ร่อนตามลม…อยากรู้มั้ย “ไอซ์แลนด์” ทำอย่างไร จึงได้วัยรุ่นที่มีคุณภาพ

 

 

 

Advertisement

 

 

 

Advertisement

ปัจจุบันนี้ ไอซ์แลนด์มีปัญหาเด็กดื่มเหล้า สูบบุหรี่ สูบกัญชาลดลงมาก อันเป็นผลพวงจากความพยายามของรัฐบาลที่ใช้ทั้ง “เคอร์ฟิว” กีฬาและส่งเสริมให้ครอบครัวมีกิจกรรมร่วมกันมากขึ้นเป็นอาวุธเด็ด

คริสทาน โจแฮนเนสสัน เด็กชายวัย 15 ปีเล่าว่า เขาไม่เคยดื่มเหล้าเลยสักหยด ไม่เคยสูบบุหรี่เลยสักมวน และขณะที่เด็กวัยรุ่นมากมายขังตัวเองอยู่แต่ในห้อง แต่เขาชอบใช้เวลาอยู่กับครอบครัวเท่าที่จะเป็นไปได้  และตามฝาผนังห้องนอนของเขาจะเต็มไปด้วยรูปถ่ายกิจกรรมยามว่างของเขาที่ชอบไปตกปลาและเล่นฟุตบอล

ไลฟ์สไตล์ของคริสทาน ได้สะท้อนให้เห็นถึง ความสำเร็จของไอซ์แลนด์ที่ลดปัญหาเรื่องเหล้า บุหรี่ในเด็กวัยรุ่นที่เคยเป็นปัญหามากเมื่อ 20 ปีที่แล้วผ่านมาตรการหลายอย่างที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการประกาศใช้เคอร์ฟิวกับกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่ห้ามเด็กอายุระหว่าง 13-16 ปีออกนอกบ้านหลัง 4 ทุ่มหากไม่มีผู้ปกครองไปด้วย และส่งเสริมการเล่นกีฬา, รวมทั้งห้ามขายเหล้า บุหรี่ให้แก่เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี จากแต่เดิมที่กำหนดไว้ที่ 18 ปี

ผลลัพธ์ที่ได้เห็นในวันนี้ นับว่าน่าทึ่งมากสำหรับประเทศที่เมื่อ 20 ปีที่แล้วเคยกังวลกับปัญหาเด็กวัยรุ่นดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และปัญหาเหล่านี้ดูน่าวิตกมากในปี 2540 ที่จากการสำรวจในปีนั้นพบว่า เกือบครึ่งของเด็กวัยรุ่นอายุ 15-16 ปีบอกว่า พวกเขาเคยดื่มเหล้าเมื่อเดือนก่อน และวัยรุ่น 1 ใน 4 บอกว่าสูบบุหรี่ และวัยรุ่น 17% บอกว่าสูบกัญชา

“ในตอนนั้น ไม่ว่าใครก็ตามที่เดินอยู่ตามท้องถนนในกรุงเรคยาวิกตอนกลางคืนวันศุกร์ หรือวันเสาร์ต่างหวาดกลัวกันทั้งนั้น เพราะเจอแต่วัยรุ่นที่เดินมาด้วยอาการมึนเมา และส่งเสียงดัง โวยวายและ แสดงท่าทีหยาบคาย มันดูเสี่ยงอันตราย ดังนั้นเรื่องนี้จึงกลายเป็นปัญหาที่สังคมโดยรวมต่างรู้สึกกังวล ไม่ใช่เฉพาะแต่พ่อแม่เด็ก” มิลค์มาน อาจารย์วิทยาลัยเดนเวอร์เล่า

เฮลกิ กันลาฟสัน อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยไอซ์แลนด์ กล่าวว่า ตัวเลขที่ได้จากการสำรวจดังกล่าวทำให้หลายคนรู้สึกช็อค และ “กลายเป็นเหมือนนาฬิกาที่ปลุกเราให้ตื่น ”

