระแสความนิยมและรายได้จากสื่อบันเทิงทั้งในฝั่งของวงไอดอล และซีรีส์เกาหลี กลับยังสามารถทำรายได้สวนกระแส เพราะเหตุใด

เรื่องนี้ ธนพ ตันอนุชิตติกุล กรรมการบริหาร บ.การ์ตูนคลับมีเดีย มองว่า เคป๊อปมีการปรับเป็นสื่อออนไลน์ เช่น จัดคอนเสิร์ตออนไลน์ และแฟนมีตติ้งออนไลน์ เพิ่มมากขึ้น กระทั่งกลายมาเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง และก็มีหลายๆ บริษัทปรับคอนเทนต์จากการถ่ายทอดผ่านโทรทัศน์เป็นการซื้อลิขสิทธิ์ออนไลน์นำมาออกอากาศทาง VOD (Video on demand) กันมากขึ้น อาทิ เน็ตฟลิกซ์ ดิสนีย์พลัส+ ไลน์ทีวี และยูทูบ เป็นต้น ขณะที่อุตสาหกรรมสื่อออนไลน์ของไทยก็มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด ทว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นแล้วอาจจะยังไม่ใช่เม็ดเงินที่เทียบเท่า

ธนพ ตันอนุชิตติกุล

ทั้งนี้หนึ่งในคอนเทนต์ออนไลน์ ที่คนนิยมรับชมในช่วงอยู่บ้านก็คือ “ซีรีส์เกาหลี”

Advertisement

อ่าน : อำนาจ ความรัก ความงาม บทบาท ‘หญิงชาย’ ในซีรีส์เกาหลี
อ่าน : คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : แกะรอย ‘Itaewon Class’ กับ 3 จุดเด่นที่ทำให้เป็นซีรีส์เกาหลียอดฮิต

ทั้งนี้หนึ่งในคอนเทนต์ออนไลน์ ที่คนนิยมรับชมในช่วงอยู่บ้านก็คือ “ซีรีส์เกาหลี” ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการวิเคราะห์และเปิดวงเสวนาว่าเหตุใดซีรีส์เกาหลีถึงกลายเป็นที่นิยมในไทย

ทว่าครั้งนี้ เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์ประจำภาควิชาคณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจในอีกทางหนึ่งว่า เช่นเดียวกับในวัฒนธรรมของแฟนคลับเกาหลีที่มีสิ่งที่น่าสนใจคือเรื่องของ “ซอฟต์พาวเวอร์” (Soft Power) หรืออำนาจอย่างอ่อน ที่มีผลต่อการโน้มน้าวใจ ขยายอิทธิพลทางความคิดและวัฒนธรรม ในซีรีส์เกาหลีก็เช่นกัน มักจะนำเสนอภาพของสังคม เรื่องเทคโนโลยี ขายเรื่องนวัตกรรม พอเนื้อเรื่องเกี่ยวกับวิชาชีพก็ทำให้ผู้ชมอินมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหมอ ทนาย แฟนคลับซีรีส์ก็จะเปลี่ยนพระเอกไปทุกซีซั่น

Advertisement

ขณะที่หลายคนดูๆ ไปก็เกิดข้อสงสัยว่าทำไมหลายครั้งพยายามดูซีรีส์ไทยจนจบรวดเดียว กลับไม่สามารถทำได้ แต่กับซีรีส์เกาหลีถึงได้ยอมอดหลับอดนอนติดตามกันจนตาแฉะ

อาจารย์เคท อธิบายเรื่องนี้ว่า กับ “ซีรีส์ไทย” ประเด็นอยู่ที่มายด์เซตการสร้างที่มองว่าทำมาเพื่อให้คนไทยดู แบบนี้เพียงพอแล้ว แต่อาจจะ “ไม่เพียงพอสำหรับการแข่งขัน” กับซีรีส์ประเทศอื่น เช่น ถ้าในละครยังมีฉากตบตีกันอยู่ มีฉากขืนใจ มีการใช้ความรุนแรง ในที่ทำงานพระเอกยังล่วงละเมิดเลขาตัวเอง หากยังมีภาพเหล่านี้ ความน่าติดตามจะอยู่ตรงไหน

