เปิดงาน ‘มหัศจรรย์พันธุ์ข้าวมงคล พืชผลของพ่อ’ อำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ปาฐกถาทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวนา

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 25 พฤศจิกายน ที่เอ็มซีซี ฮอลล์ เดอะมอลล์ บางกะปิ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) โดยนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ได้ร่วมกับองค์กรหน่วยงานภาครัฐและพันธมิตรธุรกิจภาคเอกชนได้ร่วมจัดงาน “มหัศจรรย์พันธุ์ข้าวมงคล พืชผลของพ่อ” ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศของการจัดงานได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี และต่างทยอยเดินทางเข้ามาร่วมงานอย่างต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต่างให้ความสนใจชมนิทรรศการ “พันธุ์ข้าวมงคล” โดยเป็นการจัดแสดง 9 พันธุ์ข้าวทรงปลูกที่พระราชทานในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และเลือกซื้อข้าวจากชาวนาจากจังหวัดต่างๆ ที่นำมาขายในงาน อาทิ จังหวัดสระแก้ว จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดพัทลุง จังหวัดนครราชสิมา จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดพะเยา จังหวัดเลย เป็นต้น ทั้งนี้ อีกหนึ่งบูธที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษคือบูธ “ข้าวกรอบสยาม” ที่มีประชาชนมาต่อแถวซื้อข้าวกรอบเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงกิจกรรมชิมข้าว 40 สายพันธุ์

ต่อมา เวลา 14.00 น. ได้มีพิธีเปิดงาน “มหัศจรรย์พันธุ์ข้าวมงคล พืชผลของพ่อ” ที่บริเวณเวทีกลาง โดยมีประชาชนให้ความสนใจจนเต็มพื้นที่บริเวณหน้าเวที ทั้งนี้ ก่อนเริ่มพิธีเปิดได้มีการยืนแสดงความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นเวลา 89 วินาที และร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีร่วมกัน

โดย นายฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ได้ขึ้นกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานว่า การที่เราพร้อมใจกันมาจัดงานก็เพื่อร่วมกันเผยแพร่พระราชเกียรติคุณและสดุดีกษัตริย์แห่งการเกษตร ผู้เปี่ยมด้วยพระปรีชาสามารถ และทรงงานหนักเพื่อประชาชนมาตลอด 70 ปี ดังนั้น ด้วยสำนึกในหน้าที่ในการถวายราชสดุดีและเผยแพร่พระเกียรติให้แผ่ไพศาล งานนี้จึงเกิดขึ้น โดยมีนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านเป็นแม่งานหลัก

Advertisement

“กว่าเจ็ดสิบปีที่คนไทยได้รู้ว่าพระองค์ท่านทรงงานหนักมาโดยตลอด ซึ่งหนึ่งในงานที่สำคัญที่สุดคือด้านการเกษตร อันเห็นได้จากพระราชดำริ พระราชกรณียกิจ ในเรื่องดิน น้ำ การจัดไร่นา รูปแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่สร้างประโยชน์ให้แก่เกษตรกรทั้งสิ้น” นายฐากูรกล่าว

นายฐากูรกล่าวอีกว่า ส่วนกิจกรรมต่างๆ ภายในงาน ได้มีการนำเสนอพันธุ์ข้าวของไทยที่หายาก กิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้าวและการเกษตร รวมถึงเผยแพร่พระราชกรณียกิจที่เกิดดอกออกผลอย่างแท้จริงผ่านทางชีวิตของเกษตรกร ที่จะมาเล่าถึงการน้อมนำทุกสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำมาปรับใช้ และที่สำคัญ ถือเป็นเกียรติอย่างสูงที่ ฯพณฯ อำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ได้กรุณามากล่าวปาฐกถาพิเศษให้พวกเราได้รับรู้ถึงเรื่องราวการทรงงานต่างๆ ของพระองค์ท่านอีกด้วย

“หวังว่ากิจกรรมต่างๆ ในงานนี้จะทำให้คนไทยได้ยิ่งเห็นประจักษ์ถึงการทรงงานด้านการเกษตร ที่ทำเพื่อเกษตรกรและชาวนาไทย และตอกย้ำให้ทุกฝ่ายน้อมนำพระราชดำริในด้านการเกษตรมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต เพื่อสร้างวิถีชีวิตอย่างยั่งยืน ตามรอยพระยุคลบาทสืบไป” นายฐากูรกล่าว