และนั่นก็เป็นที่มาที่ทำให้รัฐบาลไอซ์แลนด์ เริ่มทำโครงการ “ยูธ อิน ไอซ์แลนด์ (Youth in Iceland)” ขึ้นเมื่อปี 2540 ภายใต้การควบคุมดูแลของ จอน ซิกฟูสัน หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์ วิจัยสังคมแห่งไอซ์แลนด์ ซึ่งใช้แบบสอบถาม ในการเก็บข้อมูลเพื่อให้ทราบภาพรวมที่น่าเชื่อถือของกลุ่มวัยรุ่น ในการตอบแบบสอบถาม ผู้ร่วมตอบแบบสอบถาม ไม่ต้องเปิดเผยชื่อ แต่ต้องเปิดเผยอายุ และต้องตอบคำถามอย่างเช่น เคยดื่มเหล้าครั้งสุดท้ายเมื่อไร, เคยดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่หรือไม่? และเคยบ่อยแค่ไหน? และการใช้เวลาอยู่กับพ่อแม่ด้วย

ด้วยเวลา 2-3 ปี เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่ด้านสังคมสงเคราะห์ก็รู้แล้วว่า จะต้องสร้างมาตรการใดๆขึ้นบ้างเพื่อแก้ปัญหานี้ ซึ่งเป็นที่มาของ “เคอร์ฟิว” ที่ห้ามเด็กอายุ 13-16 ปีออกนอกบ้านหลัง 4 ทุ่มหากไม่มีผู้ปกครองไปด้วย ซึ่งยังขยายเวลาออกไปเป็นเที่ยงคืน ในช่วงฤดูร้อนของไอซ์แลนด์ที่มีช่วงเวลากลางวันยาวนานขึ้น  และกลางคืนยังสว่าง

 

 

ขณะที่ทางด้านนักกฎหมาย ก็เสนอให้มีการแก้กฎหมาย ห้ามขายเหล้า บุหรี่ให้แก่เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 จากแต่เดิม กำหนดไว้ที่ 18 ปี และห้ามมีการโชว์บุหรี่ไว้ในร้าน นอกจากนั้นรัฐบาลยังส่งเสริมการเล่นกีฬา และรูปแบบการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพ และสุขภาพที่ดี อย่างเช่นในกรุงเรคยาวิก ทุกครอบครัวจะได้รับเงินช่วยเหลือรายปี  35,000 โครนา (ราว 11,040 บาท)ต่อเด็ก 1 คนที่มีอายุระหว่าง 6-18 ปีเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในกิจกรรมนอกหลักสูตรต่างๆ รวมทั้งกีฬาด้วย

จอน ซิกฟูสัน เล่าว่านอกจากนั้นยังมีการส่งเสริมความใกล้ชิด ความใส่ใจกันในครอบครัว รวมทั้งกระตุ้นให้พ่อแม่ใส่ใจ ใกล้ชิดกับลูก พร้อมทั้งส่งเสริมให้โรงเรียนเข้ามามีส่วนรับรู้ในพฤติกรรมของเด็กวัยรุ่นด้วย

“เราได้ทำกิจกรรมหลายสิ่ง หลายอย่างกับลูกๆของเรามากกว่าครอบครัวต่างๆเคยทำในอดีต “แอสดิส มิเคล บอกกับเอเอฟพี โดยว่า เธอชอบโยนโบว์ลิ่งกับลูกชาย

จอนเล่าว่า หลังจากเริ่มโครงการ “ยูธ อิน ไอซ์แลนด์ “ได้ 8 ปี ก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลง ตัวเลข เปอร์เซนต์ของเด็กดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ลดฮวบลงกว่า 50 %

ขณะที่จากการสำรวจเมื่อปีที่แล้วพบว่า เปอร์เซนต์ของเด็กที่บอกว่าดื่มเหล้าเมื่อเดือนที่แล้ว ลดเหลือเพียง 5 % , เด็กที่บอกว่าสูบบุหรี่เป็นประจำลดเหลือ 3 % และมีอยู่ 7 % ที่บอกว่ายังสูบกัญชา

จากผลลัพธ์ที่น่าทึ่งนี้ ทำให้มีกว่า 30 ประเทศทั่วโลก แต่ส่วนใหญ่เป็นประเทศในยุโรป ที่ใช้ไอซ์แลนด์เป็น “ต้นแบบ”ในการแก้ปัญหาวัยรุ่นตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image