1 เดือน “โปเกมอน โก” จุดเริ่มต้น “สังคมดิจิทัล”

ในรอบ 1 เดือนกว่าที่ผ่านมา หลังจากที่คนไทยได้รู้จัก “โปเกมอน โก” ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกม “โปเกมอน โก” เข้ามามีผลในชีวิตไม่มากก็น้อย

จากวันนั้นจนวันนี้ คนไทยได้รู้จักกับโปเกมอน โก มา 1 เดือนเศษแล้ว สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว จัดงานเสวนา “สังคมได้อะไร จากเกมส์โปเกมอน โก” ที่สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

โปเกม่อน
ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช-ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน-รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี

ในวงเสวนา เริ่มต้นขึ้นด้วยการทำความรู้จักกับเกมฮิตแห่งยุคสมัย ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช ที่ว่า เกมโปเกมอน โก แม้จะเหมือนเกมอื่นๆที่ตอบโจทย์เรื่องความเพลิดเพลิน แต่สิ่งที่พิเศษที่ทำให้ได้รับความนิยมเป็นเพราะเป็นเกมที่พาคนออกไปสัมผัสโลกความเป็นจริง ทั้งยังมีกลุ่มแฟนคลับที่ติดตามมานาน มีความน่ารัก เริ่มตั้งแต่เลือกคาแรกเตอร์ได้เอง สัตว์ที่ตามเก็บก็น่ารัก ทำให้คนสนใจเล่น ซึ่งเกมจะสร้างรายได้จากการซื้อไอเท็มต่างๆ อย่างไรก็ตามนับว่าผู้สร้างแสดงความรับผิดชอบระดับหนึ่ง อย่างการขึ้นเตือนเมื่อเคลื่อนที่เร็วเกินไป หลายคนยังหาประโยชน์จากความนิยมนี้ได้ เช่นมูลนิธิกระจกเงาที่สร้างกิจกรรมตามหาคนหายเหมือนตามหาโปเกมอนหายาก

ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา เผยว่า การเข้ามาของเกมโปเกมอน โก ส่งสัญญาณเตือนว่านี่คือ “ยุคดิจิทัล” ที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ คำถามคือเราเตรียมสังคมและคนของเราให้พร้อมกับเทคโนโลยีเหล่านี้แค่ไหน

Advertisement

“ในอนาคตเราคงจะต้องมีเกมรูปแบบนี้มาอีกเรื่อยๆ รวมทั้งสื่อประเภทต่างๆ แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรองรับสื่อเกมจากต่างประเทศได้เพียงพอ นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ต้องหันมาคิดว่าเราจะรับมืออย่างไร ให้คนเท่าทันเทคโนโลยี” ผศ.ดร.เอื้อจิตกล่าว

ขณะที่ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์เฉพาะทางวัยรุ่น เผยว่า จากการไปร่วมงานสัมมนาด้านจิตวิทยานานาชาติที่เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนกรกฎาคม เป็นช่วงเวลาที่เกมนี้เพิ่งจะเปิดให้เล่นที่ญี่ปุ่น ชาวเมืองมีความตื่นตัว มีการสอนเล่นและบอกกฎกติกามารยาทชัดเจนว่าเล่นที่ใดได้ ที่ใดไม่ควรเล่น เป็นการเตรียมความพร้อมให้พลเมืองของเขาเป็นอย่างดี นอกจากนี้ โยโกฮามาเองมีพื้นที่กิจกรรมเยาวชนหลากหลายทำให้เด็กไม่เล่นเกมอย่างเดียว นอกจากเรื่องโปเกมอน โก แล้ว ที่งานสัมมนานักวิชาการชาวญี่ปุ่นยังเปิดตัวหุ่นยนต์ “ฮิวแมนนอยด์” ที่เหมือนกับมนุษย์ทุกอย่าง พูด สื่อสาร ใส่โปรแกรมเรื่องความรักเข้าไป ออกแบบมาเพื่อทำงานแทนมนุษย์ในเรื่องต่างๆ ทั้งหมด จนถึงขนาดมีการคาดการณ์ว่าบางชุมชนในอนาคตจะเป็นหุ่นยนต์ทั้งหมดและมนุษย์เป็นแค่ส่วนเกิน นี่เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุคดิจิทัลแล้ว และมนุษย์ต้องก้าวให้ทัน

“ส่วนตัวมองว่าแม้หุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่ทุกอย่าง แต่สิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างคือจิตสำนึกและจิตวิญญาณ หากจะเริ่มจากการทบทวนสิ่งที่ได้จากโปเกมอน อาจจะมองว่าเราเลี้ยงและปลูกฝังเด็กให้มีวินัยในการเล่นเกม และรู้จักเกมดีพอแล้วหรือยัง เมื่อเรียนรู้เรื่องนี้ได้ดี เด็กจะรู้จักพอด้วยตัวเอง”

Advertisement

“สิ่งสำคัญคือเราต้องสร้างวินัยเชิงบวก โดยเริ่มจากสอนเด็กให้รู้จักสื่อสารความต้องการของเขาผ่านการใช้ข้อความที่ดี พูดภาษาเดียวกัน ให้ความรักและเข้าใจ ไม่คิดแทน เลี้ยงลูกให้อยู่กับปัจจุบัน อย่างเกมโปเกมอน พ่อแม่อาจให้เหตุผลกับเด็กว่าข้อดีข้อเสียคืออะไร เพื่อให้เขาตัดสินใจเอง หลักง่ายๆ คือหากพ่อแม่ทำไม่ได้ วันหนึ่งหุ่นยนต์ก็อาจเข้ามาแทนที่ตรงนี้ไป” รศ.นพ.สุริยเดวเผย

ก้าวให้ทันโลกยุคดิจิทัล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image