Advertisement

ข้าว02

จากนั้นได้เป็นพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ และปาฐกถาพิเศษ “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้วยพระบารมี ชุบชีวิตพสกนิกร” โดย ฯพณฯ อำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี

ทั้งนี้ ฯพณฯ อำพลกล่าวว่า หากจะให้พูดย่อเรื่องราวพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านที่ได้ทรงงานมาตลอด 70 ปี 4 เดือน หรือราว 25,555 วันนั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่าย จากที่เราได้เห็นงานที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ท่าน ส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับการเกษตร เนื่องจากทรงเห็นความสำคัญในด้านการเกษตร อันเป็นอาชีพของประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนั้น โครงการแรกๆ ที่พระองค์ได้เริ่มต้นนั้นจึงเกี่ยวข้องกับอาหารการกินของประชาชนเป็นส่วนใหญ่ อาทิ ปลาหมอเทศ และปลานิล เป็นต้น

“ส่วนในเรื่องข้าวนั้น พระองค์ท่านได้เริ่มต้นโดยทรงมีแปลงนาทดลองส่วนพระองค์ในสวนจิตรลดา รวมไปถึงโรงสีทดลองที่ได้ทรงสร้างโรงสีขนาดเล็ก เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่ชาวนา นอกจากนี้ยังได้ฟื้นฟูพระราชพิธีแรกนาขวัญเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกรในการทำนา” ฯพณฯ อำพลกล่าว

ฯพณฯ อำพลกล่าวอีกว่า ในเรื่องของข้าว พระองค์ท่านยังทรงคิดวิธีหารายได้ทั้งหมดจากทุกส่วนโดยไม่ละทิ้งส่วนใดส่วนหนึ่ง ทรงทดลองนำแกลบไปใช้เพาะเห็ด สร้างโรงบดแกลบเพื่อนำไปใช้เป็นถ่าน นอกจากนี้ยังทรงมองการณ์ไกล ทรงสร้างหอกลั่นเพื่อผลิตไบโอดีเซลจากพืชการเกษตรต่างๆ ทั้งๆ ที่ราคาน้ำมันในช่วงนั้นยังมีราคาที่ไม่แพง ซึ่งพระองค์ยังได้ทรงทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง โดยมีรถประจำส่วนพระองค์ที่ใช้น้ำมันปาล์ม 100 เปอร์เซ็นต์

“การทรงงานของพระองค์ท่านเป็นตัวอย่างที่เราต้องศึกษาและเรียนรู้ พระองค์ท่านมักจะฟังความเห็นจากชาวบ้านอยู่เสมอ และมักลงพื้นที่จริงด้วยตนเองเพื่อรับฟังความเห็นไปแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง รวมไปถึงเห็นถึงความสำคัญของการทำงานแบบบูรณาการ โดยทุกครั้งที่ทรงลงพื้นที่ มักจะมีประชาชนท้องถิ่น ข้าราชการท้องถิ่น ข้าราชการส่วนกลาง และนักวิชาการจากกรุงเทพฯ ไปร่วมฟังพร้อมกันอยู่เสมอ ทั้งนี้ก็เพื่อทุกฝ่ายจะได้มีโอกาสพูดคุยปัญหาและสร้างความเข้าใจในการทำงานร่วมกัน” ฯพณฯ อำพลกล่าวและว่า นอกจากนี้ พระองค์มักทรงพูดคุยกับประชาชนอย่างเป็นกันเอง ทรงนั่งกับพื้นเพื่อที่จะเข้าถึงประชาชน นี่เป็นภาพที่เราเห็นเสมอ

ฯพณฯ อำพลกล่าวอีกว่า ทุกครั้งที่เราเห็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯไปด้วย นอกจากจะเป็นกำลังใจแก่พระองค์ท่านแล้ว ยังเป็นการศึกษาด้านการเกษตรเพิ่มเติมอีกด้วย โดยการทรงงานของพระองค์ท่านนั้นแทบไม่มีเวลาพัก ทำงานจนค่ำมืด บางแห่งฝนตกหนักพระองค์ท่านก็ไม่ย่อท้อ เช่นเดียวกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่จะไม่เสด็จฯกลับ และจะเป็นกำลังใจให้พระองค์ท่านเสมอจนกว่าจะทรงงานเสร็จ