ในเมื่อ “โกลบอล มายด์เซ็ต” (Global Mindset) พูดถึงคุณค่าอีกแบบในการสร้างสื่อเพื่อให้ผู้ชมเกิดกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) ไปด้วยขณะรับชม ซึ่งในซีรีส์ประเทศไทยสิ่งนี้กลับมีน้อยมาก

ขณะเดียวที่ซีรีส์เกาหลีมีการแข่งขันสูงมากในเรื่องนี้ เพื่อที่จะให้คนทั่วโลกมีโอกาสได้ดู มาตรฐานการแข่งขันของประเทศเขาจึงไปไกลมากแล้ว

ที่สำคัญ “เกาหลีกล้าที่จะพูดถึงเรื่องของตนเองมากขึ้น เช่นในหนัง ในซีรีส์ จะพบว่าเขาพูดเรื่องการคอร์รัปชันของนักการเมือง ในกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเรายังไม่เคยเห็นละครไทยพูดถึงเรื่องนี้” อ.เคทกล่าว

เรื่องอาชีพ สังคม การเมือง แฟนตาซี หนังชีวิต ซีรีส์เกาหลีก็แทบจะมีเนื้อเรื่องแตะไปในหลากหลายมิติ ทว่า “มิติเรื่องความหลากหลายทางเพศ” กลับมีน้อยมาเสียจนแทบจะไม่ปรากฏ ขณะเดียวกันในประเทศไทย “ซีรีส์วาย” หรือสื่อบันเทิงที่มีเนื้อหาชายรักชายกลับได้รับความนิยมและมีการลงทุนสร้างเพื่อถ่ายทอดออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง

อาจารย์เคท ระบุถึงเหตุผลที่ทำให้ซีรีส์วายในไทยมีการผลิตมากขึ้น ว่าส่วนหนึ่งก็มาจากเหตุผลเรื่องการ “ขายได้” ขายได้ทั้งในเชิงมีคนติดตามดูต่อเนื่อง และเรื่องของโฆษณาที่เข้ามาทางดารานักแสดง ฉะนั้นการขายได้จึงเป็นแรงกระตุ้นให้คนลุงทุนในซีรีส์วายมากขึ้น และกลุ่มคนดูส่วนมากก็จะเป็นกลุ่มประเทศที่มีการยอมรับในเรื่องความหลากหลายทางเพศน้อย เช่น ในจีนหรืออินโดนีเซีย

สำหรับประเด็นที่ว่าทำไมในซีรีส์เกาหลีถึงนำเสนอประเด็นความหลากหลายทางเพศน้อย อาจกล่าวได้ว่าในเกาหลีการพูดถึงเรื่องนี้เป็นเงามืด และส่งผลเสีย ในที่นี้หมายถึงถ้าคุณเป็นคนดังก็ไม่สามารถเปิดเผยตัวตนได้ อาจจะทำให้ไม่มีงาน ไม่มีการเจริญเติบโตในสายงานได้ ซึ่งสำหรับคนที่สนใจในประเด็นเรื่องเพศสภาพจะสังเกตได้ว่าในซีรีส์เกาหลีมีปมเกี่ยวกับทัศนคติด้านเพศที่ขัดกันอยู่ เช่น เสียงของผู้หญิงจะเบากว่าเสียงของผู้ชาย ความสัมพันธ์ในครอบครัวเกาหลีบางเรื่องมีลักษณะของชายเป็นใหญ่

เสวนาออนไลน์

ซึ่งนอกจาก “ซีรีส์เกาหลี” แล้ว ศิลปินเกาหลี หรือที่เรียกกันว่า “ไอดอล” ก็เป็นที่นิยมไม่แพ้กัน

เพราะไอดอลกับบทเพลงช่วยเยียวยา ‘ซึมเศร้า’  เชื่อมต่อความรู้สึก ‘ไม่โดดเดี่ยว’

