‘ลิเลียม’ แท็กซี่บินได้ สัญชาติเยอรมัน

(ภาพ-Lilium)

“ลิเลียม” เป็นทั้งชื่อของเครื่องบินเล็กและเป็นชื่อของบริษัทสตาร์ตอัพ ที่ประกอบด้วยวิศวกรการบิน 40 คนรวมตัวกันก่อตั้งขึ้นที่นครมิวนิค ประเทศเยอรมนี เมื่อปี 2015 โดยมีเป้าหมายว่าจะให้บริการ “แท็กซี่บินได้” ที่จะครองตลาดให้บริการการเดินทางที่เร็วกว่า สะดวกกว่า ด้วยเครื่องบินเล็กที่ปลอดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านแอพพลิเคชั่น ทำนองเดียวกับที่อูเบอร์, ลิฟท์, แกร็บ และเฮโล ครองตลาดแท็กซี่ภาคพื้นดินอยู่ในเวลานี้

เป้าหมายของ “ลิเลียม” เพิ่งจะผ่านอุปสรรคด่านแรกไปเมื่อเร็วๆ นี้ เมื่อ “ลิเลียม” เครื่องบินต้นแบบ 2 ที่นั่งใช้พลังงานไฟฟ้าสามารถผ่านการบินทดสอบครั้งแรกได้สำเร็จ

แดเนียล วีแกนด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของลิเลียม ระบุว่าเป้าหมายของการบินทดสอบครั้งแรกนี้มีเพียง 2 ประการเท่านั้น แรกสุดคือ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีของบริษัททำงานได้ ถัดมาก็คือ การทดสอบครั้งนี้จะช่วยให้บริษัทได้ข้อมูลเบื้องต้นสำหรับนำไปใช้ในการพัฒนาเครื่องบินรุ่นต่อๆ ไป จนถึงรุ่นที่สามารถนำออกให้บริการได้ในที่สุด

Advertisement

เครื่องบินต้นแบบของลิเลียมเป็นเครื่องบิน 2 ที่นั่ง ใช้เครื่องยนต์ไฟฟ้า ทำงานด้วยเทคโนโลยี วีทีโอแอล (เวอร์ติคอล เทกออฟ แอนด์ แลนดิ้ง) ซึ่งทำให้มันสามารถบินขึ้นและลงจอดได้ในแนวดิ่งทำนองเดียวกับเฮลิคอปเตอร์ เมื่อตอนจะขึ้นบิน แผงบังคับหรือแฟลปบริเวณปีกของลิเลียมจะกระดกมาอยู่ในแนวตั้งตรง เพื่อก่อให้เกิดแรงขับในแนวดิ่งสำหรับยกตัวเครื่องให้ลอยขึ้นเหนือพื้นดิน เมื่อขึ้นไปอยู่ในระดับที่ต้องการ เครื่องยนต์เจ๊ตจะทำงานเพื่อผลักเครื่องบินไปข้างหน้า แบบเดียวกับเครื่องบินเจ๊ตทั่วไป เครื่องยนต์ของลิเลียมมีทั้งหมด 36 ตัวแยกเป็นอิสระออกจากกันเพื่อความปลอดภัย โดยเมื่อเครื่องยนต์ตัวใดตัวหนึ่งเกิดล้มเหลวก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อเครื่องยนต์ที่อยู่ถัดออกไป นอกจากนั้น ตัวเครื่องบินทั้งลำก็มีชูชีพสำหรับการลงฉุกเฉินอีกด้วย

“ลิเลียม” บินได้โดยอัตโนมัติ (ถ้าหากผ่านความเห็นชอบตามกฎหมาย) แต่ในการทดสอบการบิน ตัวนักบินที่บังคับเครื่องบินอยู่บนพื้นดินคอยบังคับแบบเดียวกับการบังคับโดรนทั่วๆ ไป วีแกนด์ยอมรับว่าในการทดสอบการบินแบบมีผู้โดยสารอยู่ด้วยนั้น คงซับซ้อนมากกว่านี้และทำให้จำเป็นต้องมีข้อมูลทางเทคนิคการบินมากพอก่อนที่จะก้าวถึงขั้นตอนนั้น อย่างไรก็ตาม ในทางทฤษฎีแล้ว ลิเลียมสามารถขึ้นบินได้แต่ละครั้งเป็นระยะทางถึง 300 กิโลเมตร สามารถทำความเร็วบนอากาศได้ 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

วีแกนด์ระบุว่า ลิเลียมเป็นเครื่องบินไฟฟ้าเครื่องแรกที่สามารถบินได้ในแบบวีทีโอแอล และด้วยพลังเจ๊ต เมื่อใช้เครื่องยนต์เจ๊ตนั้นวีแกนด์เปรียบเปรยว่าลิเลียมก็เหมือนรถซุปเปอร์คาร์ แต่เครื่องยนต์เจ๊ตกินพลังงานเต็มที่เพียงแค่ 15-20 วินาทีเท่านั้น เมื่ออยู่ในไฟลต์โหมดเครื่องยนต์จะใช้พลังงานเพียงแค่ 1 ใน 10 ทำให้การบริโภคพลังงานลดลงมาเทียบเท่ากับการกินพลังงานของรถยนต์ไฟฟ้าทั่วไป ทั้งนี้ วีแกนด์ ตั้งเป้าว่า เมื่อผ่านการทดสอบและพัฒนาถึงรุ่นสุดท้ายที่พร้อมให้บริการนั้น ลิเลียมจะเป็นเครื่องบินแท็กซี่ขนาด 5 ที่นั่ง บรรทุกผู้โดยสารได้พอๆ กับแท็กซี่ทั่วไปนั่นเอง

Advertisement

แฟรงก์ เธเลน หนึ่งในนักลงทุนหลักของโครงการกับวีแกนด์ยืนยันเหมือนกันว่า “ลิเลียม” ไม่ได้มุ่งเป้าเป็นพาหนะโดยสารของเศรษฐี มหาเศรษฐีทั้งหลาย แต่ต้องการจะให้ทุกคนสามารถเข้าถึงนวัตกรรมนี้ได้เหมือนๆ กัน

และกลายเป็นพื้นฐานของระบบการขนส่งแบบใหม่ ที่ทุกคนสามารถเรียกใช้บริการได้ผ่านแอพพลิเคชั่นนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image