ฯพณฯ อำพลกล่าวอีกว่า ไม่เพียงแต่ในต่างจังหวัด ในกรุงเทพฯท่านก็ไม่เคยละทิ้ง บ่อยครั้งที่มีน้ำท่วม พระองค์จะทรงลงพื้นที่ที่มีน้ำท่วมด้วยพระองค์เอง ทรงแนะนำวิธีการจัดการแก้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำแก้มลิงในหลายพื้นที่รอบกรุงเทพฯ เพื่อเป็นพื้นที่ในการเก็บน้ำ ป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ และสามารถนำไปใช้เพื่ออุปโภคบริโภคได้

“พระองค์ท่านทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงประพฤติในทศพิธราชธรรม ทรงยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย และไม่เคยทำอะไรนอกเหนือจากในรัฐธรรมนูญกำหนด ทรงทำงานหนักเพื่อประชาชนมาตลอด 70 ปี ดังนั้น หากจะให้กล่าวถึงการทรงงานทั้งหมดตลอด 25,555 วัน ภายในเวลาที่กำหนดคงจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น สิ่งที่อยากจะสรุปคือ ขอให้พวกเราระลึกถึงการทรงงานของพระองค์ท่านที่ทำเพื่อประชาชนชาวไทย” ฯพณฯ อำพลกล่าว

จากนั้นได้เวลาการเสวนา “กรมการข้าวกับพระบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย” โดย นายสมทรง โชติชื่น ผู้แทนจากกรมการข้าว ได้กล่าวว่า ที่ผ่านมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักในด้านการเกษตรเพื่อเกษตรกรไทยมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องข้าว ที่ได้มีพระราชกรณียกิจมีโครงการส่วนพระองค์มากมายที่ทรงทำเพื่อให้ชาวนาไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

“อย่างพระราชวังสวนจิตรลดา ถือเป็นพระราชวังที่ในโลกนี้ไม่มีเหมือน เพราะทรงปรับพื้นที่ภายในบริเวณให้เป็นพื้นที่ในการทดลองด้านการเกษตร รวมไปถึงแปลงปลูกข้าวทดลองส่วนพระองค์ เพื่อทดลองผลิตพันธุ์ข้าวต่างๆ นอกจากนี้ ภายในพื้นที่ยังมีโรงสีข้าวตัวอย่าง โรงบดแกลบ โครงการธนาคารข้าว โครงการแกล้งดิน และอื่นๆ ที่ไม่อาจกล่าวได้หมดบนเวทีแห่งนี้” นายสมทรงกล่าว

ต่อมา เวลา 16.00 น. บริเวณเวทีกลาง ได้มีการจัดกิจกรรมเมนูข้าวเด็ด “ข้าวผัดปูเมืองทอง” โดยนางสาวพิมพร รอดกำแหง จากนั้นเป็นเวทีเสวนาเกษตรกรตัวอย่าง : 3 เกษตรกรผู้เดินตามรอยพ่อ เกษตรกรดีเด่นปี 2559 ได้แก่ นายขวัญชัย รักษาพันธ์ ชาวนาจากฉะเชิงเทรา นายณรงค์ สังขะโห เกษตรกรชาวหันคา จ.ชัยนาท และนายสุธรรม จันทร์อ่อน เกษตรกรชาวกำแพงแสน จ.นครปฐม

จากนั้นเวลา 18.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่าประชาชนยังคงทยอยเดินทางมาร่วมงานอย่างต่อเนื่อง ขณะที่มีเวทีกลางได้มีการบรรยาย “ข้าวธรรมธุรกิจ” โดย นายพิเชษฐ์ โตนิติวงศ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัทธรรมธุรกิจ ชาวนาธรรมชาติ จำกัด ก่อนที่งานจะสิ้นสุดในช่วงเวลา 20.00 น.

ทั้งนี้กิจกรรมในพรุ่งนี้ (เสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน) มีกิจกรรมที่น่าสนใจได้แก่ ทิศทางการเกษตรไทยในปี 2560 โดย นายประเวศ แสงเพชร อดีตข้าราชการกรมวิชาการเกษตร และ นายทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ เจ้าของ “สวนคุณลี” จังหวัดพิจิตร และ งานเสวนา “ชีววิถี” สานพระราชปณิธานเกษตรอินทรีย์สู่ชุมชน โดยการไฟฟ้าผลิตแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อาทิ นิทรรศการ “พระบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย” โดย กรมการข้าว,นิทรรศการ “พันธุ์ข้าวมงคล” จัดแสดง 9 พันธุ์ข้าวทรงปลูกที่พระราชทานในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และกิจกรรมชิมข้าว 40 สายพันธุ์ เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image