คริษฐา ลีละผลิน หรือ เพชร นักเขียนใต้ดิน และแฟนคลับตัวยงของวงบังทัน (ฺBTS) หรือที่มีชื่อเรียกของแฟนคลับว่า “อาร์มี่” (Army) สะท้อนว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่าแรงที่ได้ขั้นต่ำวันละ 300 บาท บางครั้งเพื่อจะเจียดเงินไปสนับสนุนศิลปินที่ชอบ หรือผลงานการ์ตูนก็ไม่เพียงพอ ฉะนั้นจึงมีหลายคนบอกว่าถ้าไม่มีเงินก็ไม่ต้องดูสิ ในจุดนี้มองว่าก็เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นปัญหาจากโครงสร้างทางสังคมด้วย ที่ทำให้แฟนคลับ หรือผู้ที่ชื่นชอบผลงาน ผู้ชมไม่มีความสามารถพอที่จะสนับสนุนได้ทั้งหมด

ก่อนจะเล่าถึงจุดเริ่มต้นการเป็นแฟนคลับว่ารู้จักศิลปินเกาหลีและฟังเพลงเกาหลีมาตั้งแต่ยุคแรกๆ อาทิ ดงบังชินกิ SNSD และ 2NE1 กระทั่งถึงยุคเปลี่ยนผ่านที่อุตสาหกรรมไอดอลเกาหลีเดบิวต์วงใหม่ๆ ถี่มากทำให้เธอห่างจากการติดตามไปเข้าสู่วงการออนิเมชั่นญี่ปุ่น ทว่าในช่วงที่เธอเป็นซึมเศร้า วันหนึ่งเพลงของวง BTS (บังทัน) ก็โผล่ขึ้นมาจึงเข้าไปฟังและชื่นชอบทั้งเสียงเพลง และเนื้อร้อง จึงกลายเป็นแฟนคลับตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้

หลายคนอาจจะสงสัยว่าเพลงเกาหลี ฟังไม่รู้เรื่อง แล้วทำไมถึงชอบ ก็ต้องบอกว่าชื่นชอบเสียง เมโลดี้ ท่วงทำนองก่อน แล้วในกลุ่มแฟนคลับเองก็จะมี “แฟนซับ” ที่ทำซับไตเติ้ลเป็นภาษาของประเทศนั้นๆ เพื่อให้แฟนคลับได้เข้าใจความหมายด้วย

“BTS นอกจากแต่งเพลงเกี่ยวกับความรักแล้วยังแต่งเพลงที่เกี่ยวกับความฝัน ความเศร้าของตัวเอง ซึ่งหลายๆ เพลงที่ไม่ใช่เพลงไตเติ้ลที่ใช้ในการโปรเมต แต่เป็นเพลงในอัลบั้ม เช่นเพลงรักครั้งแรก (First love) ของซูกา เมมเบอร์ในวง ที่แต่งถึงความรักที่มีต่อเปียโนตัวแรกของเขา, Whalien 52 สะท้อนความเศร้าความเหงา เราเป็นปลาวาฬที่มีคลื่นเสียงความถี่ไม่ตรงกับคนอื่นเขา ทำให้ไม่มีใครได้ยินเสียงของเรา หลายเพลงแทบจะเป็นเพลงเพื่อชีวิต พอเราไปอ่านเนื้อเพลง เรารู้สึกว่ามันพอดีกับเรา มันตรงกับสถานการณ์เรา บางทีที่เรารู้สึกสิ้นหวังทำให้เรารู้สึกว่าเรามีเพื่อนและไม่โดดเดี่ยวบนโลกใบนี้” แฟนคลับตัวจริงของบังทันกล่าว

ขณะเดียวกัน อาร์มี่ประเทศไทย ที่ผ่านมาก็ได้จัดกิจกรรมบริจาคเลือดทั้งหมดร่วม 2 แสนยูนิตโปรโมตผ่านโฆษณาบนบีทีเอส (ซึ่งปัจจุบันโปรโมตผ่านช่องทางรถสองแถว หรือตุ๊กๆ แล้ว) ส่วนใครบริจาคเลือดไม่ได้ก็สามารถสมทบเป็นเงินแทน โดยดำเนินการผ่าน บ้านเบส (Fanbase) ที่เป็นเหมือนเจ้าภาพในการทำกิจกรรม แอคเคาท์ที่เปิดไว้อัปเดตข่าวสารของศิลปินที่ชื่นชอบ

“การได้ติดตามศิลปินที่ชอบจะมีตอนที่เขาทำคลิปเพื่อไกด์ว่าแต่ละท่อนที่เขาแต่ง เขาคิดอะไรอยู่ เขาแชร์ทัศนคติว่าตอนแต่งคิดอะไร ทำให้เรารู้สึกลิงก์กับเขา สำหรับเพชรการเป็นแฟนคลับ เพชรเลือกที่จะเลือกสนับสนุนเท่าที่เราไหว” คริษฐากล่าว

ด้าน อ.เคท กล่าวเสริมว่า เพื่อดึงดูดให้คนเข้ามารับชม เกาหลีจะเน้นการขายความเป็นเฟมินีน (Feminine) ดังเช่นที่จะเห็นในวงบอยแบนด์ หรือไอดอล ที่เมื่อมองในภาพรวมของวงจะมีความหลากหลายอยู่สูง มีความเป็น Unisex สูง ซึ่งประเด็นนี้ไม่ได้ตอบโจทย์คนดูในเกาหลีอย่างเดียว แต่เป็นการตอบโจทย์ที่ว่าอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงเกาหลีได้ก้าวข้ามวิธีคิดของตัวเองในสังคมปิดกั้นไปสู่การมีโกลบอล มายด์เซต ซึ่งนับว่าเขามองขาดในเรื่องนี้” อาจารย์เคทกล่าวและว่าเห็นได้จากศิลปินที่ประสบความสำเร็จในแถบอเมริกา ที่แต่ละคนมีความหลากหลายในตัวเอง (Diverse) ก้าวออกจากนอกกรอบ เช่น เลดี้ กาก้า ที่ทั้งเพลงและมิวสิค วิดีโอ ไปไกลมากแล้ว พอหันกลับมาดูวงการเกาหลีก็จะเห็นว่าไปไกลมากเหมือนกัน สู้ขาดใจ

“ทว่าการออกนอกกรอบ กล้าก้าวข้ามจากความกลัวทางด้านวัฒนธรรม ศิลปินเกาหลีก็ยังท้าท้ายตัวเองเรื่องนี้อยู่ เพราะก็ต้องบอกว่าไม่ใช่คนเกาหลีทุกคนจะชอบและติดตามแบบนี้ ด้วยก็มีไอดอลหลายวงเหมือนกันที่ในเกาหลีไม่ได้รับความนิยม ฉะนั้นวัฒนธรรมพื้นฐานก็ยังเป็นอุปสรรคอยู่บ้างจริงๆ แต่เมื่อทำแล้วมีคุณค่าที่จะทำก็เลยทำให้ไปต่อได้” อาจารย์มธ.กล่าว

ย้อนกลับมาที่ประเด็น “คิดนอกกรอบ” ซึ่งน่าสนใจว่าแล้วในอุตสาหกรรมบันเทิงไทยจะสามารถขับเคลื่อนไปได้ไหม อาจารย์เคท กล่าวว่าอย่างแรกต้องให้เลิกส่งเอกสารเสนอโครงการทางแฟกซ์ก่อนน่าจะไปได้ไกลกว่านี้

ส่วนประเด็นหลักคือต้องเห็นจริงๆ ก่อนว่าเราอยากขับเคลื่อนประเทศของเรายังไงในการที่จะทำให้คนได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ เพราะเมื่อเราให้ความหมายของคำว่า “วัฒนธรรม” กลับตีความหมายแคบมาก ฉะนั้นเมื่อเป็นวัฒนธรรมจึงมีความ “ไม่กล้า” ไม่กล้าเปลี่ยนแปลง ไม่กล้าทำ ไม่กล้าปรับใช้ เพราะชอบมีความคิดว่าต้องเอาความเป็นไทยไปเบลนด์ ตรงนี้ก็ทำให้เกิดอุปสรรคที่ทำให้ไม่กล้าออกนอกกรอบเพื่อรับเรื่องใหม่ๆ

จึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งว่าทำไมผู้ชม จึงเลือกช่องทางในการเสพสื่อจากต่างประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลี

“การครอบครองพื้นที่โดยใช้ ‘วัฒนธรรม’ เป็นซอฟต์พาวเวอร์ ประเทศเกาหลีลงทุนไปเยอะมากตลอดระยะเวลากว่าทศวรรษ ขณะที่ไทยเราไม่ทำแบบนั้น เราใช้วัฒนธรรมแบบอนุรักษ์นิยม (Conservative) ไม่ใช่แบบอินโนเวชั่น (Innovation) คิดค้นหรือพัฒนาจากเดิม ฉะนั้นจึงลำบาก” อาจารย์เคทกล่าว

ขณะที่ ณนพ กล่าวเสริมว่าซีรีส์เรื่อง “เด็กใหม่ ซีซั่น 2” หรือที่รู้จักตัวละครหลักอย่าง “แนนโนะ” ติดท็อปเทรนด์ในแอพพ์เน็ตฟลิกของหลายๆ ประเทศ เป็นซีรีส์ไทยตัวอย่างของการคิดนอกกรอบ ซึ่งเนื้อเรื่องตรงกับความสนใจของทั่วโลก (Global Appeal) เพราะผู้ชมจากหลายประเทศไม่ได้กดเข้ามารับชมเพราะเป็นเนื้อหาของไทย แต่คลิกชมเพราะเนื้อเรื่องน่าสนใจ ก็คล้ายกับการดูซีรีส์เกาหลีที่เราไม่ได้ดูเพราะชอบประเทศเกาหลีอย่างเดียว แต่เพราะเนื้อเรื่องของเขาทำให้เราอินได้จริงๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม อาจารย์เคท ให้ความเห็นถึงเรื่องเพศสภาพที่ถูกผลิตซ้ำในซีรีส์ เช่น ผู้ชายก็ต้องมาดแมน ผู้หญิงก็ต้องหวานแหวว ว่า ปัจจุบันผู้คนมีการใช้ เจนเดอร์ เลนส์ (Gender Lens) หรือ มุมมองแบบเพศภาวะ มากขึ้น ไม่ได้มองอะไรแค่ด้านเดียวอีกต่อไป เช่น เจ้าหญิงดิสนีย์ ที่ได้รับการเอาไปตีความใหม่อย่างหลากหลาย เธอไม่ใช่เจ้าหญิงแสนสวยอย่างเดียว แต่คือผู้ถูกกระทำ บางเรื่องเจ้าหญิงกลายเป็นเหยื่อ ซึ่งมุมมองเหล่านี้ถูกนำไปใช้กับหลายๆ อย่าง ไม่เพียงแค่เรื่องสื่อเท่านั้น จุดนี้เองที่จะทำให้เกิดการทัดทานว่าบางสิ่งยังจะสามารถทำได้อยู่หรือไม่ หรือควรเปลี่ยน เช่นฉากข่มขืนในละครไทย ที่วันดีคืนดีก็จะมีคนออกมาพูดว่าทำไมยังมีฉากแบบนี้ ยอมรับไม่ได้ ขณะเดียวกันเมื่อมองไปไกลกว่านั้น ยังมีการแลกเปลี่ยนความคิดในเรื่องของแนวคิด Genderless หรือการ “ไม่แบ่งแยกเพศ” รวมอยู่ด้วย

“ข้อดีของการรับชมสื่อบันเทิงหลากหลาย ไม่ได้มาจากชาติเดียว จะทำให้เรามองเห็นถึงสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดของผู้ผลิต ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ การ์ตูน บทเพลง ที่มีประเด็นแนวความคิดทางวัฒนธรรมฝังอยู่ให้เรานำมาปรับใช้ ให้เรามีแนวคิดแบบมัลติคัลเจอรัล (Multicultural) มากยิ่งขึ้น อาทิ ซีรีส์ญี่ปุ่นนั้นมีความซับซ้อนทางอัตลักษณ์เยอะมาก หลายคนรับชมอาจจะต้องเท่าทันและคิดตามเยอะมาก ขณะที่ซีรีส์เกาหลีเข้าถึงได้มากกว่า อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวไหนๆ สิ่งสำคัญคือแง่มุมของผู้เสพสื่อ เช่น ดูหนังเรื่องเดียวกันคนหนึ่งอาจจะรู้สึกว่าดูยาก อีกคนบอกแบบนี้แหล่ะน่าติดตาม เป็นต้น” อาจารย์เคทกล่าวทิ้งท้าย

อ.เคท

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image